Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR สไตล์ไทย ที่ถูกต้องเหมาะสม


แม้กระแสเรื่องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จะเป็นที่แพร่หลายและได้รับการพูดถึงมาก่อนจากฝั่งตะวันตกและกลายมาเป็นกระแสกดดันที่เรียกร้องให้ทั่วโลกทำเรื่องนี้ หากแต่ในความเป็นจริงนั้น CSR มีมายาวนานในสังคมไทย การประยุกต์หลักการของตะวันตก ด้วยความเป็นตะวันออก อาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในสังคมไทยขณะนี้ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งติดตามเรื่อง CSR มายาวนานกล่าวว่า การดูแลสังคมโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมีอยู่ในสังคมไทยมายาวนานก่อนที่จะได้รู้จักคำว่า CSR จากฝั่งตะวันตก ปัจจุบันมีพัฒนาด้าน CSR เกิดขึ้นในไทยโดยองค์กรนั้นไม่จำกัดเฉพาะองค์กรธุรกิจ แต่ยังรวมถึงองค์กรในภาครัฐด้วย

"CSR ที่สังคมไทยต้องการนั้น เราไม่สามารถเลือกได้ว่าจะเอา CSR ที่ทำเฉพาะภายในกระบวนการธุรกิจ (CSR in process) หรือ CSR ที่มุ่งเน้นเพื่อสังคมภายนอก (CSR after process) เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการทั้ง 2 อย่างควบคู่ไปด้วยกัน เพราะในขณะที่เราต้องการธุรกิจที่ดำเนินด้วยการป้องกันไม่ให้ธุรกิจสร้างผลกระทบในเชิงลบ ขณะเดียวกันสังคมก็มีความต้องการความช่วยเหลือผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมเมื่อธุรกิจเดือดร้อน ฉะนั้นเชื่อว่าสิ่งที่สังคมไทยต้องการคือการทำทั้ง 2 ส่วนนั้นไปพร้อมๆ กัน" ดร.พิพัฒน์กล่าว

ด้านนายอนันตชัย ยูรประถม นักวิชาการด้าน CSR จากโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การทำ CSR ในแง่ของการนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสังคมนั้น สิ่งที่องค์กรธุรกิจต้องคำนึงถึงคือบริบททางสังคม เพราะแม้จะเป็นพื้นที่ชนบทเหมือนกัน แต่ในแต่ละพื้นที่ แต่ละภาคของประเทศนั้นมีบริบทสังคมแตก

ต่างกัน และการทำ CSR นั้นจะต้องอุดช่องว่างของความต้องการที่สังคมต้องการอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงความต้องการว่าองค์กรจะต้องการให้อะไร อีกประเด็นหนึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างธุรกิจ ภาครัฐและองค์กรพัฒนาสังคม โดย CSR กำลังจะลดช่องว่างระหว่างองค์กรที่ว่านี้ โดยความร่วมมือระหว่างธุรกิจกับองค์กรพัฒนาเอกชน ต้องไม่ใช่การเป็นเพียงผู้ให้และผู้รับ แต่จะต้องมองไปที่การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนโดยธุรกิจ และองค์กรพัฒนาเอกชนจะต้องทำงานร่วมกันในลักษณะของพันธมิตร โดยดึงเอาความสามารถหลักของแต่ละองค์กรเข้ามาใช้ เช่น องค์กรพัฒนาเอกชนสามารถเข้าถึงรากหญ้าและมีความเข้าใจบริบทของสังคม ขณะที่องค์กรธุรกิจมีกำลังเข้มแข็งในแง่ของทรัพยากรหรืองบประมาณที่สามารถสนับสนุนได้ ซึ่งการร่วมมือดังกล่าวจะทำให้เกิดความยั่งยืนและเป้าหมายที่สูงกว่าการเป็นผู้ให้และผู้รับธรรมดา ซึ่งจะสร้างให้เกิดคุณค่าสูงสุดต่อทั้งองค์กรและสังคม

"การที่องค์กรธุรกิจทำ CSR กันจำนวนมากด้วยการทำตามกันนั้นไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการทำอย่างถูกต้อง โดยรูปแบบการทำ CSR ที่เหมาะสม องค์กรธุรกิจจะต้องกำหนดพื้นที่ทางสังคมและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องคำนึงถึงก่อน จากนั้นจึงกำหนดประเด็นทางสังคม และค่อยมาพิจารณาว่าจะทำ CSR ในรูปแบบไหน" นายอนันตชัยกล่าว

ขณะที่มัทนา เหลืองนาคทองดี ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจัยของความสำเร็จในการทำ CSR นั้นองค์กรจะต้องสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อถือและเป็นสิ่งที่สังคมต้องการอย่างแท้จริง โดยแต่ละโครงการต้องให้เกิดการมีส่วนร่วมของพนักงาน ที่สำคัญต้องทำจริงและไม่ได้เป็นเพียงโครงการที่ทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์ ขณะเดียวกันต้องเป็นโครงการที่ทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

"เราไปสร้างฝายชะลอน้ำซึ่งเป็นฝายกึ่งถาวรที่ทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภูเขาแต่ละลูกมีความต้องการฝายเป็นพันๆ แห่ง เราก็ทำมาตลอด ในพื้นที่หนึ่งซึ่งใกล้กับโรงงานที่ จ.ลำปาง มีการสร้างฝายชะลอน้ำจากต่อปีที่เคยเกิดไฟป่าปีละ 200 ครั้ง ปัจจุบันหลังจากเข้าไปทำฝายจำนวนมาก จำนวนไฟป่าเกิดเพียง 2-3 ครั้ง ซึ่งได้ผลมาก" มัทนากล่าว

CSR ที่ถูกต้องและเหมาะสมจึงไม่ได้อยู่เพียงการสร้างภาพที่สวยหรู แต่การทำ CSR ที่มุ่งเน้นตั้งแต่ภายในองค์กรไปสู่ภายนอกด้วยการทำอย่างจริงจังและยังยืนน่าจะตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้มากกว่า


[Original Link]