CSR-บรรษัทบริบาล องค์กรต้องเก่งและดี
CSR เป็นคำย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า corporate social responsibility (CSR) หรือเรียกกันในภาษาไทยว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ซึ่งเร็วๆ นี้สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นสถาบันที่ติดตามและศึกษาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้เรียก CSR ใหม่เป็นคำภาษาไทยว่า บรรษัทบริบาล ถ้ากล่าวโดยสรุป CSR หมายถึง การดำเนินกิจกรรมภายในและภายนอกองค์กรที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมทั้งในระดับใกล้และไกล ด้วยการใช้ทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่
กิจกรรมที่ว่า รวมความตั้งแต่ การคิด การพูด การทำ ในทางธุรกิจคือ การวางแผน การตัดสินใจ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการ และการดำเนินงานขององค์กร โดยกิจกรรมทั้งหมดต้องกระทำด้วยความรับผิดชอบต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กรทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนในองค์กร ได้แก่ ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงาน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ใกล้ชิดกับองค์กร ได้แก่ ลูกค้า คู่ค้า ครอบครัวพนักงานและชุมชนที่องค์กรตั้งอยู่ ฯลฯ รวมไปถึงผู้เกี่ยวข้องในทางอ้อม ได้แก่ คู่แข่งทางธุรกิจ ประชาชนทั่วไป กิจกรรม CSR จึงจัดแบ่งง่ายๆ ออกเป็นกิจกรรม CSR ภายใน เช่น การพัฒนาคุณภาพชีวิต พนักงาน การสร้างกระบวนการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ หรือกิจกรรม CSR ภายนอก จะเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม ที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น การพัฒนาชีวิตคนในชุมชน การจัดโครงการสนับสนุนเด็กด้อยโอกาส ฯลฯ
ที่ผ่านมาการพัฒนาองค์กรให้เจริญเติบโตของธุรกิจ มักพูดถึงการพัฒนาองค์กรให้มีความ "เก่ง" ขณะที่แนวคิดของ CSR เป็นแนวคิดที่มุ่งการพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่ดี เพราะเชื่อว่าแม้ความเก่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาองค์กร หากแต่ความดีขององค์กรนั้นจะสามารถทำให้องค์กรสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน หรือเป็นองค์กรที่สังคมอยากให้ดำรงอยู่
แนวคิดของการดำเนินกิจกรรม CSR จึงมีเป้าหมายสูงสุดไม่เพียงสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร ขณะเดียวกันการดำเนินกิจกรรม CSR ด้วยความเข้าใจจะช่วยนำพาสังคมไปสู่ความยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน
[Original Link]