Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

จับประเด็นซีเอสอาร์ 3 ภูมิภาค (อีสาน-เหนือ-ใต้)

พร้อมระดมสมอง CSR Campus ภาคกลาง ก.ย. นี้


นับจากที่ บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) บจ. โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค (CSR Campus) ออกเดินสายจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ “บรรษัทบริบาล” (Corporate Social Responsibility – CSR) แก่บรรดานักธุรกิจ ผู้ประกอบการ พนักงานบริษัทห้างร้าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา บัดนี้โครงการ CSR Campus ได้ดำเนินการคืบหน้ามากว่า 80% แล้ว โดยได้ตระเวนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 19 จังหวัด มายังภาคเหนือ 16 จังหวัด และลงสู่ภาคใต้ 14 จังหวัด รวมทั้งบางส่วนของภาคกลางอีก 14 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 63 จังหวัด ซึ่งผลจากการระดมสมอง CSR ในแต่ละจังหวัดผ่านโมเดล CSR Campus สามารถจำแนกประเด็น CSR เป็นรายภูมิภาค ได้ดังนี้

ภาคอีสานเน้น ‘อาชีพ-แหล่งผลิต’
ในสังคมอีสานมีแนวทาง CSR อยู่ดัวยกัน 5 กลุ่ม ได้แก่ เรื่องข้าวและเกษตรอินทรีย์ การฟื้นฟูแหล่งผลิตและอารยธรรมดั้งเดิม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาเมืองและชุมชนน่าอยู่ และการแก้ไขภาวะโลกร้อน โดยจังหวัดที่เสนอแนวทาง CSR ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องข้าวและเกษตรอินทรีย์มีอยู่ด้วยกัน 5 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ชัยภูมิ จังหวัดที่มีแนวทาง CSR ที่เน้นคุณค่าของแหล่งผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ สกลนคร มหาสารคาม เลย อำนาจเจริญ ส่วนจังหวัดที่เน้นแนวทาง CSR ในเรื่องท่องเที่ยว ได้แก่ นครพนม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู สำหรับจังหวัดที่ต้องการใช้ CSR ในการพัฒนาเมืองและชุมชนให้น่าอยู่ ได้แก่ หนองคาย นครราชสีมา มุกดาหาร ขอนแก่น และแนวทาง CSR ของจังหวัดที่เกาะกระแสโลกร้อนและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อุดรธานี

ภาคเหนือเลือก ‘ธรรมชาติ-ศิลปวัฒนธรรม’ เป็นโมเดลล้านนา
แนวทาง CSR ของจังหวัดในภาคเหนือ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และเกษตรปลอดภัย โดยแนวทาง CSR ของจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอยู่ด้วยกัน 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ ลำพูน น่าน สุโขทัย สำหรับจังหวัดที่มีแนวทาง CSR ที่เน้นการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตและศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง จังหวัดที่เน้นแนวทาง CSR ในเรื่องท่องเที่ยว ได้แก่ ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ส่วนจังหวัดที่ต้องการใช้ CSR ในการรณรงค์เรื่องเกษตรปลอดภัย ได้แก่ กำแพงเพชร พิจิตร

ภาคใต้ชูสังคม ‘สะอาด-น่าอยู่’
ในภาคใต้ ปรากฏว่ามีประเด็น CSR ที่แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ประเด็นเรื่องความสะอาด-การจัดการขยะ และประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิต-สภาพแวดล้อม โดยจังหวัดซึ่งมีแนวทาง CSR ที่เกี่ยวข้องกับความสะอาดและการจัดการกับขยะมีด้วยกันถึง 8 จังหวัด ได้แก่ ตรัง ยะลา ภูเก็ต พังงา นครศรีธรรมราช สงขลา ระนอง ปัตตานี ส่วนจังหวัดที่เน้นแนวทาง CSR ในเรื่องคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมมีอยู่ด้วยกัน 6 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส กระบี่ ชุมพร พัทลุง สตูล สุราษฎร์ธานี

ระดมสมองในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ก.ย. นี้
สำหรับในภาคกลาง คณะวิทยากรจากสถาบันไทยพัฒน์ จะออกเดินสายค้นหาโมเดล CSR ในอีก 7 จังหวัด ได้แก่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ณ ห้องไกรลาศ โรงแรมหัวหินแกรนด์ แอนด์ พลาซ่า ในวันจันทร์ที่ 8 กันยายน, จ.เพชรบุรี ณ ห้องดวงตะวัน โรงแรมลองบีชชะอำ และจ.นนทบุรี ณ ห้องจามจุรี โรงแรมทีเค.พาเลช ในวันอังคารที่ 9 กันยายน, จ.สมุทรสงคราม ณ ห้องประชุม บ้านท้ายหาดรีสอร์ท และจ.ปทุมธานี ณ ห้องบัวหลวง ชั้น 10 โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต ในวันพุธที่ 10 กันยายน, จ.สมุทรสาคร ณ ห้องภูฟ้า โรงแรมเซ็นทรัล เพลส และจ.อยุธยา ณ ห้องอโยเดียร์ โรงแรมอโยธยา โฮเทล ในวันพฤหัสบดีที่ 11กันยายน

ทั้งนี้ กองคาราวาน CSR Campus จะมาจัดงานสัมมนาใหญ่ที่ จ.นครสวรรค์ ณ ห้องสัณหวาจา โรงแรมพิมาน ในวันศุกร์ที่ 12 กันยายน โดยจะมีการนำเอาบทสรุปของ 21 จังหวัดภาคกลาง มารายงานต่อที่ประชุมสัมมนานี้ สำหรับนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมงาน สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ csrcampus.com


ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณปิยเลขา ไหล่แท้ และ คุณจินตนา จันสน
โทรศัพท์ 02 930 5227 โทรสาร 02 930 5228