Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

โมเดล "CSR in process"


เปิดโมเดลธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม “CSR in process”
เน้นใช้กระบวนการภายในธุรกิจดูแลสังคม เสมือนลูกค้าองค์กร


สกว. เปิดโมเดล “CSR in process” การทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เผยการทำ CSR ล้วนทำให้ธุรกิจได้ประโยชน์มากขึ้นทั้งจากรายได้ ส่วนแบ่งทางการตลาด และแบรนด์สินค้า ที่สำคัญคือช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

กระแสของธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ได้เข้ามีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและท่าทีขององค์กรธุรกิจในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม แนวโน้มใหม่ของโลกได้หันมาให้ความสำคัญต่อการสร้างเสริมและสนับสนุนทุนเชิงคุณธรรมบวกกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น โดยยกระดับจากการประกอบธุรกิจเพื่อเหตุผลทางเศรษฐกิจ ซึ่งหมายถึงกำไรและความอยู่รอดเท่านั้น มาเป็นการประกอบธุรกิจร่วมกิจกรรมทางสังคมเพื่อวัตถุประสงค์ของสังคม เป็นความรับผิดชอบของธุรกิจที่จะมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า การประกอบธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจนั้นๆให้คุณค่าต่อจริยธรรม เคารพในความเป็นมนุษย์ ชุมชน และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ซึ่งในส่วนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้สนับสนุนงานด้านการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ให้แก่องค์กรที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสังคม โดยหวังว่าการทำธุรกิจไม่เพียงทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องสนองประโยชน์สังคมด้วย การมีซีเอสอาร์อยู่ในกระบวนการทางธุรกิจจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข ที่ผ่านมาองค์กรธุรกิจหลายแห่งเข้าใจว่า ซีเอสอาร์ เป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องจ่ายเพิ่ม แต่ในความเป็นจริง การออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ที่มีประสิทธิภาพ กลับทำให้องค์กรธุรกิจได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน

“ปัจจุบัน เม็ดเงินลงทุนในธุรกิจที่มีซีเอสอาร์ ซึ่งเรียกกันเฉพาะว่า SRI (Social Responsibility Investing) นั้น มีมูลค่าเกิน 2 ล้านล้านเหรียญ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้องค์กรธุรกิจที่มีซีเอสอาร์ได้รับโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพิ่มมากขึ้น”

ด้านนายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวิจัยเพื่อออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ประโยชน์ของซีเอสอาร์ที่มีต่อองค์กรธุรกิจนั้นมีหลายอย่างทั้ง การสร้างรายได้และส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น จากการที่ลูกค้าพิจารณาเลือกซื้อสินค้าและบริการจากองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การส่งเสริมการขายด้วยการบริจาครายได้ส่วนหนึ่งต่อทุกๆ การซื้อผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้ง ให้แก่หน่วยงานหรือมูลนิธิที่ช่วยเหลือสังคมในด้านต่างๆ หรือการได้รับประโยชน์จากการวางตำแหน่งตราผลิตภัณฑ์ (Brand Positioning) ให้อยู่ในใจของลูกค้าเป็นอันดับต้นๆ ในประเภทสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ร่วมกับการทำตลาดผลิตภัณฑ์ เช่น ร้านกาแฟที่รับซื้อเมล็ดกาแฟในท้องถิ่นหรือจากไร่กาแฟที่ใช้เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

นอกจากนี้ องค์กรยังสามารถที่จะลดรายจ่ายของกิจการจากการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ เช่น การที่โรงไฟฟ้ารณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงานเพื่อที่จะได้ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าหรือหาแหล่งพลังงานทดแทนแห่งใหม่ หรือ การลดงบประมาณใช้จ่ายด้านโฆษณาในการเปิดตัวสินค้าแปรรูปของบริษัทแห่งหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลผลิตที่ล้นตลาด โดยได้รับการสนับสนุนด้านประชาสัมพันธ์จากหลายภาคส่วนในสังคม เปรียบเทียบกับงบโฆษณาสินค้าที่ไม่มีส่วนผสมของซีเอสอาร์ของบริษัทแห่งเดียวกัน

“ในแง่ของพนักงานองค์กร ก็เกิดความภาคภูมิใจในการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีซีเอสอาร์ นอกเหนือจากผลตอบแทนในรูปตัวเงิน ทำให้องค์กรสามารถที่จะรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ ขณะเดียวกันก็สามารถชักชวนบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการ ให้เข้ามาทำงานกับองค์กรได้”

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กรนั้นสามารถเกิดขึ้นจาก 2 ทาง คือ จากจิตสำนึกภายในที่ต้องการดูแลรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความสมัครใจและยินดีทำด้วยตนเองโดยไม่มีใครบังคับ (Inside-out) ขณะที่อีกทางหนึ่ง เกิดจากแรงกดดันจากภายนอก ที่จำเป็นต้องทำ หรือเป็นไปโดยภาระหน้าที่ หรือกระแสเรียกร้องจากสังคม (Outside-in) ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันองค์กรหลายแห่งได้นำเรื่องซีเอสอาร์มาเป็นประเด็นทางการตลาด บางองค์กรขยายผลเพื่อใช้ซีเอสอาร์เป็นรูปแบบในการกีดกันการแข่งขันการค้า จนทำให้ซีเอสอาร์กลายเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่สนองประโยชน์ต่อองค์กร แทนที่จะเป็นกิจกรรมที่สนองประโยชน์ต่อสังคม ส่งผลให้แวดวงธุรกิจทุกวันนี้มีทั้งซีเอสอาร์เทียม และซีเอสอาร์แท้

ซีเอสอาร์ที่แท้นั้น จะต้องเกิดขึ้นจากการอาสาหรือสมัครใจยินดีในการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์นั้นด้วยตัวเอง มิใช่เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามหน้าที่ ตามระเบียบข้อบังคับทางกฎหมาย ตามจารีตหรือกระแสเรียกร้องจากสังคม ทั้งนี้ การตัดสินว่ากิจกรรมใดเป็นซีเอสอาร์เทียมหรือเป็นซีเอสอาร์แท้นั้น ให้พิจารณาถึงประโยชน์ของกิจกรรมที่ได้รับว่าตกอยู่กับสังคมหรือองค์กรมากกว่ากัน และเราในฐานะผู้มีส่วนได้เสียในสังคม ควรที่จะสนับสนุนกิจกรรมนั้นหรือไม่ เพียงใด”

กิจกรรมที่ถูกจัดว่าเป็นซีเอสอาร์แท้ มีการแบ่งออกเป็นประเภทตามทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม หากใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ภายในองค์กรเป็นหลัก จะเรียกว่า Corporate-driven CSR เช่น องค์กรบริจาคเงินที่ได้จากกำไรในกิจการหรือบริจาคสินค้าและบริการของบริษัทเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ หรือนำพนักงานลงพื้นที่เพื่อเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นการเสียสละทรัพยากรด้านเวลา หรือเป็นการลงแรง นอกเหนือจากการลงเงินหรือให้เป็นสิ่งของตามปกติทั่วไป แต่หากเป็นกิจกรรมที่ใช้ทรัพยากรนอกองค์กรเป็นหลัก จะเรียกว่า Social-driven CSR เช่น การเชิญชวนให้ลูกค้าซื้อสินค้าและบริการของบริษัทในช่วงรณรงค์โดยบริจาครายได้จากการขายสินค้าส่วนหนึ่งให้แก่หน่วยงานหรือมูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ถือเป็นการระดมเงินบริจาคจากลูกค้า และมอบหมายให้ผู้อื่นที่มิใช่พนักงานในองค์กร ลงแรงช่วยเหลือในพื้นที่ เป็นต้น สำหรับกิจกรรมซีเอสอาร์ที่องค์กรเป็นผู้ดำเนินการเอง ยังสามารถจำแนกออกเป็น 2 รูปแบบ คือ ซีเอสอาร์ที่อยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ (CSR in process) กับซีเอสอาร์ซึ่งแยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจที่เกิดขึ้นภายหลัง (CSR after process)

“ธุรกิจส่วนใหญ่ คิดว่าซีเอสอาร์มีแบบเดียว โดยมองว่า ธุรกิจก็ส่วนธุรกิจ เป็นกระบวนการหนึ่ง ที่ต้องมุ่งหากำไร ดูแลตัวเองให้อยู่รอด ส่วนการให้หรือช่วยเหลือสังคม เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง แยกจากกัน ไม่เกี่ยวข้องกัน มีกำไร มีเวลาเหลือ แล้วค่อยทำ เราจึงมักเห็นภาพการทำซีเอสอาร์ ในรูปของการบริจาคเงิน บริจาคสิ่งของ หรือว่าจ้างคนอื่นไปทำไปช่วยเหลือสังคมแทน โดยเข้าใจว่านี่คือการทำซีเอสอาร์แล้ว ซีเอสอาร์แบบนี้ เรียกว่า “CSR after process” ซึ่งมีความเข้มข้น หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมน้อยกว่า “CSR in process” ที่มุ่งเน้นใช้กระบวนการภายในธุรกิจดูแลสังคม เสมือนหนึ่งเป็นลูกค้าองค์กร และใช้ได้กับทุกองค์กร โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น เอสเอ็มอีหรือร้านโชวห่วยก็ทำได้ โดยไม่จำกัดช่วงอายุของกิจการว่าต้องรอให้มีกำไรก่อนจึงค่อยทำ”

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า นี่คือมิติใหม่ของโมเดลธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กร สามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ และที่สำคัญคือ สามารถวัดผลได้ ทำให้องค์กรทราบว่า กิจกรรมซีเอสอาร์ที่พัฒนาขึ้นสามารถตอบโจทย์ขององค์กรหรือไม่ สังคมได้รับประโยชน์ตามเป้าหมายหรือไม่ และในขณะเดียวกันองค์กรได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการหรือไม่


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สกว.
โทร. 0-2619-9701
อีเมล์: pr@pr-trf.net