เจาะข้อมูล CSR ลุ่มเจ้าพระยา
หลายจังหวัดในประเทศไทยขณะนี้ กำลังประสบภาวะน้ำท่วมหนัก ครัวเรือนหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายมาก และคงต้องใช้เวลานานกว่าที่จะฟื้นสู่สภาพปกติ ก็อยากจะขอหน่วยราชการซึ่งต้องดูแลรับผิดชอบให้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ และอยากเชิญชวนให้ภาคเอกชนที่มีทรัพยากรและมีกำลังเหลือจากการประกอบธุรกิจเข้ามาร่วมกันช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง
การเข้าช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยดังกล่าว ถือว่าเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) รูปแบบหนึ่ง ที่จัดอยู่ในชนิดของการบริจาค (Philanthropy) เงิน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ที่เมื่อดูจากผลการสำรวจวิจัยของสถาบันไทยพัฒน์ในการลงพื้นที่ 75 จังหวัดทั่วประเทศ จะพบว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของสัดส่วนกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจในประเทศไทย
กรณีของจังหวัดในภาคกลางที่สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (ดีแทค) และบจ. โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ออกตระเวนเดินสายเปิดเวทีสัญจรในพื้นที่ทั้ง 25 จังหวัด (รวมภาคตะวันออก) ก็ได้ค้นพบประเด็นซีเอสอาร์ที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นเช่นกัน
เนื่องจากภาคกลางมีบทบาทต่อเศรษฐกิจส่วนรวมของประเทศเป็นอันดับหนึ่ง โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์ภาคมีสัดส่วนถึงร้อยละ 46.2 ของผลิตภัณฑ์ประเทศ และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่ภาคอื่นๆ คือ เฉลี่ยถึงร้อยละ 7.8 ต่อปี แต่ภาคกลางก็มีปัญหาสำคัญในเรื่องความไม่สมดุลและยั่งยืนของการพัฒนา มีความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่สูง และต้องเผชิญกับผลกระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง
ทั้งนี้ ผลการระดมความคิดเพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนาซีเอสอาร์ของกลุ่มจังหวัดภาคกลาง ที่จะแบ่งการนำเสนอออกเป็น 6 กลุ่มจังหวัด เริ่มจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 ที่เน้นหนักในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ โดย จ.นนทบุรี เสนอให้มีการจัดทำโครงการรักษ์นนท์รักสิ่งแวดล้อม จ.ปทุมธานี ต้องการคืนน้ำใสให้ปทุม จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ความสำคัญกับกิจกรรม 5 ส (สะดวก สะอาด สะสาง สุขลักษณะ สร้างนิสัย) และ จ.สระบุรี ต้องการสร้างความเข้มแข็งและเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 เน้นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการบริโภค เริ่มที่ จ.ชัยนาท เสนอให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (โครงการดูดาวเผามัน) จ.ลพบุรี เน้นเรื่องอาหารปลอดภัย จ.สิงห์บุรี มุ่งเน้นการให้ความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและภูมิปัญญาชาวบ้านในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ จ.อ่างทอง เสนอเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ
สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูธรรมชาติ การเกษตร และแหล่งท่องเที่ยว โดย จ.สมุทรปราการ ได้เสนอกิจกรรมลดโลกร้อนสัญจร มอบความรู้สู่ชุมชน จ.ฉะเชิงเทรา ต้องการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวลุ่มน้ำบางปะกงแบบบูรณาการ จ.ปราจีนบุรี เน้นรณรงค์เรื่องการเกษตรดี มีมาตรฐาน จ.สระแก้ว ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงวัฒนธรรม และเชิงนิเวศน์ และ จ.นครนายก เสนอกิจกรรมการ (นั่งเกวียน) ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการรักษ์ธรรมชาติ
ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 เน้นประเด็นเชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์ และชุมชน โดยที่ จ.นครปฐม มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สายน้ำและปลูกป่า จ.ราชบุรี ต้องการเป็นเมืองสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน จ.กาญจนบุรี ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และ จ.สุพรรณบุรี เสนอให้มีการจัดการศึกษาเพื่อชุมชน
ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 2 มุ่งประเด็นไปที่การอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยวและธรรมชาติ โดย จ.เพชรบุรี เสนอเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการมีส่วนร่วม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็เสนอประเด็นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สร้างความเข้มแข็งแบบมีส่วนร่วมเช่นกัน ส่วน จ.สมุทรสาคร เสนอให้จัดทำโครงการรักษ์สาคร และ จ.สมุทรสงคราม เสนอโครงการแม่กลองคลองสวย
และในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก มีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ โดย จ.ชลบุรี ต้องการรณรงค์เรื่องกินเที่ยวอยู่อย่างปลอดภัย จ.ระยอง เน้นหนักเรื่องการคืนปอดให้ชาวระยอง จ.จันทบุรี ต้องการให้มีความดื่มด่ำกับธรรมชาติ อาหารปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และ จ.ตราด มุ่งเน้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ป่าชายเลน
โดยสรุปแล้วแนวทางการพัฒนาซีเอสอาร์ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางทั้ง 25 จังหวัด จะมุ่งเน้นไปที่การลดผลกระทบต่อสังคมและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากความไม่สมดุลและยั่งยืนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่พึ่งพิงกับภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินกว่าความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเดิม อีกทั้งยังก่อให้เกิดของเสียตามมา ทำให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ปัญหาขยะ ที่ส่งผลต่ออาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่
ภาพสะท้อนจากการระดมสมองชี้ให้เห็นว่า การมุ่งเน้นพัฒนาเพื่อให้พื้นที่มีการเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น ต้องแลกกับการเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติและผลพลอยได้ที่เป็นมลภาวะทั้งในทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งอาจไม่คุ้มกับมูลค่าทางเศรษฐกิจหรือรายได้ที่สูงขึ้นตามที่เห็นจริงก็ได้
[Original Link]