Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

รายงานเพิ่มพูนความยั่งยืน


เมื่อพูดถึงกรอบการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน หรือ (Sustainability Report) ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางนั้น หนีไม่พ้นที่จะต้องกล่าวถึงองค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (Global Reporting Initiative: GRI) องค์กรอิสระ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มจัดทำและประกาศกรอบการรายงานสากลฉบับ G1 เป็นฉบับแรก ในปี พ.ศ.2543 พัฒนาเรื่อยมาจนเป็นฉบับ G4 ในปี พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้อ้างอิงอยู่ในปัจจุบัน และได้กลายเป็นมาตรฐานตามความนิยม (de facto standard) สำหรับการรายงานแห่งความยั่งยืน ที่ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก

รายงานแห่งความยั่งยืน เป็นรายงานที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลยุทธ์การดำเนินงาน การกำกับดูแล แนวการบริหารจัดการ และผลการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่สะท้อนทั้งในทางบวกและทางลบ โดยมุ่งเป้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน มีองค์กรทั่วโลกที่จัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบของ GRI แล้วมากกว่า 5,000 แห่ง ใน 90 กว่าประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาคต่างๆ

หัวใจหลักของกรอบการรายงานสากลของ GRI ฉบับ G4 คือ การสร้างให้เกิดกระบวนการรายงาน (Reporting Process) ขึ้นในองค์กร มิใช่มุ่งหวังเพียงเพื่อให้องค์กรได้มาซึ่งเล่มรายงาน (Report) เป็นเรื่องหลัก รวมทั้งการตอกย้ำเรื่องสารัตถภาพ (Materiality) ที่ให้องค์กรดำเนินงานและเปิดเผยข้อมูลเฉพาะในเรื่องที่สำคัญ (What matters) และตรงส่วนงานที่เรื่องนั้นมีความสำคัญ (Where it matters) ตลอดจนสามารถใช้กระบวนการรายงานดังกล่าวในการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การสหประชาชาติ โดยชาติสมาชิก 193 ประเทศ ได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) จำนวน 17 ข้อ ที่ได้จัดทำขึ้น ต่อจากเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals - MDGs) จำนวน 8 ข้อ ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2558 ทั้งนี้ เพื่อใช้สานต่อภารกิจที่ยังไม่บรรลุผลสำเร็จภายใต้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ และเพื่อใช้เป็นเป้าหมายสำหรับการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกมิได้

องค์กรทั้งในภาคธุรกิจและภาคสังคม ที่ได้มีการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามกรอบ GRI อยู่แล้ว สามารถประมวลและเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กร ให้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับสู่รายงานเพิ่มพูนความยั่งยืน (Enhanced Sustainability Report) สำหรับสื่อสารกับผู้มีส่วนได้เสียและสังคมในวงกว้าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงคำมั่นและการดำเนินงาน ในอันที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม

ตัวบ่งชี้การดำเนินงานของ GRI ที่ถูกจำแนกในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สามารถจัดจำพวกให้อยู่ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นรายเป้าประสงค์ (Goals) ทั้ง 17 ข้อ โดยมีเป้าหมาย (Targets) รองรับตามธีมธุรกิจ (Business Theme) ที่เกี่ยวเนื่อง

ตัวอย่างของ SDG ข้อที่ 1 เรื่องการขจัดความยากจน จะสอดรับกับธีมธุรกิจด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ยากไร้ และด้านการเข้าถึงผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีตัวชี้วัด G4-EC8 ผลกระทบทางอ้อมเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงการขยายผลกระทบ เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินงานขององค์กร ที่ให้ผลสนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อดังกล่าว

ตัวอย่างของ SDG ข้อที่ 2 เรื่องการขจัดความหิวโหย บรรลุเป้าความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการที่ดีขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน จะสอดรับกับธีมธุรกิจด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีตัวชี้วัด G4-EC7 การพัฒนาและผลกระทบจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสนับสนุน เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินงานขององค์กร ที่ให้ผลสนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อดังกล่าว

ตัวอย่างของ SDG ข้อที่ 3 เรื่องการมีสุขภาวะในการดำรงชีวิต และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในทุกช่วงอายุ จะสอดรับกับธีมธุรกิจด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ซึ่งมีตัวชี้วัด G4-LA6 ชนิดและอัตราของการบาดเจ็บ โรคจากการทำงาน จำนวนวันสูญเสียและการขาดงาน และจำนวนผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติงาน จำแนกตามภูมิภาค และเพศ รวมถึงตัวชี้วัด G4-LA7 แรงงานที่มีโอกาสหรือความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคที่เกี่ยวเนื่องจากการทำงาน เป็นตัวบ่งชี้การดำเนินงานขององค์กร ที่ให้ผลสนับสนุนต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในข้อดังกล่าว

จะเห็นได้ว่า ภาคธุรกิจสามารถเริ่มต้นตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทันที ด้วยสิ่งที่องค์กรตนเองได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยการประมวลและเพิ่มเติมการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานขององค์กร ให้มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หลังจากนั้น องค์กรธุรกิจจึงค่อยพิจารณาเพิ่มเติมการดำเนินงานให้มีความสอดคล้องหรือตอบสนองต่อ SDG ในข้อที่มีการดำเนินการบ้างแล้ว แต่ยังทำไม่ได้เต็มที่ และในข้อที่ยังมิได้มีการดำเนินการ

ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า องค์กรธุรกิจทุกแห่ง จะต้องดำเนินการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครบทั้ง 17 ข้อ แต่กิจการต้องสามารถเลือกเรื่องที่มีความเกี่ยวเนื่องต่อการสร้างคุณค่า เป็นเรื่องซึ่งมีนัยสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่ถูกให้ลำดับความสำคัญโดยองค์กรและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง


[Original Link]