ซีเอสอาร์ กับ ธัมมิกสังคมนิยม
ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า เรื่องซีเอสอาร์นั้น แม้จะเป็นคำใหม่ แต่โดยเนื้อหานั้น มีมานับตั้งแต่มนุษย์เริ่มรวมกลุ่มอยู่กันเป็นสังคม เป็นหลักปฏิบัติตามธรรมชาติ เพื่อให้ผู้คนในสังคมอยู่รวมกันได้อย่างเป็นปกติสุข แม้กระทั่งหลักคำสอนทางศาสนาที่ประมวลกันเป็นธรรมวินัย ก็มิใช่การคิดค้นขึ้นมาใหม่ เป็นแต่เพียงการบัญญัติถึงวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมที่สอดคล้องกับความเป็นไปตามธรรมชาติ
เมื่อไรก็ตามที่การดำเนินกิจกรรมในสังคมเริ่มเบี่ยงเบนหรือผิดแผกไปจากธรรมชาติ ไม่เป็นไปอย่างปกติ สังคมนั้นก็จะเดือดร้อนวุ่นวาย จนกระทั่งเกิดเป็นปัญหาของการเบียดเบียนซึ่งกันและกันไม่รู้จบสิ้น
ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้กล่าวไว้ในหนังสือชื่อ ธัมมิกสังคมนิยม ว่า คำว่า "ธมฺมิก" แปลว่า ประกอบอยู่ดัวยธรรม "สังคม" คือ คนหมู่มาก "นิยม" คือ เพ่งเล็งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง "ธัมมิกสังคมนิยม" จึงเป็นการเพ่งเล็งเรื่องที่เกี่ยวกับคนหมู่มากที่ประกอบอยู่ดัวยธรรม เป็นธรรมชาติเดิมที่มีการจัดสรรให้ถือเอาสัดส่วนกันแต่พอดี อาศัยใช้ร่วมกันอยู่ได้ ไม่มีการกอบโกยอย่างเสรี เสรีภาพในการกอบโกยส่วนเกินถูกควบคุมไว้โดยธรรมชาติอย่างเฉียบขาด เป็นสังคมนิยมโดยอัตโนมัติของธรรมชาติ เป็นความถูกต้องที่จุนเจือให้มนุษย์อยู่รอดมาได้ทุกวันนี้
ปัญหาเกิดเมื่อมนุษย์เริ่มรู้จัก "เอาส่วนเกิน" เริ่มเก็บสะสม กักตุนเอาไว้มากขึ้นๆ จนเกิดการไม่พอ มีการแย่งกันสะสมส่วนเกินจนต้องมีหัวหน้าที่จะแสวงหากอบโกยส่วนเกิน ต้องทะเลาะเบาะแว้ง รบพุ่งกัน
ธรรมชาติได้มีกฎวางไว้ให้ทุกคนเอาแต่เท่าที่จำเป็น แต่เมื่อมนุษย์ไม่เชื่อฟังธรรมชาติ แข่งกันกอบโกยส่วนเกิน จิตใจขยายไปในทางที่ต้องการส่วนเกินนั้น จนเป็นการริบเอาประโยชน์ของสังคมมาเป็นของตน ปัญหาก็เกิดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ หากมนุษย์เอาแต่เพียงพอดี ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่เกิด การเบียดเบียนก็จะไม่เกิด การเอาเปรียบกันก็จะไม่มี
มีปัญหาต่อว่า แค่ไหนจึงเรียกว่า พอดี แค่ไหนจึงไม่เรียกว่า ส่วนเกิน คำว่า ส่วนเกิน นี้ยืดหยุ่นได้มาก ที่เราเข้าใจว่าไม่เป็นส่วนเกินนั้น ก็ยังเป็นส่วนเกินได้ เช่น เราจะเจียดประโยชน์ขององค์กรที่มีกำไรทุกๆ ปีออกไปสัก 5% ก็ยังอยู่ได้และไม่ทำให้ธุรกิจถึงกับต้องล้มละลาย ดังนั้น การรู้จักเจียดออกให้เป็นส่วนเกิน จากสิ่งที่เราไม่เห็นว่าเป็นส่วนเกิน นั่นคือ ศีลธรรมที่ช่วยธำรงสังคม
สี-ละ ตามความหมายเดิมแปลว่า ปกติ ถ้าสิ่งใดเป็นไปเพื่อความปกติ ไม่วุ่นวาย ก็เรียกว่า สี-ละ และธรรมที่ทำให้มีความเป็นอย่างนั้น จึงเรียกว่า ศีลธรรม คำว่าปกติตามความหมายของศีลธรรม หมายความว่า ไม่กระทบกระทั่งใครหรือไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน และไม่กระทบกระทั่งตัวเองหรือไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน
องค์กรธุรกิจในสังคม จึงควรยึดหลักปฏิบัติตามธรรมชาติ คือ พยายามอย่ากอบโกยส่วนเกิน พยายามเจียดส่วนเกินออกไปเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นให้ได้ และอย่าเข้าใจผิดว่าธรรมชาติห้ามธุรกิจผลิตส่วนเกิน ทุกคนมีสิทธิและสมควรอย่างยิ่งที่จะผลิตส่วนเกินขึ้นมา แต่ว่าส่วนเกินนั้น ควรจะเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่สังคม และควรระมัดระวังอย่างยิ่งว่า ที่เราเข้าใจว่าไม่เกินๆ นี้ ก็ยังเกิน ยังเจียดได้
องค์กรธุรกิจที่มั่งคั่ง นักธุรกิจที่ร่ำรวย ซึ่งเรียกว่า เศรษฐี ในความหมายของทุนนิยมเสรี คือ การกอบโกยส่วนเกินเข้ามาเรื่อยๆ สะสมทุนไว้ แล้วใช้ทุนต่อกำไรเรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่ เศรษฐีดั้งเดิม ในความหมายของธัมมิกสังคมนิยม วัดกันด้วยโรงทาน โรงมีไว้สำหรับให้ทานแก่คนอนาถา ถ้ายิ่งมีโรงทานมากก็ยิ่งเป็นมหาเศรษฐี ดังนั้น เศรษฐีจึงผลิตส่วนเกินได้ แต่เอามาตั้งโรงทานเพื่อการสังคมสงเคราะห์
คำว่าสังคมนิยมตามทัศนะของท่านพุทธทาสฯ จึงเป็นเรื่องตรงกันข้ามกับเสรีนิยมที่เล็งถึงบุคคล ปัจเจกชน ต่างคนต่างมีเสรี สังคมนิยมจะเล็งถึงประโยชน์ของสังคม คำนึงถึงปัญหาของสังคม แล้วก็ทำสิ่งต่างๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาของสังคม ในขณะที่เสรีนิยมทำไม่ได้ เนื่องด้วยความเห็นแก่ตัว มีช่องโหว่ตรงที่เปิดโอกาสให้ตามใจกิเลส ชักจูงไปสู่การกอบโกย การเบียดเบียนผู้อื่น ศีลธรรมหายไป ปัญหาเกิดขึ้นแก่สังคม แล้วในที่สุดก็ย้อนกลับมาเบียดเบียนตนเอง จนกลายเป็นปัญหาของตัวเองด้วย
ซีเอสอาร์ จึงเป็นวิถีปฏิบัติทางธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติตามธรรมชาติ เป็นเรื่องของการบริหาร "ส่วนเกิน" ซึ่งเป็นผลิตผลจากการดำเนินธุรกิจ และการจัดการ "ผลกระทบ" ที่เกิดจากกระบวนการและของเสียจากการดำเนินงาน ตามศีลธรรม เพื่อมิให้ทั้งตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน ดำรงอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างเป็นปกติสุข ไม่แตกต่างจากวิถีของธัมมิกสังคมนิยม
(ปรับปรุง: สิงหาคม 2554)
[Original Link]