4 แนวทาง CSR ฝ่าวิกฤตว่างงาน
"ในปีที่ผ่านมาเราจะเห็นว่าองค์กรธุรกิจมุ่งเน้นการทำกิจกรรม CSR ที่เน้นการช่วยแก้ปัญหาลดโลกร้อน แต่จากผลพวงของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นวันนี้ประเด็นทางสังคมเรื่องการว่างงานจะกลายมาเป็นประเด็นทางสังคมที่ธุรกิจจะต้องให้ความสำคัญ เพราะลำพังการแก้ปัญหาของภาครัฐยังคงเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงและไม่ได้มีการแก้ปัญหาในเชิงบูรณาการ"
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบัน ไทยพัฒน์ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่องค์กรธุรกิจจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ การแก้ปัญหาที่ไม่ได้หมายถึงการจ้างงานและทำให้ธุรกิจต้องรับภาระมากเกินกว่าที่ควรจะเป็น
"เราไม่ได้เน้นการจ้างงานเป็นหลัก เพราะในโลกของความเป็นจริงเราต้องยอมรับว่า การรักษาพนักงานไว้ทั้งหมดอาจจะไม่สามารถทำได้ในขณะที่ธุรกิจต้องประสบปัญหาจากวิกฤต"
ดังนั้นความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในความหมายที่ ดร.พิพัฒน์ กล่าวถึงจึงมุ่งไปที่การบริหารศักยภาพที่องค์กรมีอยู่เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเลิกจ้างมากที่สุด
เขาแนะนำแนวทางการทำ CSR ที่จะสามารถบรรเทาปัญหาและผลกระทบจากการเลิกจ้างไว้ใน 3 ระดับ
1.ในระดับองค์กร หากจำเป็นต้องปลดพนักงานควรส่งเสริมและพัฒนาทักษะของคนกลุ่มนั้นให้สามารถมีโอกาสในการทำงานในองค์กรอื่น
2.ระดับอุตสาหกรรม องค์กรธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันควรทำกิจกรรม CSR ร่วมกันในการถ่ายเทคนไปยังองค์กรอื่นที่ยังขาดแคลนบุคลากรในด้านนั้นอยู่ แทนที่จะผลักภาระให้เป็นของภาครัฐ
3.ทำความร่วมมือกับภาคี อาทิ ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการพัฒนาทักษะของบัณฑิตที่เพิ่งจบการศึกษา โดยเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ไม่ว่าธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ในการทำธุรกิจที่มุ่งตอบโจทย์สังคมเป็นหลัก และบริษัทอาจจะสามารถสร้างงานในการให้กลุ่มคนเหล่านี้ไปขับเคลื่อนกิจกรรม CSR ได้โดยที่เขาก็มีรายได้แต่ไม่ต้องผ่านระบบการจ้างงานของบริษัท
4.สร้างทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงการมีงานทำ โดยพัฒนาทักษะอาชีพผู้ว่างงานหรือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนและสังคม เพื่อให้เป็นซัพพลายเออร์ (suppliers) ในธุรกิจ ซึ่งเรียกว่า "ธุรกิจที่ไม่ปิดกั้น" (inclusive business) ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมโดยที่ธุรกิจไม่ต้องจ้างงาน
"สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจสามารถมีส่วนร่วมบรรเทาปัญหาการว่างงานได้ เป็นการ บริหารศักยภาพองค์กรที่มีอยู่เดิม โดยไม่ต้องสร้างกิจกรรมเพื่อสังคมใหม่ ซึ่งเหมาะสมกับการบริหารงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดในภาวะเช่นนี้" ดร.พิพัฒน์กล่าวในที่สุด
[Original Link]