เมื่อรัฐจุดพลุ CSR
ตั้ง คกก.-ลดภาษีสร้างแรงจูงใจ
แม้จะมีความเคลื่อนไหวขององค์กรธุรกิจมายาวนานในการขับเคลื่อนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR : corporate social responsibility) ด้วยการหันมาให้ความสนใจกับกิจกรรมเพื่อสังคม การผลักดันความรับผิดชอบภายในกระบวนการธุรกิจ ที่ผ่านมามีการรวมตัวกันของนักธุรกิจหลายกลุ่มก้อน แต่สิ่งที่ขาดคือการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ภายใต้รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ไม่เพียงประกาศให้เรื่องคุณธรรมการเป็นวาระแห่งชาติ ความเคลื่อนไหวที่ผ่านมามีการผ่านมติคณะรัฐมนตรี โดยการให้หน่วยงานของรัฐสามารถทำงานอาสาสมัครได้โดยไม่คิดเป็นวันลา 5 วันต่อปี และพยายามผลักดันให้มิติการให้และอาสาสมัครเพื่อสังคมกลายเป็นวาระแห่งชาติไปพร้อมๆ กัน
ล่าสุด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีการแต่งตั้งคณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ที่คลุกคลีในเรื่อง CSR มายาวนาน โดยมีนายศิริชัย สาครรัตนกุล เป็นประธานคณะทำงาน และคณะกรรมการได้แก่ นางสาววิไล ตระกูลสิน ผู้จัดการเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) นางวัลลภา คุณติรานนท์ บรรณาธิการนิตยสาร CSR Journal นางสาวสุนทรี เจริญงาม นายสุโข สิงห์คราม นางพิมพร ศิริวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท มายแบรนด์ เอเยนซี่ ที่ปรึกษาด้านการวางกลยุทธ์ CSR นายชินชัย ชี้เจริญ และ นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งทำวิจัยด้าน CSR
นี่ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเรื่อง CSR จากภาครัฐ !!
เรื่องนี้ ดร.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า รัฐบาลจะมุ่งส่งเสริมบทบาทธุรกิจให้ทำดีและไม่ทำลายสังคม โดยมองว่า ธุรกิจจะทำประโยชน์เพื่อสังคมได้แท้จริงแล้วต้องมาจากเนื้อในของธุรกิจ โดยอาศัยแรงบันดาลใจจากภายใน เพราะการทำเช่นนั้นจะส่งผลดีกับธุรกิจ มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าการที่ธุรกิจทำ CSR จะเกิดผลดีทั้งผ่านมุมมองของประชาชนและลูกค้า โดยเชื่อว่าหากธุรกิจดำเนินบทบาทที่ดีในสังคม สิ่งดีเหล่านี้จะส่งผลสะท้อนกลับมาที่ธุรกิจ ธุรกิจที่ทำดีจะส่งผลให้คนรู้สึกดี รู้สึกผูกพันและมีคุณค่าพิเศษ เป็นคุณค่าทางใจ ซึ่งแนวทางที่วางไว้ต้องการให้ธุรกิจมองเห็นถึงตรงนั้น
อย่างไรก็ตาม มองว่าในส่วนของมาตรการจูงใจหรือแรงจูงใจภายนอก ในการที่ธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้ จากปัจจุบันที่เงินบริจาคในส่วนบุคคลสามารถลดหย่อนภาษีได้ 10% นิติบุคคลได้ 10% ซึ่งมองว่าอาจจะเป็นไปได้มากว่าจะสามารถเพิ่มการลดหย่อนภาษีจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมได้มากขึ้น โดยอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาสามารถลดหย่อนได้ 20% และนิติบุคคลสามารถลดหย่อนภาษีได้ 4-5% แต่ทั้งนี้ยังต้องประสานงานกับกระทรวงการคลังเพื่อจะพิจารณาต่อไป
"แต่สิ่งที่ผมเชื่อก็คือการทำเพื่อสังคมที่ดีที่สุดต้องมาจากภายใน แรงจูงใจภายนอกอย่างการนำมาลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็นเพียงกำลังใจที่จะทำให้เขาเห็นว่ารัฐบาลเองก็สนับสนุนให้ทำสิ่งเหล่านี้" ดร.ไพบูลย์กล่าว
ด้าน น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เรื่อง CSR เป็นเรื่องหนึ่งที่กระทรวงให้ความสนใจ เพราะยุทธศาสตร์ของกระทรวงต้องการขยายเครือข่ายพันธมิตรเข้ามาช่วยในการทำงานพัฒนาสังคม โดยเอาความมั่นคงของมนุษย์เป็นตัวตั้ง และนำเอาภาคธุรกิจที่เป็นภาคีซึ่งมีพลังในการเปลี่ยนแปลงสูงมาช่วยในการขับเคลื่อน
สำหรับคณะทำงานด้าน CSR ที่ตั้งขึ้น มีการหารือร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และองค์กรที่ดำเนินการด้าน CSR อาทิ เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) สถาบันไทยพัฒน์ จึงจัดตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้นมา โดยภารกิจหลักของคณะทำงานจะมีการศึกษา ระดมความคิดและวางแผนที่จะขับเคลื่อนองค์กรในภาคธุรกิจให้มาดำเนินการช่วยเหลือสังคมที่เป็นรูปธรรม โดยเชื่อมโยงนโยบายที่กระทรวงได้วางไว้ เช่น นโยบายเรื่องของกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (กสก.) ซึ่งมีนโยบายในเรื่องการให้ โดยให้ข้าราชการสามารถไปเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อสังคมได้โดยไม่คิดวันลา 5 วันต่อปี ขณะเดียวกันก็มีนโยบายที่ส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจส่งเสริมพนักงานของตนไปทำงานอาสาสมัคร ซึ่งแม้จะผ่านมติ ครม.ไปแล้ว แต่การดำเนินงานยังอยู่ระหว่างการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ จากจุดเริ่มต้นเหล่านี้ คณะทำงานด้าน CSR ก็จะช่วยเข้ามาคิดต่อ
การขับเคลื่อนครั้งนี้ จึงถือได้ว่าเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของรัฐบาล ในการปลุกปั้นและจุดกระแส CSR ที่น่าจับตา ในวันที่โลกทั้งโลกกำลังขับเคลื่อนสู่กระแสนี้ !!
[Original Link]