Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

แนะแนวปฏิบัติในการทำ CSR


คำถามยอดฮิตขององค์กรที่สนใจทำเรื่อง CSR คือ จะทำ CSR อย่างไร ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ไม่เพียงเป็นผู้ติดตามและทำงานศึกษาวิจัย CSR อย่างใกล้ชิด และยังเป็นคนหนึ่งที่ศึกษาวิจัยเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ได้แนะแนวปฏิบัติ 5 ประการในการทำ CSR ได้แก่ 1.ระหว่างหน้าที่และอาสา โดยมองว่าองค์กรที่ดำเนินการกิจกรรม CSR โดยถูกบีบบังคับจากสังคมนั้นไม่ถือเป็น CSR ที่แท้ 2.ระหว่างการลงทุนหรือการทำบุญ การทำ CSR ที่แท้ไม่จำเป็นต้องเป็นการลงทุนที่หวังผลตอบแทน แต่การทำบุญในทางศาสนา การทำความดี ที่แม้ผู้ทำไม่ได้หวังผลตอบแทน แต่ผู้กระทำจะได้อานิสงส์นั้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดร.พิพัฒน์ขยายความเรื่องนี้ว่า "2 แนวปฏิบัติแรกจะเป็นการทำให้สังคมและองค์กรธุรกิจเข้าใจมากขึ้น ระหว่างหน้าที่กับอาสา ระหว่างลงทุนกับการทำบุญ การทำเป็นหน้าที่ให้ผลเป็นแบบหนึ่ง การอาสาผลออกมาก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เช่นเดียวกับการลงทุนและการทำบุญซึ่งให้ผลต่างกัน เมื่อเป็นการลงทุนก็ต้องหวังผลตอบแทน ตามที่องค์กรต้องการ ขณะที่หลายองค์กรมองว่าเป็นการทำบุญ เขาก็จะได้อานิสงส์ที่ได้เหนือกว่าการลงทุน จึงขึ้นอยู่กับบริบทองค์กรว่าใครเลือกแบบไหน เราไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องผิดถูก เวลาเรามองเรื่องการลงทุน มันก็ไม่ได้เป็น CSR แท้ซะทีเดียว เพราะโดยเจตนาช่วยเหลือสังคมก็ไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนกลับมาในแง่ธุรกิจ ฉะนั้นก็เป็น CSR เหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็น CSR ที่เกิดจากภายใน"

แนวปฏิบัติที่ 3 ดร.พิพัฒน์เสนอว่า ธุรกิจสามารถเข้าร่วมใน "ข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ" (UN global compact) 4.การใช้ตัวแบบสังคหวัตถุ 4 ได้แก่ ทานหรือการให้ (corporate philantrophy) ปิยวาจาหรือการสื่อสารในสิ่งที่เป็นประโยชน์ (corporate communication) อัตถจริยา หรือการเสียสละแรงงาน แรงใจและเวลา (community volunteering) สมานัตตาหรือการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม (equitable treatment)

"ในแนวทางที่ 3 นั้นเพื่อให้มีความเป็นสากล เพราะองค์กรธุรกิจพยายามอิงมาตรฐานจากต่างประเทศ เกณฑ์ที่เป็นสากล UN global compact ที่สหประชาชาติประกาศ มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ CSR อยู่แล้ว การที่เราจะไปร่วมส่วนหนึ่งก็อาจจะได้ภาพลักษณ์ที่องค์กร ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจไทยหลายแห่งที่ไปร่วมอยู่ ส่วนแนวทางที่ 4 เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น สำหรับองค์กรธุรกิจไทยที่ต้องการแนวทางแบบไทยๆ เราจึงใช้สังคหวัตถุ 4 มีความใกล้เคียงกับบรรษัทบริบาลมากที่สุด"

สุดท้ายเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสปีนี้ แนวปฏิบัติที่ 5 เป็นการตามรอยพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า"

"จากงานวิจัยก็ชี้ให้เห็นว่าบรรษัทภิบาลก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า บริษัทที่ทำ CSR จึงสามารถบอกได้ว่าได้ดำเนินรอยตามเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ เพราะหลายครั้งที่เราเอาเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นหน้า บริษัทรู้สึกว่าทำไม่ได้ แต่พอพูดเรื่อง CSR เขาก็เข้าใจมากขึ้น คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงมีแบบเดียว ที่ตัวเองได้ โดยใช้คำว่า self sufficiency ซึ่งคำนี้ในหลวงแก้ในพระราชดำรัสว่า ที่พระองค์ท่านต้องการให้มีความหมายในภาษาอังกฤษคือ sufficiency economy เพราะ self sufficiency เป็นเพียงพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง ถ้ามองในแง่ธุรกิจ เป็นวิถีที่ทำให้องค์กรอยู่รอด เติบโต"

"ในขณะที่เศรษฐกิจพอเพียงมีอีกระดับคือ เศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า มี 2-3 ขั้นแรกคือการรวมกลุ่มกันของธุรกิจ อาทิ การร่วมทุน การรวมเป็นสมาคมการค้า ฯลฯ การรวมกลุ่มในแนวดิ่งที่เรียกว่า supply chain ส่วนขั้นที่ 3 คือการรวมกลุ่มในแนวราบ ซึ่งไม่ได้เป็นการรวมกลุ่มของธุรกิจในแบบเดียวกัน แต่ไปใช้ประโยชน์จากสถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา เพื่อทำให้เกิดการขยายความช่วยเหลือ ร่วมมือออกไปมากขึ้น ซึ่งในบริบทธุรกิจก็คือบรรษัทบริบาล"

ฉะนั้นบรรษัทบริบาลก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้านั่นเอง !!

"หลายคนบอกว่าตัวเองยังไม่ดีเลย จะไปช่วยคนอื่นได้อย่างไร อันนั้นเป็นการมองเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นพื้นฐาน คือให้ตัวเองอยู่รอดได้ แต่อยู่รอดแล้วช่วยเหลือคนอื่นได้ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า เศรษฐกิจพอเพียงมี 2 มิติ การที่เราบอกว่าทำให้ตัวเองพอเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ถูกต้อง แต่ต้องคำนึงถึงความอยู่เย็นเป็นสุขของตัวเองและสังคม โดยไม่เบียดเบียนทั้งตัวเองและผู้อื่น"

แนวปฏิบัติที่เสนอนี้จะเห็นว่าทุกแนวทางนั้นผูกเชื่อมกันอยู่ องค์กรไหนที่รู้สึกว่าอยากอินเตอร์ก็ไปผูกกับโกลบอลคอมแพ็กต์ ถ้าใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นก็ใช้เศรษฐกิจพอเพียงกับสังคหวัตถุ 4 ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นเรื่องเดียวกัน ตัวเนื้อหาก็คือส่วนเดียวกัน เพียงแต่คนละมุมเท่านั้นเอง


[Original Link]