พม.เร่งดันกฎหมายใหม่หนุนองค์กรรับผิดชอบต่อสังคม
กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ขับเคลื่อน CSR สู่หน่วยงานภาครัฐ ธุรกิจและประชาชน เพื่อร่วมกันทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมเร่งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา พ.ศ... เป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงาน คาดเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่นักวิชาการเตือนการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมมีทั้งแท้และเทียม ต้องใช้วิจารณญาณพิจารณา
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา เรื่อง ธุรกิจและรัฐกับความรับผิดชอบต่อสังคม จัดโดยศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และหอการค้าไทย เพื่อเผยแพร่และสร้างความเข้าใจในแนวคิดหลักการเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาสังคม ในการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม โดยมีผู้บริหารองค์การธุรกิจ มูลนิธิ สมาคม องค์การสาธารณประโยชน์ หน่วยงานภาครัฐ และนักวิชาการ กว่า 300 คน เข้าร่วมสัมมนา
นพ.พลเดช กล่าวว่า เรื่อง การทำธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR-Corporate Social Responsibility เป็นกระแสความสนใจในภาคธุรกิจทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทย ภาคธุรกิจใหญ่ๆ มีความตื่นตัวมาก เพราะหากไม่ให้ความสำคัญ อาจจะถูกมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น โรงงานที่ผลิตสินค้าส่งออกต่างประเทศ มีการกดขี่ข่มเหง เอาเปรียบคนงาน ไม่มีหลักมนุษยธรรมต่างๆ อาจจะถูกบอยคอตสินค้า เป็นต้น ในส่วนภาคสังคม พม.ได้ตั้งศูนย์ฯ CSR ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและร่วมกับกระทรวงการคลังปรับปรุงระบบภาษีอากร เพิ่มขยายวงเงินลดหย่อนภาษีที่ได้จากการบริจาคของภาคธุรกิจ เพื่อให้เอื้อกับการบริจาคช่วยเหลือสังคม โดยได้รับผลตอบแทนในรูปภาษี และจ่ายภาษีลดลงวงเงินลดหย่อนภาษีจากการบริจาคที่ได้ขยายเพิ่มนั้นในส่วนภาษีบุคคลธรรมดา ขยายจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 20-30 ส่วนภาคธุรกิจขยายจากร้อยละ 2-3 เป็นร้อยละ 5 คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในเร็วๆ นี้
นพ.พลเดช กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมประชาสังคมเพื่อการพัฒนา พ.ศ.... ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริม CSR ของกระทรวงฯ คาดว่าจะออกเป็นกฎหมายได้ภายในเดือนตุลาคม ก่อนจะครบวาระของรัฐบาลชุดนี้ ทันทีที่ผ่านเป็นกฎหมายจะรีบตั้งคณะกรรมการ หรือบอร์ดระดับชาติ ขึ้นมาดูแล กำหนดกรอบทิศทางนโยบาย และยุทธศาสตร์ ในการส่งเสริม
“ถ้าพูดถึง CSR คนทั่วไปจะนึกถึงเรื่องการบริจาคเงินช่วยเหลือ แต่เป็นขั้นต้นมากๆ ภาคธุรกิจบางแห่งไม่ได้บริจาค แต่ช่วยเหลือสังคมอย่างอื่น เช่น การจัดพนักงานไปเป็นอาสาสมัครทำโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ปลูกป่า เก็บขยะ ก็ใช่ และยังมีกิจกรรมอื่นๆ ไปพัฒนาสังคมอีกหลากหลาย ฉะนั้น รูปแบบ CSR ในประเทศไทย ที่เหมาะสมกับสังคมไทย วัฒนธรรมไทย จะต้องช่วยกันพัฒนา สร้างสรรค์ขึ้นมา” นพ.พลเดช กล่าว
นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจบางแห่งอาจจะมีความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นหากเข้าระบบ CSR แต่ในความเป็นจริง สามารถประยุกต์ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เลย เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยว เมื่อจะล้างชามเพียงแต่ทิ้งเศษอาหารแยกออกไปก่อนล้างก็ถือว่ามีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว เพราะไม่ทำให้ท่อน้ำอุดตันแล้ว เป็นต้น อย่างไรก็ตาม CSR แบ่งได้เป็นทั้ง CSR แท้และเทียม ซึ่งจะต้องใช้วิจารณญาณในการพิจารณา โดย CSR แท้ เกิดจากจิตสำนึก ความสมัครใจยินดี โดยไม่มีใครบังคับทำเพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวม แต่บางแห่งอาจจะมีการบริจาคเงิน 1 ล้านบาท แต่มุ่งหวังประโยชน์ที่จะได้รับมากกว่าที่ลงทุน เป็นต้น
[Original Link]