สถาบันไทยพัฒน์ เติมเต็ม CSR ส่วนกลาง/ภูมิภาค
ทิศทางการดำเนินงานของภาคธุรกิจภายใต้แนวคิด “ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” หรือซีเอสอาร์ ซึ่งเป็นที่แพร่หลายอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น หากขาดซึ่งการวางกรอบและแนวทางการขับคลื่อนที่ดี ซีเอสอาร์ที่อยู่ระหว่างการผลักดันหรือนำเสนอออกสู่สาธารณะก็อาจไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์ “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ผู้อำนวยการ “สถาบันไทยพัฒน์” ให้ข้อมูลกับ “สยามธุรกิจ” ถึงการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เสมือนการเป็นพี่เลี้ยง ชี้แนะ ส่งเสริมและสนับสนุนให้ซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจ สอดรับกับสถานการณ์ของแต่ละองค์กร และบริบทสภาพแวดล้อมของสังคมไทย
บทบาทและหน้าที่ของสถาบันไทยพัฒน์
แรกเริ่มเดิมทีของการก่อตั้งในปี 2542 ยังมีสถานะเป็นเพียงชมรม ก่อนที่ 2 ปีต่อมาได้เปลี่ยนสถานภาพเป็นสถาบัน วัตถุประสงค์หลักจะครอบคลุม 4 เรื่องด้วยกัน คือ ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและธุรกิจที่มีบรรษัทบริบาลหรือความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการพัฒนางานวิจัยและสนับสนุนงานวิจัยทั้งสองเรื่องดังกล่าว รวมถึงงานคิดค้นเครื่องมือและกิจกรรมที่สนับสนุนการดำเนินงานทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและซีเอสอาร์
ตลอดจนการให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการนำเอาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเอกชน วิสาหกิจชุมชน และครัวเรือน เช่นเดียวกับให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจที่ต้องการสร้างบรรษัทบริบาลในองค์กร
สรุปแล้ว คือ สถาบันไทยพัฒน์ มีบทบาทและหน้าที่หลักในการวิจัย ให้คำปรึกษา และฝึกอบรม แก่หน่วยงานหรือองค์กรที่ตระหนักต่อเรื่องทั้งสองข้างต้น โดยไม่อิงกระแสทุนนิยม แต่จะเป็นไปตามแนวทางพุทธเศรษฐศาสตร์เป็นสำคัญ
มุ่งสู่ศูนย์กลางองค์ความรู้ “ซีเอสอาร์”
ในช่วงหลังมานี้ แม้ภาคธุรกิจได้นำแนวคิดเรื่องซีเอสอาร์เข้ามาปรับใช้ในองค์กรกันอย่างแพร่หลาย ขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้ก็ยังกระจัดกระจาย อยู่ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันจึงได้พัฒนาโครงการและจัดทำ “แผนแม่บทซีเอสอาร์” (CSR Master Plan) ขึ้นในปี 2548 ซึ่งในช่วง 2 ปีแรก จะเน้นในเรื่องการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และกระบวนการจัดการให้เชื่อมโยงประสานกันไปอย่างมีทิศทางและกลุยุทธ์
โดยได้จับมือร่วมกับองค์กรธุรกิจชั้นนำ 7 แห่ง และวิสาหกิจอีก 13 แห่ง ภายใต้การสนับสนุนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กระทั่งได้องค์ความรู้ในเรื่องซีเอสอาร์ที่สมบูรณ์ สามารถนำไปปฎิบัติใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และในช่วงกลางปีที่แล้ว สถาบันฯ ได้ต่อยอดโครงการ ด้วยการจับมือร่วมกับ 3 องค์กร โตโยต้า ดีแทค และ CAT จัดโครงการ “CSR Campus” ส่งผ่านความรู้ความเข้าใจเรื่องซีเอสอาร์ ไปยังผู้บริหาร พนักงาน และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ
โรด์โชว์ขยายแนวร่วมท้องถิ่นทั่วประเทศ
ต้องไม่ปฏิเสธว่า การเข้าถึงหรือการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อเรื่องนี้ยังไม่กระจายไปในวงกว้างเท่าที่ควร ซึ่งโครงการดังกล่าวที่จะเดินสายสัมมนาและฝึกอบรมในทุกพื้นที่ 75 จังหวัดทั่วประเทศนั้น ไม่เพียงแต่เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจ และตระหนักในการเข้ามามีบทบาทของชุมชนแล้ว ในทางกลับกันก็จะได้รับทราบข้อมูลเรื่องซีเอสอาร์ของแต่ละภูมิภาคไปพร้อมๆ กัน เพราะเราจะทำการสำรวจความคิดเห็น และความรู้สึกในเรื่องนี้ควบคู่กันไป
"แม้การรับรู้ในเรื่องซีเอสอาร์อาจเป็นของใหม่ในทุกภูมิภาค แต่ก็ใช่ว่าภาคธุรกิจหรือภาคประชาสังคมจะไม่ได้แสดงบทบาทหรือการมีส่วนร่วมเลย เพราะหลากหลายกิจกรรมที่แต่ละพื้นที่ดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูวัฒนธรรมท้องถิ่นหรือเมืองโดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เหล่านี้ล้วนมีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง"
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่า การผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะกระบวนการซีเอสอาร์ภายนอกองค์กร ที่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากนั้น ในภาวการณ์ทางเศรษฐกิจผันผวนเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้องค์กรภาคธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี อาจละเลยและมองข้ามความสำคัญ
"คีย์แมน-พนักงาน" ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
แต่แท้จริงแล้ว ข้อจำกัดที่ว่าจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานแม้แต่น้อย เพราะสามารถจัดทำภายใต้กระบวนการจากภายในองค์กรเอง ซึ่งแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กรได้ไม่มากก็น้อย
แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ ในระดับคีย์แมนหรือผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการวางกรอบนโยบายปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน แนวทางที่สามารถหยิบยกมาใช้ได้เลย ก็จะมีทั้งการประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม เคารพในสิทธิมนุษยชนของพนักงาน ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค หรือแม้แต่โครงการประหยัดพลังงาน เป็นอาทิ
และสิ่งสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ การสร้างเวทีให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วม เพราะมีจำนวนไม่น้อย ที่มุ่งแต่การทำกิจกรรมภายนอกองค์กรเป็นหลัก แต่กลับไม่ใส่ใจต่อบุคลากรภายในองค์กร หรือการไม่เปิดโอกาสให้เข้ามามีบทบาท หากเดินไปในทิศทางนี้ก็น่าจะไม่ใช่เป็นแนวทางซีเอสอาร์ที่ถูกต้องนัก เพราะจะทำให้ขาดพลังและเอกภาพในการขับเคลื่อน
"พัฒนาการซีเอสอาร์ของคนไทยถือว่าอยู่ในขั้นก้าวหน้าในระดับเอเชีย ทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ แต่ในจำนวนนี้ ก็มักจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศ แต่สำหรับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีนั้น แม้หน่วยงานภาครัฐคาดการณ์ว่าในปีนี้น่าจะมีประมาณ 100 โรงงาน แต่ก็ยังมีอีกมากที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งหากมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน ก็มีอีกหลายแนวทางที่สามารถกระทำได้ ทั้งการรณรงค์ หรือจัดโครงการมอบรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อการกุศล เป็นต้น"
[Original Link]