ถามหาความรับผิดชอบ CSR ยุคทุนนิยม (ดิบ)
กรณีศึกษา "แกรมมี่" เข้ามาซื้อหุ้น "มติชน" และ "โพสต์" ไม่เพียงแต่ปลุกให้สังคมตื่นจากภวังค์ในเรื่องสิทธิเสรีภาพของสื่อ สิทธิเสรี ภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ได้สร้างพลังร่วมในทุกภาคส่วนของสังคม ถามหาความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจอีกด้วย
CSR (corporate social responsibility) หรือความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท แม้จะมีการพูดถึงกันในประเทศไทยมานับ 10 ปี แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีใครสนใจว่า CSR ที่บริษัทต่างๆ พยายามประชันขันแข่งกันทำอยู่นั้นเป็น CSR เทียมหรือแท้กันแน่ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในวงการสื่อสารมวลชน หลายฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องทบทวน เพราะสังคมส่วนหนึ่งยังสับสนระหว่างการทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายกับการทำธุรกิจด้วยคุณธรรมเป็นอย่างไร
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาบนเวทีราชดำเนิน เสวนาของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ได้หยิบยกเรื่อง "การดำเนินธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม" มาพูดคุยเพื่อสื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักรู้ถึงธาตุแท้ของบริษัทจำกัด และบริษัทมหาชนหลายแห่งที่มักนิยมสร้างภาพว่าเป็นนักบุญ ทั้งๆ ที่นโยบายหลักยังยึดปรัชญาธุรกิจเรื่องกำไรสูงสุดอยู่
"พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" หัวหน้าโครงการวิจัย "การพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ ระยะที่ 1" สำนักงานสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า หากจะถามว่าวันนี้ CSR ในประเทศไทยเป็นอย่างไร แท้หรือเทียมมากกว่ากัน ครั้นจะบอกว่าเทียมมากกว่าสังคมก็จะหมดกำลังใจ จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสธุรกิจในหลายๆ บริษัทต้องบอกว่าอยู่ในสัดส่วนเท่าๆ กัน
"องค์กรหลายแห่งในปัจจุบันได้นำเรื่อง CSR มาเป็นประเด็นสื่อสารทางการตลาด บางองค์กรขยายผลเพื่อใช้ซีเอสอาร์เป็นรูปแบบในการกีดกันการแข่งขันการค้า จนทำให้ CSR กลายเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่สนองประโยชน์ต่อองค์กร แทนที่จะเป็นกิจกรรมที่สนองประโยชน์ต่อสังคม ในวงจรธุรกิจวันนี้จึงมีทั้ง CSR เทียม และ CSR แท้ ซึ่งวิธีการที่จะจำแนกว่ากิจกรรมใดเป็นของแท้หรือของเทียม ให้ดูจากประโยชน์ของกิจกรรมที่ได้รับว่าตกอยู่กับสังคมหรือองค์กรมากกว่ากัน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในสังคมทั้งระดับใกล้และไกล ควรจะสนับสนุนกิจกรรมนั้นหรือไม่เพียงใด"
"หัวหน้าโครงการวิจัย การพัฒนา CSR" กล่าวว่า รูปแบบของ CSR แท้ ที่จะนำไปสู่การอยู่ ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสงบสุขนั้นจะต้องสามารถเชื่อมร้อยกิจกรรมทางธุรกิจให้มีส่วนผสมของความรับผิดชอบทางสังคมได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ทุนนิยมคงไม่ใช่คำตอบของความสงบสุขของสังคม
จากการศึกษาเรื่อง CSR มาระยะหนึ่ง เห็นได้ชัดว่าจริงๆ แล้ว CSR ไม่ได้เกิดขึ้นจากกระแสผลักดันในเชิงลบเพียงอย่างเดียว แต่บางองค์กรก็เกิดขึ้นจากแรงผลักดันในเชิงบวก ดังจะเห็นจากองค์กรธุรกิจหลายแห่งที่ก่อกำเนิดขึ้นมาโดยมุ่งหวังทำงานด้านอุดมคติเพียงอย่างเดียว มีความพยายามในการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ขององค์กร ในขณะที่หลายองค์กรนำเรื่อง CSR มาเป็นประเด็นสื่อสารทางการตลาด และยิ่งกว่านั้นบางองค์กรนำเรื่อง CSR มาเป็นประเด็นกีดกันทางการค้า เช่น บริษัทหนึ่งบอกว่าหากบริษัทอีกแห่งหนึ่งไม่ทำเรื่อง CSR จะไม่ทำธุรกิจร่วมด้วย เป็นต้น
กฎหมายจะต้องมี 2 มุมมอง คือ ต้องปกป้องคนดีและบังคับใช้กับคนที่ละเมิดกฎหมาย การที่สื่อสารมวลชนเปลี่ยนสถานะของบริษัทเป็นมหาชนจะปกป้องอย่างไรให้พ้นจากการถูกครอบ งำกิจการของนายทุนอื่น เรื่องนี้มีบริบทในการปฏิบัติอยู่ คือ อาจจะต้องแยกการทำงานระหว่างผู้ถือหุ้นกับกองบรรณาธิการ แต่ตรงนี้จะทำให้สูญเสียความน่าสนใจในการลงทุนหรือไม่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพิจารณา
เท่าที่ฟังเสียงจากหลายฝ่ายเกี่ยวกับกรณี มติชน มีอาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเสนอให้ตั้งกองทุน หากลองมามองในมุมของ CSR เรื่องนี้อาจจะไม่ต้องไปถึงขั้นการแก้ไขกฎหมายก็ได้
ทั้งมติชนและบางกอกโพสต์สามารถนำเอาทรัพยากรของสังคมมาใช้ประโยชน์ได้ เพราะผลลัพธ์จากการที่แกรมมี่เข้ามาซื้อหุ้นมติชน คือไม่สามารถเข้ามาครอบงำกิจการได้ ตรงนั้นเป็น การพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสังคมไม่สนับสนุนระบอบทุนนิยมที่จะทำให้สื่อขาดความเป็นกลาง นั่นหมายความว่า ประชาชนศรัทธาในการนำเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ทั้งมติชนและบางกอกโพสต์
สังคมจึงออกมาช่วยเบรกพฤติกรรมของกลุ่มนายทุนโดยไม่ต้องอาศัยกฎหมายหรือข้อบังคับอื่นๆ แสดงให้เห็นว่าถึง CSR ในการดำเนินธุรกิจของมติชนในช่วงที่ผ่านมา
ด้าน "ไชยวัฒน์ บุนนาค" กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษากฎหมายสากล นักวิจัยโครงการ การศึกษาเพื่อปฏิรูปกฎหมายเศรษฐกิจของประเทศ สกว. ตั้งคำถามว่า องค์กรธุรกิจในปัจจุบันควรมีความรับผิดชอบต่อสังคมแค่ไหน เพียงใด
บางครั้งการปฏิบัติตามกฎหมายก็ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง ต้องดูปรัชญาด้านอื่นประกอบไปด้วย โดยเฉพาะกระแสสังคม ในช่วงที่ผ่านมามวลชนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แม้กระทั่งเรื่องของกฎหมาย หลายครั้งก็เกิดจากกระแสสังคม รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายในหลายครั้งขึ้นอยู่กับกระแสของสังคมด้วยเช่นกัน
กรณีทุนฮุบสื่อ หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะเห็นว่าเป็นรูปแบบของธุรกิจ เมื่อมีการนำหุ้นไปวางขายในตลาด ฉะนั้นใครก็ซื้อได้ และตราบใดเมื่อฝ่ายซื้อปฏิบัติตามกติกา ฝ่ายที่ถูกซื้อก็จะทำอะไรไม่ได้ เพราะทุกอย่างอยู่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามว่า CSR ของจริงกับ CSR ของปลอมแตกต่างกันอย่างไร ?
[Original Link]