Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR ถิ่นล้านนา


เมื่อคราวที่แล้วได้พูดถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ในสังคมอีสาน 19 จังหวัด ที่โครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค (CSR Campus) โดยสถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม,ดีแทค,โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย สำหรับผลการระดมสมองเพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนา CSR ในสังคมภาคเหนือ สามารถรวบรวมได้ทั้งสิ้น 4 ประเด็น ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเกษตรปลอดภัย

CSR ที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอยู่ด้วยกัน 6 จังหวัด ได้แก่ “โครงการคืนน้ำใสให้กว๊านพะเยา” ของ จ.พะเยา ที่ต้องการเห็นคุณภาพน้ำของกว๊านพะเยาดีขึ้น ชุมชนจะได้ใช้น้ำที่มีคุณภาพ และสามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ “โครงการป่าเขียว น้ำใส สานใจเพื่อแม่” ของ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นโครงการที่จะจัดกิจกรรมให้คนในจังหวัดได้ช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่าในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค. ของทุกปี โดยเฉพาะป่าต้นน้ำเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน “โครงการปลูกป่าไม้สัก” ของ จ.แพร่ ในพื้นที่ของจังหวัดเพื่อป้องกันน้ำท่วม (ภัยธรรมชาติ) เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและช่วยลดโลกร้อน อีกทั้งยังเป็นไม้เศรษฐกิจที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต

“โครงการรวมน้ำใจ นำน้ำใส สู่หริภุญชัย” ของ จ.ลำพูน ที่ต้องการสร้างฝายน้ำล้นตามแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัด มีกิจกรรมการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำธรรมชาติในเขตของแหล่งต้นน้ำ เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูน้ำหลากและปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลให้มีน้ำสะอาดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี “โครงการปั่นจักรยานลดโลกร้อน” ของ จ.น่าน ที่ต้องการรณรงค์ให้มีการใช้จักรยานไปทำงาน ไปโรงเรียน โดยให้หน่วยราชการของจังหวัดเป็นผู้นำให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ลดมลพิษทางอากาศ และส่งเสริมการออกกำลังกาย “การพัฒนาลุ่มแม่น้ำยมอย่างยั่งยืน” ของ จ.สุโขทัย ที่จะดำเนินการขุดลอกแม่น้ำยมตลอดสายจาก อ.ศรีสัชนาลัย ถึง อ.กงไกรลาศ และทำเขื่อนกั้นน้ำหรือประตูน้ำ เพื่อรักษาระดับน้ำในฤดูแล้ง ป้องกันการเกิดอุทกภัย และมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการเกษตร

สำหรับแนวทาง CSR ที่เน้นการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ “การอนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมล้านนา” ของ จ.เชียงราย ด้วยการแต่งกายล้านนาในทุกวันศุกร์ รณรงค์ให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่พูดจาภาษาถิ่น จัดให้มีถนนคนเมืองทุกเดือน และจัดให้มีการแสดงจากชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อสร้างให้เกิดความสำนึกรักถิ่นฐานและสืบสานวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่เมือง “โครงการเชียงใหม่เมืองน่าอยู่” ของ จ.เชียงใหม่ ที่ต้องการดูแลภูมิทัศน์เมืองด้วยการจัดระเบียบป้ายโฆษณาไม่ให้บดบังทัศนียภาพสถานที่เชิงศิลปวัฒนธรรม และให้มีรูปแบบที่บ่งบอกถึงความเป็นล้านนา รณรงค์ให้มีความรู้ในการคัดแยกและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงการลดใช้ถุงพลาสติก เพื่อให้เมืองเชียงใหม่สะอาดน่าอยู่

“การอนุรักษ์วิถีชีวิตชุมชนอำเภอปายให้น่าอยู่” ของ จ.แม่ฮ่องสอน ที่เน้นการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิม คงสภาพแวดล้อมและรักษาเสน่ห์ทางธรรมชาติของชาวแม่ฮ่องสอน รวมทั้งการยับยั้งปัญหามลพิษจากธุรกิจท่องเที่ยว ฟื้นฟูชุมชนดั้งเดิมให้มีความเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันตามเศรษฐกิจพอเพียงและสำนึกรักบ้านเกิด “การย้ายถังบรรจุแก๊ส LPG ออกจากใจกลางเมือง” ของ จ.ลำปาง เพื่อให้คนในชุมชนในรัศมี 30 กม. มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และไม่เกิดความวิตกกังวล

จังหวัดที่เน้นแนวทาง CSR ในเรื่องท่องเที่ยว ได้แก่ “เยือนเมืองตาก รักษ์เมืองตาก” ของ จ.ตาก โดยการนำเที่ยวในเส้นทางรอบๆ ตัวเมืองตากด้วยรถรางหรือรถประหยัดพลังงาน เพื่อให้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวและประวัติความเป็นมาของจังหวัดตาก “กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ของ จ.พิษณุโลก ที่เน้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศ สร้างให้เกิดการเผยแพร่ขนบประเพณี วัฒนธรรมที่ดีของชาวพิษณุโลก อีกทั้งเป็นการร่วมกันพัฒนาธรรมชาติของจังหวัด

“เมืองฝัน เมืองมหัศจรรย์แห่งปัญญา และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” ของ จ.อุตรดิตถ์ ที่มีแนวคิดในการจัดคาราวานท่องเที่ยวแบบครอบครัวในสถานที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัด เช่น เขื่อนสิริกิติ์ วนอุทยานสักใหญ่ และด่านชายแดนไทย-ลาว มีการรวบรวมข้อมูลของดีเมืองอุตรดิตถ์เผยแพร่สู่ภายนอกในระดับประเทศ รวมทั้งมีการปลูกจิตสำนึกให้มีส่วนร่วมและรักชุมชนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้ยั่งยืน “รักษ์ถิ่นอุทัยร่วมกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” ของ จ.อุทัยธานี ที่มีเป้าหมายในการอนุรักษ์ประเพณี สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และมีแนวคิดในการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งทางบก (แรลลี่เปิดประตูสู่อุทัย) และทางน้ำ (ล่องเรือชมธรรมชาติตามลำน้ำสะแกกรัง)

ส่วนจังหวัดที่ต้องการใช้ CSR ในการรณรงค์เรื่องเกษตรปลอดภัย ได้แก่ “เกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี” ของ จ.กำแพงเพชร ด้วยการจัดทำโครงการให้ความรู้ด้านกระบวนการผลิต การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต และการลดการใช้สารเคมีแก่เกษตรกร รวมทั้งการให้การรับรองมาตรฐานโดยหน่วยราชการ ตลอดจนการรับซื้อผลผลิตที่ได้มาตรฐานโดยองค์กรธุรกิจ ทำให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย และเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “เกษตรปลอดภัย กำไรสู่สังคม” ของ จ.พิจิตร เพื่อให้ความรู้กระบวนการทำเกษตรปลอดภัย (อินทรีย์) โดยการอบรม ศึกษาดูงาน สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดหาทุนสนับสนุน เสริมสร้างเครือข่ายในการทำงาน/รวมกลุ่ม และพัฒนาองค์ความรู้การเกษตรปลอดภัย/ธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้ได้อาหารที่ปลอดภัย (From Farm to Table) ลดโรคภัยไข้เจ็บจากสารเคมี และสุขภาพของประชาชนดีขึ้น

สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่อยู่ในภาคกลาง ปลายเดือนสิงหาคมนี้ คณะวิทยากรจากสถาบันไทยพัฒน์ จะเดินสายเปิดห้องเรียนและค้นหาโมเดล CSR ในภาคกลาง 8 จังหวัด สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ csrcampus.com


[Original Link]