Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

โครงการ


ESG Rating
หน่วยงาน ESG Rating ของสถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดทำรายการหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีการดำเนินงานโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) จำนวน 100 บริษัท หรือเรียกว่า กลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 นับตั้งแต่ปี 2558 จากการประเมินข้อมูลหลักทรัพย์ด้านการพัฒนาความยั่งยืนของธุรกิจครั้งแรกในประเทศไทย สำหรับรองรับความต้องการของผู้ลงทุนที่ให้น้ำหนักการลงทุนในบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และได้เพิ่มการจัดทำรายชื่อหลักทรัพย์ที่น่าลงทุน กลุ่มหลักทรัพย์ ESG Emerging ขึ้นในปี 2563 รวมทั้งรายชื่อบริษัทวิถียั่งยืนที่มีผลประกอบการพลิกฟื้น กลุ่มหลักทรัพย์ ESG Turnaround ขึ้นในปี 2566 โดยในระหว่างปี 2561 ได้คัดเลือกหลักทรัพย์ ESG100 มาจัดทำเป็น Thaipat ESG Index ซึ่งเป็นดัชนี ESG แรกในประเทศไทย ที่ใช้การคำนวณดัชนีด้วยวิธีถ่วงน้ำหนักหลักทรัพย์เท่ากัน (Equal Weighed Index) และมี S&P Dow Jones เป็นผู้คำนวณข้อมูลดัชนีและเผยแพร่ผ่านหน้าจอ Bloomberg และ Reuters ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วโลก

Sustainability Disclosure Community
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะ GRI Data Partner จัดตั้งเครือข่าย “Sustainability Disclosure Community” เพื่อส่งเสริมการเผยแพร่การดำเนินงานด้านความยั่งยืนของกิจการ ไปสู่การเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนที่ไม่จำกัดเฉพาะที่เป็นรูปเล่มรายงาน แต่ครอบคลุมไปสู่รูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ อินโฟกราฟิก ฯลฯ รวมทั้งการขับเน้นและรักษาบทบาทการเป็นผู้นำของภาคเอกชนไทย ต่อการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนทั้งในประชาคมระดับภูมิภาคและระดับสากล ตลอดจนการช่วยเหลือองค์กรในการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืนในระยะยาว

ESG Investing Partner
สถาบันไทยพัฒน์ ริเริ่มรูปแบบการลงทุนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG Investing) ด้วยนโยบายการลงทุนในบริษัทจดทะเบียนและหน่วยลงทุน ซึ่งผ่านเกณฑ์ด้าน ESG (Environmental, Social and Governance) โดยการประเมินของทีม ESG Rating ในสังกัดสถาบันไทยพัฒน์ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีผลตอบแทนรวม อีเอสจี ไทยพัฒน์ หรือ Thaipat ESG Index (Total Return) ซึ่งประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่คัดเลือกจากกลุ่มหลักทรัพย์ ESG100 ด้วยเรตติ้งโมเดลซึ่งตอบโจทย์ทั้งด้าน ESG และด้านผลตอบแทนแก่ผู้ลงทุน

Social Outcome Investment
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มโครงการลงทุนเพื่อผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Outcome Investment โดยเป็นการลงทุนระยะยาวผ่านกองทุน ESG เพื่อส่งมอบดอกผลให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization: CSO) ที่องค์กรผู้ลงทุนคัดเลือกเป็นคู่ความร่วมมือหรือหุ้นส่วนดำเนินงาน สำหรับนำไปใช้พัฒนาหรือแก้ไขปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุผลลัพธ์ทางสังคม ตามที่เห็นพ้องร่วมกัน

Social Dividend Project
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มโครงการปันผลเพื่อสังคม (Social Dividend Project) โดยมีวัตถุประสงค์ในการแปลงเงินบริจาค ให้เป็นเงินทุนตั้งต้น นำมาลงทุนกลับไปยังหุ้นสามัญขององค์กรผู้มอบเงินทุน เพื่อรับเงินปันผล สำหรับใช้สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือชุมชนเป้าหมายที่กำหนดร่วมกัน ระหว่างองค์กรผู้มอบเงินทุนกับสถาบันไทยพัฒน์ โดยใช้โมเดล Social Business สร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ในรูปแบบของการจัดหา (Procurement) สินค้าและบริการจากวิสาหกิจเพื่อสังคม/ชุมชน มาใช้ในกิจการ จากการจัดซื้อด้วยเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปี ผ่านทางโครงการในแบบต่อเนื่องและยั่งยืน แทนการใช้เงินบริจาคก้อนดังกล่าวหมดไปในคราวเดียว

Sustainability Store
สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาเครื่องมือขับเคลื่อนความยั่งยืนของกิจการใน 5 หมวด จากการสั่งสมประสบการณ์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับองค์กรธุรกิจนานกว่า 20 ปี มาบรรจุไว้ภายใต้ร้านความยั่งยืน (Sustainability Store) ได้แก่ การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework) การประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score) การวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report) การสร้างคุณค่าแห่งความยั่งยืน (S-Value) และการสร้างผลกระทบแห่งความยั่งยืน (S-Impact) เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนของกิจการ ในรูปของผลได้รวม (Total Benefit) จากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้อย่างรอบด้าน

Philanthropic Investments
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ก่อตั้งโครงการลงทุนสุนทาน (Philanthropic Investments) ในรูปแบบของการลงทุนในระยะยาว เพื่อหาดอกผล สำหรับนำไปใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือแก่สังคมในด้านต่างๆ โดยที่ทุนหรือเงินต้นยังคงอยู่ เป็นทางเลือกให้กับองค์กรผู้ลงทุนในการวางแผนการจัดสรรทุนหรือทรัพยากร สำหรับการให้ความช่วยเหลือสังคมได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2558 มีองค์กรธุรกิจชั้นนำ 6 แห่ง จับมือเป็นหุ้นส่วนการลงทุนสุนทาน ระดมเงินตั้งต้นกว่า 120 ล้านบาท เป็นทุนประเดิมเพื่อสะสมดอกผลจากการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ไปช่วยเหลือและพัฒนาสังคมในแบบยั่งยืน

Corporate SDG Index
สถาบันไทยพัฒน์ ริเริ่มโครงการจัดทำ ดัชนีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับองค์กร (Corporate SDG Index) โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจมีกรอบในการใช้ปรับแนวการดำเนินงานทางธุรกิจ ในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และมีส่วนในการตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่ระบุใน SDG ทั้ง 17 ข้อ อย่างเป็นระบบ และอยู่บนบรรทัดฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

SDG-Friendly Business
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจธุรกิจที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) ให้สามารถตอบสนองต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อย่างเป็นลำดับขั้นตอน ตามเอกสารแนวทางที่เป็นสากลของ UN Global Compact ที่ชื่อว่า Blueprint for Business Leadership on the SDGs แทนการดำเนินงานในรูปแบบกิจกรรม (Event) หรือเป็นโครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่แยกต่างหากจากกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-after-process) เพื่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง

Community-Friendly Business
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) สำหรับชุมชนอย่างยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนสถานะชุมชนจาก “ผู้รับมอบ” ความช่วยเหลือ มาเป็น “ผู้ส่งมอบ” ในห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งส่งเสริมให้วิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการ ให้สามารถยกระดับเป็นผู้ประกอบการในระดับชุมชน (Community Entrepreneur: CE)

Age-Friendly Business
สถาบันไทยพัฒน์ ริเริ่มโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการริเริ่ม นำร่องการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ (CSR-in-process) / วิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) สำหรับผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรที่มีรูปแบบดำเนินงานในเชิงธุรกิจแต่มีเป้าหมายเพื่อสังคม เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุที่เหมาะสมตามศักยภาพ

Child-Friendly Business
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ริเริ่มโครงการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับเด็ก ตามหลักการ “สิทธิเด็กและหลักปฏิบัติทางธุรกิจ” (Children’s Rights and Business Principles - CRBP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการยกระดับกิจกรรมความช่วยเหลือที่องค์กรธุรกิจดำเนินการแก่เด็กและเยาวชน จากแนวคิดบนฐานของการทำการกุศล (Charity-based) สู่การทำงานโดยใช้แนวคิดฐานสิทธิ (Rights-based) ในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) ที่ขับเคลื่อนด้วยกระบวนงานหลักทางธุรกิจ แทนการจัดกิจกรรมเฉพาะกิจเป็นรายครั้ง

โครงการประเมินการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของกิจการ
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ริเริ่มพัฒนาระบบประเมินการพัฒนาความยั่งยืน เพื่อช่วยยกระดับการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ในรูปของ CSR Progress Indicator และ Anti-corruption Progress Indicator ตามแผนพัฒนาความยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน ให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนสามารถนำผลการประเมินไปใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาแนวทางและมาตรการในการสนับสนุนการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกรอบหรือมาตรฐานที่เป็นสากล

โครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน
สถาบันไทยพัฒน์ ได้เป็นผู้พัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินให้กับโครงการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report Award) ที่ร่วมกันดำเนินงานโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ CSR Club สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสถาบันไทยพัฒน์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและยกระดับการจัดทำรายงานความยั่งยืนของบริษัททั้งในตลาดหลักทรัพย์ และนอกตลาดหลักทรัพย์ด้วยการประกาศรางวัลรายงานความยั่งยืนคลอบคลุมกลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กลุ่มบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์และกลุ่มบริษัทที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยกำหนดให้เป็นกิจกรรมหนึ่งในงานสัมมนา CSR Thailand ประจำปี

โครงการพัฒนาบริษัทจดทะเบียนด้านการจัดทำรายงาน CSR
สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนเปิดเผยข้อมูลด้านความรับผิดต่อสังคมให้ผู้มีส่วนได้เสียรับทราบ จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาบริษัทจดทะเบียนด้านการจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR Report สำหรับการจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมประจำปี 2556 ขององค์กร ตามกรอบการรายงาน CSR ขั้นพื้นฐานแบบบูรณาการ หรือ Integrated CSR Reporting (iCSR)

โครงการแนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐาน ISO 26000
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะผู้ดำเนินโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค นับตั้งแต่ปี 2551 โดยมีพื้นที่การดำเนินงานครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการมาตรฐานแห่งชาติ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิก ISO ได้ริเริ่มโครงการแนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ในมาตรฐาน ISO 26000 และการนำไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบ ให้แก่สถานประกอบการในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รองรับการเปิดตลาดเสรีในระดับภูมิภาคอาเซียน และการค้าที่ให้ความสำคัญกับ CSR ในระดับสากล

โครงการ CSR DAY for DIRECTORS
สถาบันไทยพัฒน์ ร่วมกับ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม ริเริ่มโครงการ CSR DAY for DIRECTORS สำหรับกรรมการและผู้บริหารระดับสูงของกิจการ เพื่อนำเสนอหลักการความรับผิดชอบต่อสังคม และแนวทางเชื่อมโยงสู่ทิศทางขององค์กร ตลอดจนการจัดทำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างได้ผลและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของกิจการ

โครงการสมัชชาคุณธรรม ปี 2553
สถาบันไทยพัฒน์ ได้เข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินโครงการสมัชชาคุณธรรม ของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ในกลุ่มองค์กรศาสนาและกลุ่มองค์กรธุรกิจ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับอีก 4 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา

โครงการ Young CSR 4 ภาค
สถาบันไทยพัฒน์ ได้จัดเวที Young CSR 4 ภูมิภาค ร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ให้แก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ทายาทนักธุรกิจ นักศึกษา และผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการสังคม เพื่อสอดแทรกเรื่องหน้าที่พลเมืองก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานและโลกธุรกิจ รวมถึงการค้นหารูปแบบของกิจกรรม CSR เชิงสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และเพื่อสะท้อนมุมมอง CSR จากผู้แทนในภาคธุรกิจเอกชนที่ดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมในระดับประเทศให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นที่สนใจทั้ง 4 ภาค

โครงการ CSR Day เฟส 1 : เฟส 2 : เฟส 3 : เฟส 4 : ปีปัจจุบัน
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ก่อตั้งโครงการ CSR Day ร่วมกับ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม เพื่อรณรงค์ให้องค์กรธุรกิจได้จัดกิจกรรม CSR DAY ขึ้น “ในสถานประกอบการ” โดยมุ่งให้เกิด “กระบวนการมีส่วนร่วมของพนักงาน” ในกิจกรรม CSR ขององค์กร และมีเป้าประสงค์ที่จะทำให้ “ทุกๆ วันของการทำงาน เป็นวัน CSR”

โครงการจัดทำข้อเสนอนโยบายการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม
สถาบันไทยพัฒน์ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เป็นผู้ดำเนินโครงการส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม ในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและให้ความรู้ CSR ภายใต้แผนงานพัฒนางานการบูรณาการกลไกการจัดสวัสดิการสังคมขององค์กรภาครัฐ เอกชน และชุมชน ตามนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและการจัดสวัสดิการสังคมเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการจัดทำและผลักดันนโยบาย CSR ให้เป็นที่รับรู้ในวงสาธารณะ

โครงการ CSR Campus ปี 1 : ปี 2 : ปี 3
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ก่อตั้งโครงการส่งเสริมความรู้ CSR สู่ภูมิภาค หรือ CSR Campus ร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เพื่อจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้ความรู้เรื่อง CSR ให้แก่ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องใน 76 จังหวัด โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับความรู้ด้านบรรษัทบริบาลในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และค้นหาแนวทางการพัฒนากิจกรรมเพื่อสังคมให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

โครงการขับเคลื่อน CSR 4 ภูมิภาค
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อน CSR 4 ภูมิภาค ร่วมกับหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์ส่งเสริมธุรกิจเพื่อสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ด้วยการจัดเวทีส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจขึ้นใน 4 ภูมิภาคเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ที่จังหวัดภูเก็ต และภาคกลางที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ รวบรวมเป็นแผนงานด้าน CSR อันจะนำไปสู่การผสานพลังของการพัฒนาสังคมร่วมกันภายใต้เครือข่ายองค์กรธุรกิจท้องถิ่นทั่วไทย

โครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บท CSR
สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทซีเอสอาร์ (CSR Master Plan) ซึ่งเป็นเสมือนพิมพ์เขียวด้านบรรษัทบริบาลของหน่วยงาน เพื่อตอบสนองต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในวิธีการดำเนินธุรกิจ ที่จำต้องมีองค์ประกอบของซีเอสอาร์ภายในองค์กร และเพื่อให้ส่วนงานต่างๆ ขององค์กรได้มีกรอบในการดำเนินงานด้านบรรษัทบริบาลให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างมีกลยุทธ์ และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนการสร้างการรับรู้ในกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณชนอย่างเป็นเอกภาพ

โครงการวิจัยและให้คำปรึกษาการพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์
สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาโครงการวิจัยและให้คำปรึกษาการพัฒนาซีเอสอาร์เชิงกลยุทธ์ (Strategic CSR Development) โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะตอบคำถามหลักสองประการ ประการแรก คือ มีกิจกรรมใดบ้างที่องค์กรกำลังดำเนินอยู่แล้วนั้นเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์และกิจกรรมที่ว่านั้นจัดเป็นซีเอสอาร์ประเภทใด ประการที่สอง คือ จะมีเครื่องมือหรือวิธีในการวัดผลการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ที่มีอยู่ได้อย่างไร และจะปรับปรุงให้เสริมกับธุรกิจได้อย่างไร

โครงการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ
สถาบันไทยพัฒน์ ได้ดำเนินโครงการพัฒนา CSR ในกระบวนการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจ ในระยะที่ 1 (2548-2549) ร่วมกับองค์กรธุรกิจชั้นนำจำนวน 7 แห่ง และในระยะที่ 2 (2549-2551) ร่วมกับวิสาหกิจจำนวน 13 แห่ง ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาคุณลักษณะและองค์ประกอบของกิจกรรมซีเอสอาร์ และผลักดันให้เกิดการพัฒนาซีเอสอาร์ภายใต้บริบทของสังคมไทย ตลอดจนการสร้างเครื่องมือสำหรับการพัฒนาซีเอสอาร์ในกระบวนการธุรกิจ และสร้างแนวปฏิบัติสำหรับวิสาหกิจที่ต้องการนำเครื่องมือการพัฒนาซีเอสอาร์ดังกล่าวไปใช้ในองค์กรของตนเอง