ซีเอสอาร์ - กับความยั่งยืนทางธุรกิจ
โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์
“เศรษฐกิจพอเพียง” อันเป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กลายเป็นวลีที่ถูกนำมากล่าวขานกันมากที่สุดในสังคมไทยเวลานี้ แต่เอาเข้าจริงก็เป็นเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่จะมีผู้รู้หรือเข้าใจในสาระสำคัญที่แท้จริง สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถูกก่อตั้งขึ้น เพื่อขับเคลื่อนความรู้ความเข้าใจเรื่องความพอเพียงทางเศรษฐกิจที่ถูกต้อง และความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่มีต่อสังคม โดยล่าสุดได้ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผลักดันงานวิจัยชื่อ ซีเอสอาร์แท้ ซีเอสอาร์เทียม ตัดสินอย่างไร
เริ่มต้นจากคำว่า ซีเอสอาร์ (CREATING SUSTAINABLE BUSINESS THROUGH – CSR) ซึ่งหมายถึง ขบวนการความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ โดยแนวคิดจะมุ่งเน้นที่การดำเนินกิจกรรมขององค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม ด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรหรือทรัพยากรจากภายนอกองค์กร ในอันที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข พัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่ดีทั้งในแง่ของการเจริญเติบโตทางธุรกิจที่ต้อง “เก่ง” ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นองค์กรที่ “ ดี ” หมายถึงการมีคุณธรรมจริยธรรมเชิงบรรษัท (CSR) และ SRI (SOCIAL RESPONSIBILITY INVESTING) หรือการลงทุนแบบรับผิดชอบต่อสังคม
การพัฒนาองค์กรเพื่อให้เป็นองค์กรที่ “ดี” นี้ ในระยะยาว จะมีส่วนสัมพันธ์กับความยั่งยืน (SUSTAINABLE) ของธุรกิจ
การใช้ซีเอสอาร์ให้เป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการบริหารธุรกิจ อาจเริ่มต้นจากการตั้งคำถามตัวเองถึงประเด็นทางสังคมที่ต้องการจะลงไป “คลุก” วัดความพร้อมของตัวเองด้วยทรัพยากร และบุคลากรที่มี แล้วกระโดดลงไปได้เลย โดยไม่ต้องรอว่าต้องเป็นองค์กรขนาดใหญ่ก่อน เอสเอ็มอี หรือ ร้านโชห่วย ก็ทำซีเอสอาร์ได้ ถ้าอยากจะทำ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าการเริ่มต้นคือการใช้ซีเอสอาร์อย่างมีกลยุทธ์ โดยจากงานวิจัยพบว่า ซีเอสอาร์ ควรวัดผลได้จัดการผ่านระบบได้ และที่สำคัญคือ การตอบโจทย์อย่างเป็นรูปธรรมว่าซีเอสอาร์ที่พัฒนาขึ้นนั้น สังคมได้ประโยชน์อะไร และองค์กรได้ประโยชน์หรือผลลัพธ์ที่ต้องการหรือไม่
องค์กรธุรกิจหลายแห่งมีความเข้าใจว่า การดำเนินกิจกรรมทางซีเอสอาร์ถือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องจ่ายเพิ่ม จะด้วยภาวะจำยอมหรือสมัครใจก็ตาม โดยไม่ได้นำไปสู่การเสริมสร้างประโยชน์ทางธุรกิจแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้องค์กรส่วนใหญ่มักดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมก็ต่อเมื่อถึงคราวที่จำเป็นจริงๆ หรือต้องเล็งเห็นประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ
แต่จากงานสำรวจชิ้นนี้ ระบุว่าการออกแบบและพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ที่มีประสิทธิภาพจะทำให้องค์กรธุรกิจนั้นๆ ได้รับประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมด้วย ประกอบด้วย การมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น มีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่ลดลง ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น พนักงานมีความภักดีต่อองค์กร ส่งเสริมภาพลักษณ์ รวมทั้งการยอมรับในตราผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค
“พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ และหัวหน้าโครงการศึกษางานวิจัยฯ กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์สามารถเกิดขึ้นได้ 2 ลักษณะ คือ จากจิตสำนึกภายในที่ต้องการดูแลรับผิดชอบต่อสังคมด้วยความสมัครใจและเกิดจากแรงกดดันจากภายนอก หรือเป็นกระแสกดดันจากสังคม ทำให้จำเป็นต้องทำหรือทำไปโดยภาระหน้าที่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นศึกษาใหม่เกี่ยวกับซีเอสอาร์ที่เกิดขึ้นในรูปแบบของการแข่งขันทางการค้า โดยกลายเป็นประเด็นทางการตลาดที่องค์กรคู่แข่งขันนำมาใช้กีดกันซึ่งกันและกัน ทำให้ซีเอสอาร์กลายเป็นเครื่องมือทางธุรกิจ แทนที่จะเป็นกิจกรรมที่สนองประโยชน์ต่อสังคม ส่งผลให้ทุกวันนี้มีทั้งซีเอสอาร์แท้และเทียมปะปนกัน
“ซีเอสอาร์ที่แท้จริงต้องเกิดขึ้นจากการอาสาหรือสมัครใจ ยินดีในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมนั้นด้วยตัวเอง เน้นประโยชน์ที่สังคมได้รับ เปรียบเทียบกับซีเอสอาร์แบบเทียมที่มักเกิดจากความจำเป็นบังคับ หรือไปเน้นที่ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับ ผมขอยกตัวอย่างให้ดูที่หน้าจอโทรทัศน์ทุกวันนี้ หากสังเกตจะพบสินค้าบางชนิดที่ชอบแจกของรางวัล หรือสร้างภาพช่วยเหลือชุมชน สมมุติว่ามูลค่าของรางวัลหรือของแจก 5 ล้านบาท แต่ออกโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางทีวีนานไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ใช้งบในโฆษณา 30 ล้านบาท มองแค่นี้ก็เห็นเจตนาที่แท้จริงแล้ว “พิพัฒน์กล่าว
หัวหน้างานวิจัยซีเอสอาร์ กล่าวว่า อยากให้ซีเอสอาร์เกิดจากใจ ทุกวันนี้ไม่สามารถบอกได้ว่ามาตรฐานของซีเอสอาร์ไทยต่ำกว่ามาตรฐานโลก เพราะซีเอสอาร์เป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นด้วยจิตสำนึก และทำพร้อมกันทุกหน่วยของสังคม ในฐานะที่ภาคธุรกิจก็เป็นหน่วยหนึ่งของสังคม จึงควรตระหนักในเรื่องนี้ รวมทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หากมองในแง่ของผลกระทบของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีต่อสังคมที่กว้างขวางกว่า และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีกว่า โดยส่วนตัวแล้ว ถือว่าซีเอสอาร์ของบริษัทจดทะเบียนไทยยังน้อยมาก และน่าจะสูงกว่านี้ เมื่อเปรียบเทียบกับบรรทัดฐานของสังคมพุทธ
มองในแง่ของเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจ แนวคิดเรื่องซีเอสอาร์ของคนไทยโดยตัวของมันเองอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เพื่อจะพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ที่เน้นความสำคัญของโครงการเศรษฐกิจพอเพียงและวิถีพุทธแนวตะวันออก ซึ่งก็หวังว่าในระยะยาวซีเอสอาร์ไทย จะมี “แนวร่วม” มากขึ้น ทั้งบริษัทนอกตลาดและในตลาด
“ทุกวันนี้ หากจะมองไปรอบตัวเรา ก็ใช่ว่าจะหมดหวังนะ” พิพัฒน์ กล่าว
ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรภาคธุรกิจมากมายที่ทุ่มเทกับกิจกรรมซีเอสอาร์อย่างแท้จริงจำนวนมาก ทั้งในรูปของการบริจาคเงิน บริจาคสิ่งของ รวมทั้งในรูปของการใช้กระบวนการภายในธุรกิจนั้น เพื่อดูแลสังคม เช่น โครงการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรเมล็ดกาแฟที่ศูนย์สวี ที่จ.ชุมพร โครงการพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินีของ บริษัท ไทยประกันชีวิต ร่วมกับ กองทัพบก โครงการนายอินทร์อะวอร์ด ของ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ โครงการพัฒนาหมู่บ้านที่ประสบธรณีพิบัติภัยจาก คลื่นยักษ์สึนามิของ บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) และอีกมากมายไม่อาจพูดได้หมด แต่พูดได้ว่า ยังไม่หมดความหวังกับสังคมไทยและภาคธุรกิจของไทย
ด้านตลาดหลักทรัพย์เอง โสภาวดี เลิศมนัสชัย ประธานศูนย์ระดมทุน กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR นับเป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance : CG) โดยแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการประกอบธุรกิจอย่างมีจรรยาบรรณ
ดังนั้น ในปีนี้ CG Center จึงสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนกำหนดนโยบายในการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังจะยกย่องบริษัทจดทะเบียนดีเด่นด้านซีเอสอาร์ โดยให้รางวัลในงาน SET Awards ในปีนี้ด้วย
“การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม มีประโยชน์ต่อบริษัทในหลายด้าน เช่น การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้เสีย ลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดทุนไทยให้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะผู้ลงทุนต่างประเทศที่นำปัจจัยด้าน CG และ CSR เข้ามาประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วย” โสภาวดี กล่าว