ขับเคลื่อน CSR ภาวะเศรษฐกิจฟุบ 3 กูรูแนะทางรอดผ่านวิกฤต
หากมองโดยหลักการของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR : Corporate Social Responsibility) ที่มีหัวใจอยู่ที่การแสดงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยทำผ่านทั้งภายในกระบวนการธุรกิจและการช่วยเหลือสังคมผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมภายนอกนั้น ดูเหมือนว่ามิว่าอยู่ในภาวะเช่นใด องค์กรก็มิอาจหลีกเลี่ยงการดำเนินการภายใต้กรอบ CSR ได้ เพราะในการทำ CSR มีทางเลือกมากมายที่ทำได้โดยใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลหรือเพียงแค่ใช้งบประมาณเพียงน้อยนิด
หากแต่ในมุมมองของ "นักปฏิบัติ" ที่ปรากฏผ่านผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ในหัวข้อ "เศรษฐกิจชะลอตัวมีผลต่อการดำเนินกิจกรรม CSR" ในองค์กรหรือไม่ จำนวน 200 ราย ซึ่งเกือบทั้ง 100% เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการดำเนินกิจกรรม CSR นั้น กลับมีมุมมองที่แตกต่างออกไป โดยจำนวน 55.5% ของผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า ภาวะเศรษฐกิจจะมีผลต่อการดำเนินกิจกรรม CSR ในองค์กร โดยเฉพาะในแง่ของงบประมาณที่น่าจะถูกตัดออกไปหากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ฉะนั้นในภาวะเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ ที่องค์กรธุรกิจจะริเริ่มดำเนินกิจกรรม CSR หรือในภาวะเช่นนี้องค์กรจะปรับตัวอย่างไร หากต้องการขับเคลื่อนเรื่อง CSR เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในระยะยาว ขณะที่เงินในกระเป๋ามีไม่มากนัก !!
ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ องค์กรที่ดำเนินการศึกษาเรื่อง CSR ในไทยมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า ในความเป็นจริงหากมองว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะมีผลต่อการขับเคลื่อน CSR ในองค์กรธุรกิจนั้น น่าจะเป็นการมอง CSR ในบริบทของการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการเป็นหลัก หรือการดำเนินกิจกรรม CSR ภายนอก (CSR after Process) มากกว่า โดยการมองในบริบทนี้จะมุ่งเน้นไปที่การบริจาคเงินและการทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือสังคมภายนอกซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าจะได้รับผลกระทบ แต่หากมอง CSR ในบริบทของการผนวกไปกับการแสดงความรับผิดชอบภายในกระบวนการธุรกิจ (CSR in Process) นั้นเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจหรือเรื่องงบประมาณไม่น่าจะสร้างผลกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นความรับผิดชอบที่ผนวกกับการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว
ดังนั้นหากมองการขับเคลื่อน CSR ขององค์กรธุรกิจในภาวะวิกฤต ทางสถาบันได้เคยประเมินแนวโน้มไว้แล้วว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีนี้ แนวทางที่องค์กรจะทำ CSR อาจจะมีแนวโน้มมาสู่การดำเนินการที่ไม่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการมาก อย่างไรก็ตามเขาเสนอแนะว่า ในภาวะเช่นนี้องค์กรธุรกิจควรจะดำเนินกิจกรรม CSR โดยใช้หลักวิธีคิดของเศรษฐกิจพอเพียง โดยดำเนินการตามอัตภาพและกำลังขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการภายใต้กิจกรรมเพื่อสังคม หรือการทำธุรกิจเพื่อสังคม
"ถ้าถามว่า ในภาวะวิกฤตนั้นเหมาะสมที่จะทำ CSR หรือไม่ คงบอกได้ชัดเจนว่าเหมาะสม ถ้ามองจากปัจจัยภายนอกจะด้วยกระแสจากต่างประเทศ หรือการเกิดขึ้นของ CSR ในไทย เวลานี้เป็นสิ่งที่ควรทำ เพียงแต่วันนี้เราควรมองว่าจะทำอย่างไรมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นเรื่องที่ควรทำ แต่ก็ต้องมองจากปัจจัยภายในหรือความพร้อมขององค์กรเป็นหลัก เพราะการทำ CSR นั้นมีโจทย์อยู่ที่ความยั่งยืน การทำตามกระแสหรือจากปัจจัยภายนอกอาจจะไม่ยั่งยืนเท่ากับการที่องค์กรจะมองดูตัวเองว่าพร้อมหรือไม่ และต้องทำด้วยใจ สิ่งที่ทำจะต่อเนื่องและยั่งยืนกว่า" ดร.พิพัฒน์กล่าว
ต้องทำไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใด
ด้าน นายอนันตชัย ยูรประถม นักวิชาการ CSR จากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในประเด็นนี้ว่า หากมองจากแนวคิดพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร การทำ CSR นั้นควรทำไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใด โดยควรมองจากความรับผิดชอบภายในกระบวนการธุรกิจ เพราะการทำ CSR ไม่ใช่แค่เรื่องของกิจกรรมเพื่อสังคม ดังนั้นตราบใดที่ธุรกิจยังดำเนินการอยู่ ก็จำเป็นต้องทำเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ โดยสิ่งสำคัญต้องมองว่าการทำ CSR ไม่ใช่สิ่งที่องค์กรเสียประโยชน์ แต่เป็นสิ่งที่องค์กรได้ประโยชน์ ในแง่ของประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับการแสดงความรับผิดชอบในกระบวนการธุรกิจ จะช่วยลดต้นทุนและเป็นการดูแลผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholder) ซึ่งจะเป็นแรงบวกให้กับองค์กร เช่น การดูแลพนักงาน ที่จะสร้างความรู้สึกดีๆ และสร้างขวัญกำลังใจให้ปฏิบัติงานต่อไปได้อย่างมีประสิทธิผล สุดท้ายหากมองถึงประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ ก็ยิ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมเนื่องจากเมื่อมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคมย่อมเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ การเยียวยาสังคมในภาวะเช่นนี้จึงจะยิ่งส่งผลให้คนในสังคมเห็นว่าองค์กรนั้นมีความจริงใจและไม่ทอดทิ้งเขาในเวลาที่พวกเขาเดือดร้อน ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในระยะยาว
มุ่งเน้นประสิทธิผลมากขึ้น
ขณะที่ ดร.สุทธิศักดิ์ ไกรสรสุธาสินี อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกหนึ่งผู้เชี่ยวชาญด้าน CSR กล่าวว่า สิ่งสำคัญของการทำ CSR ไม่ว่าจะดำเนินการในกระบวนการธุรกิจหรือทำในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ประเด็นสำคัญที่องค์กรควรคำนึงถึงคือประสิทธิผลในการดำเนินการแต่ละโครงการ โดยต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน
เป้าหมายในที่นี้มิได้หมายความถึงการตีมูลค่างบประมาณการลงทุนในการทำ CSR ออกมาเป็นเม็ดเงินที่องค์กรจะได้รับกลับมา แต่หมายถึงการใช้เงินอย่างคุ้มค่า ในการสร้างประสิทธิผลสูงสุดจากการใช้งบประมาณ
ดร.สุทธิศักดิ์แนะนำว่า การจะทำให้การใช้งบประมาณในการทำ CSR ให้เกิดประสิทธิผลนั้น สิ่งสำคัญคือการทำ CSR แบบมีกลยุทธ์ เช่น การสร้างห้องสมุดให้ชุมชนสักแห่งหนึ่ง ก็ต้องประเมินให้ชัดว่า เมื่อสร้างไปแล้วจะมีคนเข้ามาใช้งานจริงและสามารถอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เพียงการสร้างห้องสมุดจบ ถ่ายรูปเพื่อทำประชาสัมพันธ์ ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังจะยิ่งน่าเสียดายโดยเฉพาะในภาวะเช่นนี้
"ผมไม่ได้บอกว่าให้ทิ้งเงินในการทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์มาทำ CSR แต่ผมมองว่าด้วยเงิน ที่จำกัดเราก็ทำ CSR ได้ โดยอาจจะเริ่มปรับแก้ จากภายใน และต้องใช้พลังความคิดมากขึ้นในการทำงาน ว่าตรงไหนเราควรจะทำจากภายในและอย่างไหนควรจะทำภายนอก" ดร.สุทธิศักดิ์กล่าว
และมองด้วยว่ายิ่งในภาวะวิกฤตการณ์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ ยิ่งเหมาะสมที่องค์กรจะดำเนินการเรื่อง CSR ก็เพราะหากลองมองย้อนดูบทเรียนที่ผ่าน ก็เพราะองค์กรทั้งภาครัฐและธุรกิจไม่ได้มีความรับผิดชอบและไม่มีธรรมาภิบาลหรอกหรือ สังคมถึงเป็นอย่างที่เป็นอยู่ แต่วันนี้ก็มีบทเรียนแล้วฉะนั้นจึงมองว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรจะต้องตื่นตัวและดำเนินการในเรื่องนี้
อย่างน้อยที่สุดการแสดงความรับผิดชอบของทุกองค์กรเป็นการป้องกันและเตรียมพร้อมในการสร้างความแข็งแกร่งในอนาคตเพื่อจะไม่ให้เป็นเช่นที่แล้วมาต้องเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก !!
[Original Link]