4 พันธมิตรเปิดมิติใหม่ซีเอสอาร์
กสท ดีแทค โตโยต้า ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ ปลุกธุรกิจทั่วไทยตื่นตัวเสริมพลังความรู้ด้านซีเอสอาร์ รับกระแสเศรษฐกิจยุคใหม่ ด้วยการโรดโชว์ 75 จังหวัด ในรูปแบบแคมปัส หวังสร้างเครือข่าย Thai CSR พัฒนา CSR Agent กระจายอยู่ในทุกจังหวัด รวมกันไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน
นายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ หน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเรื่องซีเอสอาร์ (Corporate Social Responsibility) กล่าวว่า ทางสถาบันร่วมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดโครงการเสริมความรู้ซีเอสอาร์สู่ภูมิภาค หรือซีเอสอาร์ แคมปัสขึ้น เพื่อยกระดับความรู้ด้านบรรษัทบริบาลในไทย ด้วยการจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องใน 75 จังหวัดทั่วประเทศ โดยสถาบันจะเป็นผู้จัดเตรียมวิทยากรและหลักสูตรในการถ่ายทอดองค์ความรู้ซีเอสอาร์ที่ถูกต้องและเจาะลึก
การร่วมมือของ 4 พันธมิตร เรียกได้ว่าเป็นเครือข่ายที่เกิดขึ้นครั้งแรกในไทย เพราะเห็นว่าซีเอสอาร์มีความสำคัญ ที่ทุกองค์กรธุรกิจในขณะนี้ มีความตื่นตัวมากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจหน้าใหม่ที่เริ่มพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ด้วยการลองผิดลองถูก ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง ทำให้ขาดทิศทางที่แน่ชัดว่า กิจกรรมซีเอสอาร์หลักๆ ที่องค์กรควรทำคืออะไร และที่ไม่ควรทำคืออะไร
“เรื่องนี้ถือว่าใหม่สำหรับเมืองไทย หากต่างชาติเห็นเขาคงไม่เชื่อว่าไทยจะตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องซีเอสอาร์ และตรงนี้เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการสมานฉันท์ของสังคม” นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการฝ่ายซีเอสอาร์ ดีแทค กล่าว
สำหรับดีแทคจะนำแนวทางของโครงการทำดีทุกวัน ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมทำดีด้วยเทคโนโลยี ทำดีด้วยความรู้ และทำดีด้วยใจในการนำเสนอเป็นกรณีตัวอย่างซีเอสอาร์ แคมปัส ขณะที่ กสทจะจัดทำโครงการสร้างดีเอ็นเอ สำนึกต่อสังคม เพื่อปลุกจิตสำนึกแก่พนักงานในเรื่องการพัฒนาซีเอสอาร์ออกสู่ภายนอก
ส่วนรูปแบบกิจกรรมในโครงการดังกล่าว เป็นการฝึกอบรมโดยมีวิทยากรเป็นผู้บรรยาย ร่วมกับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หรือเวิร์กชอป พร้อมกรณีศึกษา ใช้เวลา 6 ชั่วโมงต่อการฝึกอบรม 1 ครั้งในแต่ละจังหวัด โดยผู้เข้าร่วมอบรมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ ผู้สนใจในแต่ละจังหวัดสามารถติดตามตารางเวลาการอบรม และเข้าร่วมอบรมได้ทางเว็บไซต์ csrcampus.com และตามสถานที่รับสมัครในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าทางสื่อต่างๆ
จากโครงการนี้ 4 พันธมิตรคาดว่าจะเป็นการสร้างเครือข่าย “Thai CSR” ที่มีโมเดลสอดคล้องกับสังคม นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ากิจกรรมซีเอสอาร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากห้องอบรมในแต่ละจังหวัดสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาซีเอสอาร์ท้องถิ่นในระดับชาติด้วย ที่สำคัญคือผลผลิตที่เป็นผู้ผ่านการอบรมจากโครงการจะมีโอกาสพัฒนาเป็น CSR Agent กระจายอยู่ในทุกจังหวัด รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน
[Original Link]