"บรรษัทบริบาล" คัมภีร์สู่องค์กรธุรกิจแบบยั่งยืน
คนในแวดวงโลกธุรกิจยุคนี้ เริ่มเห็นตรงกันว่า องค์กรที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต้องยึดหลัก 3 ประการ ได้แก่ ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ความยั่งยืนในขอบข่ายด้านเศรษฐกิจนั้น มาจากการสร้างธุรกิจให้ก้าวหน้า มีความมั่นคงทางการเงิน ขณะที่ความยั่งยืนด้านสังคม ด้วยการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ไม่ใช่แค่ผู้ถือหุ้น (Shareholder) แต่หมายถึงพนักงานและครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวมที่องค์กรธุรกิจนั้นเป็นสมาชิกอยู่ เช่น ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ก็ต้องคำนึงถึงส่วนได้เสียของคนไทยด้วย สุดท้าย ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรธุรกิจจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า มีกระบวนการประกอบธุรกิจทั้งด้านการผลิตและการตลาดให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
เส้นทางเดินเพื่อความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจในอนาคต จึงไม่ได้มาจากความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจที่มีผลกำไรสูงสุด มีปันผลสูงๆ ต่อผู้ถือหุ้น แต่จะต้องเป็นสมาชิกที่ดีมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมอีกด้วย กำไรสูงสุด หรือ Maximize Profit จึงน่าจะถูกจัดอยู่ในวิถีการดำเนินธุรกิจแบบเก่า มาถึงวันนี้ หลายองค์กรทั่วโลกกำลังหันมาดูแลสภาวะแวดล้อม เพราะมีปัญหาใหญ่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ปัญหาเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่กำลังนำหายนะมาสู่ชีวิตมนุษย์ ด้วยเรื่องแปลกใหม่นำพาความยากลำบากมาให้คนเรานี่เอง ลำพังรัฐบาลในประเทศต่างๆ คงไม่มีกำลังพอที่จะเยียวยา แต่กำลังมหาศาล จะมาจากองค์กรธุรกิจ ซึ่งหากไม่แบ่งผลกำไรมาช่วยเยียวยาสังคม ต่อไปสังคมก็อาจจะออกมา เรียกร้อง เพราะธุรกิจ ใช้ทรัพยากรมากในการผลิตสินค้า บางครั้งก็สร้างมลพิษให้สังคม เมื่อคนในสังคมอึดอัด จนนำไปสู่การปะทะระหว่างกัน สุดท้ายธุรกิจก็อยู่ไม่ได้
การเจียดเม็ดเงินส่วนหนึ่งช่วยดูแลสังคม จึงเป็นกระแสใหม่ที่กำลังถูกบรรจุเข้าสู่สมองของคนธุรกิจยุคใหม่ จึงเกิดกระแสการตื่นตัวของการดำเนินกิจกรรม ที่เรียกกันว่า ซีเอสอาร์ : CSR ( Corporate Social Responsibility ) หรือสถาบันไทยพัฒน์ บัญญัติ ศัพท์ใหม่ขึ้นมา ว่า "บรรษัทบริบาล"
"บรรษัทบริบาล" มาจากคำว่า บรรษัท +บริ แปลว่า ทั้งหมด ออกไป โดยรอบ +บาลหมายถึงการดูแลรักษาไม่เฉพาะในส่วนที่เป็นกิจการ แต่ยังแผ่ขยายกว้างออกไปครอบคลุมในส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดที่อยู่โดยรอบกิจการ ด้วยเงื่อนไขของความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะสมาชิกของสังคมนั้นๆ( Corporate Citizen ) การมีคุณธรรม โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งในและนอกกิจการอย่างเท่าเทียมกัน
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ องค์กรที่ศึกษาวิจัย ด้าน ซีเอสอาร์ และเป็นผู้ก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจร่วมรับผิดชอบต่อสังคมไทย (Thai CSR ) ได้ประมวลแนวปฏิบัติในเรื่องบรรษัทบริบาลไว้ 5 แนวทาง โดยระบุว่าหากองค์กรธุรกิจต้องการแสดงให้สังคมเห็นความดีขององค์กรโดยการออกมาปฏิบัติภารกิจที่เรียกว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ ซีเอสอาร์ นั้น จะต้องทำด้วยจิตอาสาจริงๆ ไม่ใช่ ทำแค่เพียงหน้าที่ หรือความจำเป็น เพราะการอาสานั้นเริ่มที่ระดับจิตใจ มีความเต็มใจในการดำเนินกิจกรรม โดยไม่จำเป็นต้องรอดูท่าทีของสังคม หรือหน่วยงานภายนอก
ขณะเดียวกัน กิจกรรม ซีเอสอาร์ ไม่ใช่เรื่องของการลงทุน ซึ่งต้องหวังผลตอบแทน หรือให้ผลคุ้มค่าทางการเงิน แต่เป็นเรื่องของการทำความดีโดยไม่หวังผล ถือเป็นการทำบุญประเภทหนึ่ง ด้วยเหตุนี้การดำเนินกิจกรรม ซีเอสอาร์ ที่แท้ จึงไม่จำเป็นต้องวัดด้วยมูลค่าเป็นตัวเงิน รวมทั้งไม่จำเป็นต้องวัดด้วยจำนวนกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อการประชาสัมพันธ์ ในทางตรงกันข้าม ซีเอสอาร์ แท้ อาจไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงินเพิ่ม หรือสร้างกิจกรรมพิเศษใดๆ มากไปกว่าการดูแลกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ทั้งองค์กรและสังคม รวมถึงแวดล้อม โดยไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนคนรอบข้าง
อีกประการหนึ่ง คือ การเข้าร่วมในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ ซึ่ง ยูเอ็น ได้เชิญชวนบรรดาองค์กรธุรกิจต่างๆ เข้าร่วมทำข้อตกลงภายใต้หลักสากล 10ประการ นำไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเพื่อเข้าสู่คุณลักษณะ ของความเป็น บรรษัทพลเมืองผู้มีความรับผิดชอบในสังคมโลก โดยหลัก10 ประการดังกล่าว เกี่ยวข้องกับ 4 เรื่องได้แก่ สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ซึ่ง ซีเอสอาร์ ตามข้อตกลงนี้ ยึดหลัก 10 ประการ เป็นรากฐานและค่านิยมองค์กร
ซีเอสอาร์ รากฐานจากพุทธศาสนา
นอกจากนี้ ในเนื้อแท้ของ ซีเอสอาร์ นั้น มีรากฐานมาจากหลักทางศาสนาพุทธ แนวปฏิบัติตามแนวทางนี้ "สังคหวัตถุ 4" สามารถใช้เป็นตัวแบบในการดำเนินกิจกรรม ซีเอสอาร์ โดยมีความสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทยที่มีอุปนิสัยของการสงเคราะห์ เกื้อกูล ประกอบด้วย 1.การให้ หรือ Corporate Philanthropy หรือการบริจาคในสิ่งที่ควรให้แก่ผู้ยากไร้ เปรียบเทียบได้กับการทำทาน 2.การสื่อสารในสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ สิ่งที่เป็นสาระข้อเท็จจริง (Corporate communication) ประกอบด้วย เหตุผลและความจริงใจ โดยไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น การให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ ที่ถูกต้องครบถ้วนแก่ผู้บริโภค การไม่โฆษณา พีอาร์ สินค้าเกินจริง ฯลฯ เปรียบได้กับ ปิยวาจา 3. การเสียสละแรงงาน แรงใจ และเวลา (Community Volunteering) เพื่อบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เช่น การเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคมในโอกาสต่างๆ เปรียบได้กับ อัตถจริยา และ 4. การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ( Equitable Treatment ) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี เอาใจใส่ในสุขทุกข์ของผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ เปรียบได้กับ "สมานัตตตา"
แนวปฏิบัติประการสุดท้าย ที่ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ เสนอไว้ ก็คือ ปฏิบัติตามรอยพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า เพราะซีเอสอาร์ นั้น เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่จัดอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ที่เน้นถึงการรวมกลุ่มในแนวราบ ลักษณะของ คลัสเตอร์ ก่อให้เกิดการพัฒนาภายใต้รูปแบบของการพึ่งพิงอิงกัน แบ่งปันกัน ตลอดจนมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน ซึ่งหากองค์กรธุรกิจ นำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้ก็จะเกิดความสมดุล และความยั่งยืนในตัวกิจการ อันเป็นผลพวงที่ธุรกิจได้รับกลับคืนมาเป็นกำไรอยู่คู่กับองค์กรตลอดไป
แนวโน้มใหม่ ซีเอสอาร์แถวหน้าฉีกหนีรูปแบบเดิม
ส่วนแนวโน้ม ของดำเนินกิจกรรม ซีเอสอาร์ ในบ้านเรา ปีนี้นั้น ดร. พิพัฒน์ มองว่า กิจกรรม ซีเอสอาร์ จะเป็นที่รับรู้เพิ่มมากขึ้น ด้วย 2 เหตุผล คือ หลายองค์กรจะสามารถนำเอากิจกรรมที่องค์กรดำเนินอยู่แล้ว และไม่เคยทราบว่าเป็นซีเอสอาร์ มาสื่อสารกับสังคมได้ ในประการแรกนี้ จำนวนกิจกรรมอาจจะไม่เพิ่ม แต่การรับรู้เพิ่มขึ้น ส่วนในประการที่สอง องค์กรธุรกิจที่ทำเรื่องซีเอสอาร์แถวหน้า จะพยายามคิดค้นและสร้างความแตกต่างในกิจกรรมซีเอสอาร์ด้วยการหาประเด็นทางสังคมใหม่ๆ ที่ยังมิได้รับการตอบสนอง ผนวกกับการนำนวัตกรรมมาสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อฉีกหนีรูปแบบเดิมๆ ที่มีองค์กรอื่นๆ เริ่มดำเนินรอยตามมากขึ้น ในประการหลังนี้ จะทำให้สังคมจดจำหรือรับรู้ได้มากขึ้น โดยมีกิจกรรมใหม่เพิ่มขึ้นด้วย นอกเหนือจากการเพิ่มจำนวนขององค์กรที่หันมาให้ความสำคัญกับซีเอสอาร์
แต่เรื่องที่ควรต้องระมัดระวัง คือ การสร้างการรับรู้ในกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กร มิใช่วิธีการแข่งขันเช่นการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ขององค์กรผ่านทางการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ องค์กรธุรกิจต้องคำนึงถึง การทำ PR for CSR อย่างถูกต้อง มากกว่าการทำ CSR for PR อย่างฉาบฉวย เพราะเมื่อไรก็ตาม ที่สังคมเรียนรู้ได้ว่า อะไรของจริง อะไรของปลอม เมื่อนั้นผลกระทบจากการกระทำอย่างฉาบฉวยก็จะสะท้อนกลับมาทำลายองค์กรเองในที่สุด
แต่สำหรับ ซีเอสอาร์ที่ทำแล้วสังคมได้รับมากกว่าองค์กรธุรกิจ นั่นคือผลตอบแทนนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กรโดยอัตโนมัติ
[Original Link]