ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ
ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Global Compact ถูกริเริ่มขึ้นในปี 1999 เพื่อเชิญชวนให้เหล่าบรรดานิติพลเมืองทั้งหลายเข้าร่วมทำข้อตกลงภายใต้หลักสากล 10 ประการ สำหรับนำไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ให้ได้ชื่อว่าเป็น นิติพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ หรือ Responsible Corporate Citizen ในสังคมโลก
หลักสากล 10 ประการดังกล่าว เกี่ยวข้องกับประเด็นหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องสิทธิมนุษยชน (Human Rights) เรื่องแรงงาน (Labour) เรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment) และเรื่องการต้านทุจริต (Anti-Corruption) โดยหลัก 10 ประการนั้น ประกอบด้วย
สิทธิมนุษยชน
หลักประการที่ 1 - | สนับสนุนและเคารพในการปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ประกาศในระดับสากล ตามขอบเขตอำนาจที่เอื้ออำนวย |
หลักประการที่ 2 - | หมั่นตรวจตราดูแลมิให้ธุรกิจของตนเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน |
แรงงาน
หลักประการที่ 3 - | ส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงานและการรับรองสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรองอย่างจริงจัง |
หลักประการที่ 4 - | ขจัดการใช้แรงงานเกณฑ์และที่เป็นการบังคับในทุกรูปแบบ |
หลักประการที่ 5 - | ยกเลิกการใช้แรงงานเด็กอย่างจริงจัง |
หลักประการที่ 6 - | ขจัดการเลือกปฏิบัติในเรื่องการจ้างงานและการประกอบอาชีพ |
สิ่งแวดล้อม
หลักประการที่ 7 - | สนับสนุนแนวทางการระแวดระวังในการดำเนินงานที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม |
หลักประการที่ 8 - | อาสาจัดทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการยกระดับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมน |
หลักประการที่ 9 - | ส่งเสริมการพัฒนาและการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม |
การต้านทุจริต
หลักประการที่ 10 - | ดำเนินงานในทางต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการกรรโชก และการให้สินบนในทุกรูปแบบ |
นับตั้งแต่ที่มีการประกาศข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 ได้มีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมแล้วกว่า 16,443 แห่ง โดยในจำนวนนี้มีบริษัท 5,376 ราย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 7,283 ราย จากกว่า 160 ประเทศทั่วโลก
สำหรับในประเทศไทย มีกิจการจำนวน 64 แห่ง ได้เข้าร่วมในข้อตกลงดังกล่าว (ข้อมูล ณ 16 มกราคม 2564)
ทั้งนี้ การเข้าร่วมในข้อตกลงจะเป็นไปโดยสมัครใจ และไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายแต่อย่างใด
(ปรับปรุง: มกราคม 2564)