2 องค์ประกอบ CSR เชิงกลยุทธ์
ในฐานะผู้ขับเคลื่อน CSR ระดับประเทศ พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ให้มุมมองถึงเรื่องการทำ CSR ว่า หากมองพัฒนาการของ CSR ในปีที่ผ่านมาพบว่านอกจากธุรกิจให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว สิ่งที่องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ การพัฒนา CSR เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR ซึ่งมีองค์ประกอบ 2 ส่วนคือ การให้ความสำคัญกับความต้องการของสังคม (ฝั่งอุปสงค์) และการคำนึงถึงความเชี่ยวชาญขององค์กรในการตอบสนองต่อประเด็นทางสังคม (ฝั่งอุปทาน)
สำหรับองค์ประกอบแรกที่เป็นการสำรวจความต้องการของสังคม หรือชุมชนในพื้นที่ที่องค์กรต้องการเข้าไปดำเนินงานนั้น เป็นลักษณะของการวิเคราะห์ในแบบ Outside-In ซึ่งคล้ายกับการดำเนินงานทางธุรกิจ ที่องค์กรจำต้องสำรวจความต้องการของตลาดหรือกลุ่มเป้าหมาย ก่อนที่จะพัฒนาหรือลงมือผลิตสินค้าออกสู่ตลาด ด้วยเหตุนี้การดำเนินงาน CSR ที่มีการพิจารณาถึงปัญหาของชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง จะทำให้ได้มาซึ่งประสิทธิผล (Effectiveness) ที่สูงกว่าการที่องค์กรนึกอยากจะช่วยเหลือสังคม แล้วนำสิ่งของไปมอบให้
ในองค์ประกอบที่สองเป็นการสำรวจขีดความสามารถหรือทรัพยากรที่องค์กรมีอยู่ ว่าสามารถเข้าไปดำเนินงาน CSR นั้นได้ดีเพียงใด เป็นลักษณะของการวิเคราะห์ในแบบ Inside-Out ซึ่งคล้ายกับการวิเคราะห์ SWOT ในทางธุรกิจเพื่อกำหนดตำแหน่งและการสร้างความสำเร็จขององค์กร ด้วยการประเมินศักยภาพและความเชี่ยวชาญขององค์กรในการตอบสนองต่อประเด็นทางสังคมนี้ จะทำให้การดำเนินงานด้าน CSR ได้มาซึ่งประสิทธิภาพ (Efficiency) ที่สูงแก่สังคม
[Original Link]