คมธุรกิจ : องค์กรดี กับองค์กรเก่ง
นงค์นาถ ห่านวิไล nongnat@nationgroup.com
แนวคิดทฤษฎีที่เราลอกเลียนมาจากชาติตะวันตก ส่วนใหญ่มุ่งไปที่การพัฒนาให้องค์กรธุรกิจเป็นองค์กรที่เก่ง โดยมีทฤษฎีมากหมายที่พร่ำสอนให้นักบริหารนำมาใช้ในบริษัท หรือองค์กรของตนเอง อาทิ Five Forces, SWOT Analysis และ Diamond Model เพื่อสร้างความได้เปรียบในการดำเนินธุรกิจ จนบางครั้งทำให้เกิดการแข่งขันที่ไร้จริยธรรม มุ่งเอาตัวรอดและกอบโกยกำไร จนลืมนึกถึงคนอื่นที่อยู่รอบๆ ตัว ซึ่งหมายถึงสังคมส่วนรวม
แต่ในยุคนี้ สังคม ผู้บริโภค มีความฉลาด มีความรู้ และรู้เท่าทันผู้ประกอบการธุรกิจมากขึ้น จึงเป็นที่มาของการนำแนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจมาใช้อย่างจริงจังมากขึ้น จากที่ในอดีตทำบ้าง ไม่ทำบ้างก็ไม่เป็นไร ไม่เดือดร้อน
ทว่า ยุคนี้ "ไม่ทำไม่ได้แล้ว" ทำให้แนวคิดทฤษฎี CSR หรือ Corporate Social Responsibility เริ่มร้อนแรงเป็นที่เข้าอกเข้าใจขององค์กรธุรกิจมากขึ้น ทำให้หลายๆ บริษัทเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้
คุณพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับซีเอสอาร์ในเมืองไทยมาตลอดเวลาหลายปี ให้ความหมายไว้ว่า
หมายถึง การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กร ที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ทั้งในระดับใกล้และระดับไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร หรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร ในอันที่จะทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างปกติสุข
สังคมใกล้ที่ว่านี้ ก็คือ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับองค์กรโดยตรง คือ พนักงาน ครอบครัวพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนที่องค์กรนั้นตั้งอยู่ ส่วนสังคมไกล คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรโดยอ้อม เช่น คู่แข่งประชาชนทั่วไป
สำหรับแนวคิดซีเอสอาร์ มุ่งไปที่การพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่ “ดี” และเป็นแนวคิดที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากสังคมตะวันตก แต่เป็นภูมิปัญญาที่ฝังรากลึกในสังคมตะวันออกมานานแล้ว และบางองค์กรก็ได้ดำเนินการมานานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้เรียก ซีเอสอาร์ และไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์เป็นเรื่องเป็นราว ศัพท์ CSR จึงเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ในวันนี้ วันที่สังคมบ้านเรากำลังแยกแยะคนดีกับคนเลวไม่ค่อยออก ด้วยว่า คนเลวอาจถูกมองเป็นคนดีก็ได้ ถ้าคนคนนั้นนำหลักมาร์เก็ตติ้ง หลักการตลาด หลักการสร้างภาพลักษณ์มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ก็จะชุบตัวให้เห็นเป็นคนดีขึ้นมาได้
สำหรับองค์กรแล้ว หากนำแนวคิดซีเอสอาร์มาประยุกต์ใช้อย่างจริงๆ จังๆ โดยควบคู่ไปกับแนวคิดอื่นที่กล่าวมา ก็จะทำให้องค์กรนั้น ทั้งเก่ง ทั้งดี โดยเฉพาะ คำว่า “ดี” สังคมไทยกำลังต้องการมากที่สุด เนื่องจากเราเห็นผู้นำระดับสูงๆ ในบ้านเรา ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนเก่ง แต่ยังไม่ใช่คนดีพอที่จะเป็นผู้นำ และมีให้เห็นกลาดเกลื่อนไปหมด
[Original Link]