ดีแทคควงพันธมิตรปั้นซีเอสอาร์วิถีล้านนา
ดีแทคจับมือสถาบันไทยพัฒน์ โตโยต้า และ กสท โทรคมนาคม จัดสัมมนา ซีเอสอาร์ กับพลังความดี เพิ่มพื้นที่กิจกรรมดี ลดวิกฤตสังคม เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมาที่จังหวัดเชียงใหม่ หวังสร้างรากฐานซีเอสอาร์วิถีล้านนา ตามเป้าหมายซีเอสอาร์ แคมปัสทั่วไทย ครบทั้ง 4 ภาค 76 จังหวัด
นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการฝ่ายซีเอสอาร์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทคได้ปูพื้นก่อนวันจัดสัมมนาด้วยการลงพื้นที่ ด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์กีฬาและหนังสือพระราชกรณียกิจ ตลอดจนตำราที่ทรงคุณค่าทางวิชาการชุดใหญ่ให้แก่ห้องสมุดโรงเรียนในท้องถิ่นโดยรอบเป็นจำนวนถึง 11 โรงเรียนโดยในบางโรงเรียนยังไปกับความบันเทิงของการแสดงดนตรีจากทีมงานในพื้นที่
นอกจากนั้นก่อนหน้าวันจัดสัมมนาประมาณ 2 สัปดาห์ ยังได้มีพิธีมอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 10 ทุนๆละ 10,000 บาท จากโครงการทำดีทุกวันของดีแทค รณรงค์ให้เยาวชนได้ตระหนักในการทำความดีอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ส่งเสริมการเล่นกีฬา ห่างไกลจากอบายมุข โดยกิจกรรมที่เปิดตัวมาตั้งแต่ต้นปีซึ่งครอบคลุมและเสริมสร้างการทำดีในทุกภาคส่วนของสังคมมากกว่า 30 กิจกรรม เช่น กิจกรรมเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด โทร.สะสมความดี ทำดีเพื่อบ้านคุณ ดวงตาเพื่อดวงใจ สินค้าชุมชน หรือ 1677 เลขหมายแห่งการทำดีเพื่อให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือโทรแจ้งเป็นที่พึ่งได้ 24 ชั่วโมง
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการสัมมนา นอกจากจะเป็นการถักทอเครือข่าย Thai CSR ซึ่งมีโมเดลที่สอดคล้องกับภูมิสังคมแล้ว กิจกรรมซีเอสอาร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นจากห้องสัมมนาและปฏิบัติการในแต่ละจังหวัด ยังสามารถใช้เป็นกรณีศึกษาซีเอสอาร์ ท้องถิ่นในเวทีระดับชาติ และที่สำคัญ ผลผลิตที่เป็นผู้ผ่านการสัมมนาจากโครงการ จะมีโอกาสพัฒนาจนเป็น CSR AGENT กระจายอยู่ในทุกจังหวัด รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน ของเครือข่ายความดีจาก 4 องค์กร’
ด้านนายพิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ หน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องซีเอสอาร์ได้กล่าวถึงการก่อตั้งโครงการซีเอสอาร์ แคมปัสไว้ว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับความรู้ด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Social Responsibility หรือ CSR) ในประเทศไทยด้วยความรู้ซีเอสอาร์ที่ถูกต้องและเจาะลึกจากการจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้แก่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ
ส่วนผลการสัมมนาที่ผ่านมาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่าการร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นนโยบายซีเอสอาร์ที่ชาวอีสานเห็นว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการมากที่สุดถึง 44% รองลงมาคือ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (23 %) และอันดับ 3 คือการประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม (17%) ที่เหลือเป็นเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติแรงงานอย่างเป็นธรรม (9%) และการกำกับดูแลกิจการหรือบรรษัทภิบาล (7%)
โดยสามารถรวบรวมประเด็นซีเอสอาร์ในสังคมอีสานได้ทั้งสิ้น 5 กลุ่ม ได้แก่ เรื่องข้าวและเกษตรอินทรีย์ การฟื้นฟูแหล่งผลิตและอารยธรรมดั้งเดิม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาเมืองและชุมชนน่าอยู่ และการแก้ไขภาวะโลกร้อน
ภาคเหนือ ปั้นซีเอสอาร์วิถีล้านนา
แนวนโยบายซีเอสอาร์ภาคเหนือ ผลจากการระดมสมองพบว่า การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นนโยบายซีเอสอาร์ที่ชาวเหนือเห็นว่ามีความจำเป็นต้องดำเนินการมากที่สุดถึง 46% รองลงมาคือ การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม (26%) และอันดับ 3 คือการประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม (14%) ที่เหลือเป็นเรื่องของการเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติแรงงานอย่างเป็นธรรม (10%) และการกำกับดูแลกิจการหรือบรรษัทภิบาล (4%)
นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ กล่าวในนามของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการเสวนาเรื่องซีเอสอาร์กับพลังความดี เพิ่มพื้นที่กิจกรรมดี ลดวิกฤตสังคมว่า แม้จะเพิ่งได้ยินคำว่าซีเอสอาร์ ซึ่งถือว่าเป็นคำใหม่ แต่โดยเนื้อหาแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่ ตัวอย่างหนึ่งของซีเอสอาร์ในระดับธุรกิจ คือ การให้ความรู้แก่พนักงานในองค์กรให้รู้จักวิธีบริหารจัดการเงิน เพราะกว่า 70-80% ของลูกจ้าง มีการใช้เงินในอนาคตจากบัตรเครดิตที่ก่อให้เกิดภาระหนี้สินทบต้นมากมาย ซีเอสอาร์ เป็นเสมือนกระจกสะท้อนให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำให้เขามีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งตนเองได้ ส่วนตัวอย่างของซีเอสอาร์ในระดับสังคม คือ การฟื้นฟูวัฒนธรรมล้านนาของชาวเชียงใหม่ที่เป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีอ่อนน้อมถ่อมตนให้คงอยู่กับสังคมเชียงใหม่
นายเฉลิมพล แซมเพชร ประธานภาคีคนฮักเจียงใหม่ ในฐานะขององค์กรภาคประชาชน ที่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ 46 องค์กร กล่าวว่า ผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ ควรคำนึงถึง 3 องค์ประกอบในการประกอบการทั้งในด้านเศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของสังคม ให้มีความสมดุลซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดความสุข
รศ.สดศรี เผ่าอินจันทร์ คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขยายความเรื่องซีเอสอาร์ให้เห็นว่าความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร ที่เรียกว่า ซีเอสอาร์นี้ ไม่ได้จำกัดเฉพาะภาคธุรกิจ แต่เป็นภารกิจของทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่ภาควิชาการ การนำซีเอสอาร์มาใช้เสริมสร้างพลังความดี เพิ่มพื้นที่กิจกรรมดี เพื่อลดวิกฤติสังคม ถือเป็นภาระเร่งด่วนที่ต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ
ซีเอสอาร์ต้องเกิดจากเนื้อแท้ ไม่ใช่การสร้างภาพ ไม่ใช่เครื่องมือทำการตลาด เพื่อให้สินค้าขายดี หรือใช้ปั้นตัวเลขรายได้ ซีเอสอาร์จะต้องเกิดจากความริเริ่มที่จะแบ่งปันสิ่งดีๆ สู่สังคมตั้งแต่ทีแรก การได้มาซึ่งการยอมรับหรือการเพิ่มขึ้นของยอดขายผลิตภัณฑ์นั้นเป็นผลพลอยได้ตามมา
"หัวใจของการทำซีเอสอาร์ คือ การคำนึงถึงผู้อื่นเป็นที่ตั้ง"
นอกจากนี้ในการสัมมนาจะไม่เป็นเพียงการบรรยายความรู้ด้านวิชาการ หากแต่จะมีการนำกิจกรรมซีเอสอาร์ที่น่าสนใจขององค์กรชั้นนำในประเทศมานำเสนอเป็นตัวอย่าง ซึ่ง 3 องค์กรหลักในภาคเหนือที่นำรูปแบบซีเอสอาร์ขึ้นเวทีประกอบไปด้วย นายสมพล จันทร์ประเสริฐ ประธานคณะทำงานโครงการ CSR บริษัท กสท โทรคมนาคม นายวิเชียร พวงภาคีศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนส่งเสริมสังคม บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย และ นายพีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการฝ่ายซีเอสอาร์ ดีแทค
[Original Link]