Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

CSR ขับเคลื่อนสังคมไทย แปลงวิกฤติเป็นโอกาส (1)

ศรัญยู ตันติเสรี

การขับเคลื่อนด้าน CSR (Corporate Social Responsibility) หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ (บรรษัทบริบาล) ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ได้มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ รูปแบบและวิธีการทำ CSR ได้มีการพัฒนาไปตามสภาวการณ์ในจังหวะย่างก้าวที่สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมมาตลอด

อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่า แล้วองค์กรที่เพิ่งเริ่มต้นหรือยังไม่ได้เริ่มการทำ CSR ในปีนี้จะเริ่มที่จุดไหนดี ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ในงานเสวนา “ทิศทางและวิสัยทัศน์ CSR ปี 2552” ซึ่งจัดขึ้นที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์, นินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย, วัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจากปิโตรเลียม และ พีระพงษ์ กลิ่นละออ ผู้อำนวยการสำนักงาน CSR ดีแทค

ไพบูลย์ บอกว่า เรื่องของความรับผิดชอบขององค์กรในบริบทสังคมไทยนั้น เป็นเรื่องทำได้ไม่ยากและไม่เพียงแต่องค์กรเท่านั้น แต่ทุกคนก็สามารถทำ CSR ได้ และหยั่งรากลึกลงสู่ครอบครัว หรืออาจเริ่มต้นจากครอบครัวที่แต่ละคนต่างก็มีความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน โดยเรื่องของความรับผิดชอบนั้น หลักง่ายๆ มีอยู่ 3 เสาหลัก ประกอบด้วย ความดี ความสามารถ และ ความสุข โดยเสาหลักแรก ความดีนั้นหมายถึงการที่คนหรือองค์กรต้องทำความดี เสาหลัก 2 ความสามารถ หมายถึง ความสามารถในการคิดและทำ รวมทั้งความสามารถในการจัดการ และเสาหลักที่ 3 ความสุข ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือองค์กร ถ้าสิ่งที่ทำนั้นไม่มีความสุขก็จะไปกัดกร่อนความสามารถและความดี

สำหรับความสุขนั้นยังประกอบไปด้วย 4 อย่าง ความสุขทางกาย ความสุขทางใจ ความสุขทางปัญญาและจิตวิญญาณ และความสุขทางสังคม "ความสุขหมายถึงการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมอย่างมีความสุข และความสุขจะนำพาไปให้เรามีความสามารถที่สูงขึ้น ส่งผลต่อมายังให้ทุกคนได้ช่วยกันสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะนี้โลกเรากำลังเจอกับวิกฤติ หากเราใช้แนวคิดของความรับผิดชอบต่อสังคมมาแปลงวิกฤติเป็นโอกาส ก็จะทำให้เราสามารถขับเคลื่อนสังคมไทยฝ่าวิกฤติไปได้"

พิพัฒน์ ให้ความเห็นว่าทุกคนสามารถทำ CSR ได้ หรือเริ่มจากครอบครัว ภายในองค์กร และขยายสู่ภายนอก ซึ่งการทำ CSR ก็คือหลักของการทำความดี โดยที่ผ่านมาองค์กรธุรกิจได้พัฒนาแนวทางของ CSR ไปสู่เชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic CSR โดยกระบวนการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งกิจกรรม CSR เชิงกลยุทธ์หรือการคิดเชิง “ยุทธศาสตร์” นั้น ส่วนใหญ่จะใช้พลังจากสมองซีกซ้ายในการวิเคราะห์หาเหตุผล คำนวณความคุ้มค่า ต้นทุน ประสิทธิภาพ

แต่สำหรับในปีนี้การทำกิจกรรม CSR ต่างๆ ได้ก้าวข้ามผ่านและยกระดับมาสู่ CSR เชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative CSR ซึ่งจะถูกปลดปล่อยออกมาจากสมองซีกขวา เป็นการคิด CSR ในเชิง “ยุทธศิลป์” ที่ต้องอาศัยไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และความรู้สึกเป็นสำคัญ ทั้งนี้ Creative CSR ถือเป็นการก้าวข้ามบริบทของการรุก-รับ แต่เป็นการพัฒนากิจกรรม CSR ในเชิงร่วม (Collaborative) ที่เปิดโอกาสให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างธุรกิจและสังคมอย่างไม่แบ่งแยก

“การทำกิจกรรมรูปแบบนี้ เราจะไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนว่า ใครเป็นผู้เริ่มทำก่อน ใครทำทีหลัง จะไม่มีคำว่าแบ่งแยก เนื่องจากเส้นแบ่งของการทำงานร่วมกันระหว่างกิจการและสังคมจะเลือนราง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการทำงานร่วมกันอย่างผสมผสานที่ให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด และเราไม่ได้จำกัดเพียงการสร้างความแตกต่างในวิธีการที่มีอยู่ แต่เป็นการคิดค้นวิธีการขึ้นใหม่ เป็น Innovation ดังนั้น Creative CSR จึงเป็นการทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมที่แตกต่างจากวิธีการอื่นโดยอัตโนมัติ”

ด้าน นินนาท บอกว่า สำหรับโตโยต้าได้พยายามปลูกฝังให้พนักงานทุกคนเข้าใจถึงเรื่องของ CSR เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถทำได้ เพราะเป็นการทำความดี และนำสิ่งที่ทำนี้ขยายไปสู่ครอบครัว พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าวงจรของ CSR จะต้องยั่งยืน

“เรารู้ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราปฏิบัติอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา ที่เราต้องฝึกบุคลากรในด้านนี้ เพราะสามารถทำให้เขาทำเป็นอาชีพได้ เรื่องของสิ่งแวดล้อมเราพยายามที่จะให้กระทบน้อยที่สุดโดยเฉพาะในระบบการผลิต ล่าสุดเราได้ทำโครงการปลูกป่า 1 แสนต้นที่โรงงานบ้านโพธิ์ เป้าหมาย 5 ปี ต้องปลูกให้ได้ 1 ล้านต้น ไม่ใช่เพียงแค่สภาพแวดล้อมภายในโรงงานเท่านั้น แต่ยังเพื่อชุมชนด้วย เหล่านี้เราจะทำตลอดไป ไม่ว่าเศรษฐกิจจะอยู่ในสภาพใดก็ตาม"

วัฒนา ให้ความเห็นว่า สำหรับนโยบายหลักของบางจากคือ สังคมอยู่ได้บริษัทก็อยู่ได้ โดยมุ่งให้ความสำคัญในเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลกำไรของบริษัท เพราะสิ่งที่บางจากต้องการเห็นมากที่สุดคือความอยู่ดีมีสุขของชุมชน แต่ในปีนี้เป็นปีที่พิเศษเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยรวมทั้งเรื่องของภัยพิบัติต่างๆ โดยบางจากกำลังดำเนินการร่วมกับเครือข่ายในการทำ CSR ระดับประเทศ เพื่อเยียวยาปัญหาสังคม

พีระพงษ์ บอกว่า การทำ CSR ของดีแทคยังคงมุ่งในเรื่องของโครงการทำดีทุกวัน เป้าหมายเพื่อให้ทุกคนทำความดี รวมทั้งความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน CSR ระดับประเทศ ขยายจากองค์กร ไปสู่ภายนอก สู่ชุมชน และสังคมต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการเกษตรที่ดีแทคได้เปิดโครงการ *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตร โดยเริ่มต้นวางเป้าหมาย 4 เดือน มีผู้ใช้บริการ 4 หมื่นราย แต่ปรากฏว่าเป็น 4 แสนราย สำหรับในปีนี้ก็จะสานต่อโครงการต่างๆ ที่ทำอยู่ พร้อมกับใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่เพื่อช่วยฝ่าวิกฤติในปีนี้


[Original Link]