Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

มหาวิทยาลัยรุกเปิดหลักสูตร CSR

ฉีดวัคซีนจริยธรรม คนรุ่นใหม่

ที่ผ่านมาความตื่นตัวในการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) นั้น ส่วนใหญ่อาจจะเห็นอยู่ในองค์กรธุรกิจ และหน่วยงานของภาคราชการที่ช่วยกันขับเคลื่อน แต่โดยเนื้อแท้ของความเป็นจริงแล้ว การปลุกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมให้คงอยู่อย่างยั่งยืนนั้น คงไม่สามารถทำได้ในชั่วข้ามปี หรือจำกัดอยู่ที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่การส่งเสริมเรื่อง CSR จำเป็นจะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ในระดับโรงเรียน เรื่อยมาจนถึงระดับอุดมศึกษา

ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านการเรียนการสอนในวิชาที่เกี่ยวเนื่อง เช่น วิชาหน้าที่พลเมือง วิชาศีลธรรม เพราะจะเป็นปฐมบทของการขับเคลื่อนเรื่อง CSR ในองค์กรธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงเป็นที่คาดหมายกันว่า ในปีนี้สถาบันการศึกษาจะมีความเคลื่อนไหว ในการปรับการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวข้องกับ CSR กันอย่างคึกคัก

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ และอาจารย์สอนวิชา CORPORATE SOCIAL RESPONSIBILITY (CSR) สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ ศศินทร์ กล่าวถึงการที่ศศินทร์มีการบรรจุเรื่อง CSR เป็นหลักสูตร ว่า ขณะนี้ มีนักศึกษาจบไปกว่า 300 คน โดย เป้าหมายในการเปิดสอนสาขานี้ เพื่อต้องการให้นักศึกษาเข้าใจว่า เนื้อแท้ของ CSR คือหลักการที่อยู่เบื้องหลังของความสำเร็จในทุกๆ เรื่อง โดยแนวทางการสอนของที่ศศินทร์ เน้น คือ " ผู้มีน้ำใจ ได้รับผลสำเร็จ" (Who cares wins)

"เรามองเห็นภาพของการทำธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จต้องมีอะไร ต้องรับผิดชอบต่อลูกค้า คู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด นั่นคือ CSR ที่เราจำเป็นต้องประยุกต์เข้ากับการทำงาน เราจำเป็นต้องปลูกฝังให้คนที่เรียนเหล่านี้ได้เรียนรู้เรื่องการปฏิบัติดี สร้างให้เป็นวัฒนธรรม ให้เขาเข้าใจเมื่อต้องออกไปสู่โลกภายนอก เมื่อเขาต้องไปทำงานหรือบริหารธุรกิจแบบไร้พรมแดน จำเป็นต้องมีการปฏิบัติดี หรือ CSR"

กิตติรัตน์ บอกว่า แนวโน้มเด็กนักศึกษามีความสนใจเรียนหลักสูตรนี้มากขึ้น จึงเชื่อว่าในอนาคต CSR จะไม่ใช่แค่วิชาเรียนแต่จะเป็นระดับ Major CSR อีกทั้งนักศึกษาจะลดความสนใจการเรียนในวิชาดังๆ อย่าง การตลาดและไฟแนนซ์ มาที่ CSR มากขึ้น โดยมองว่า ถ้าตำแหน่งงานมีความต้องการหรือคัดคนที่เคยเรียน CSR มา นักศึกษาก็อยากจะเรียนและสถาบันการศึกษาจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มากขึ้น วิชานี้คงไม่สามารถเป็นวิชาบังคับได้ เป็นไปด้วยความสมัครใจ แนวโน้มที่ศศินทร์มีนักศึกษาลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยสิ่งที่สอนให้นักศึกษาได้เรียนรู้โดยใช้หลักปฏิบัติ จะทำให้มีความเข้าใจลึกซึ้งมากขึ้น ถ้านักศึกษาตระหนักว่า CSR นำไปสู่การทำธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จ นำไปสู่คุณภาพการแข่งขันก็จะลงเรียนวิชานี้เพิ่มขึ้น

ธันยมัย เจียรกุล ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (MBA) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกว่า การเปิดวิชาความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ เพราะไม่ต้องการให้นักศึกษามีแต่วิชาการแต่ต้องมีจริยธรรม โดยเฉพาะเมื่อจบออกไปทำธุรกิจ และที่สำคัญสิ่งนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะได้เห็น CSR ขยายสู่ต่างจังหวัด "หลักสูตรปริญญาตรีเราก็ปรับปรุงให้มีเรื่องของจริยธรรมเข้า เพียงแต่ไม่ได้เป็นชื่อ CSR ทุกวันนี้สังคมสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปมาก สถาบันการศึกษามีส่วนสำคัญในการผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม"

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ และอาจารย์สอนปริญญาโท MBA วิชา ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ ให้กับมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ให้ความเห็นว่า ปีนี้หลักสูตรและวิชาด้าน CSR ในสถาบันการศึกษานั้นจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและมีความเข้มข้นขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษา ที่จะมีการยกเครื่องวิชาจริยธรรมทางธุรกิจที่มีมาช้านาน ให้ครอบคลุมเนื้อหา CSR ที่ทันกับยุคสมัยปัจจุบัน หลายแห่งได้มีการบรรจุวิชา CSR เข้าไว้ในหลักสูตรบริหารธุรกิจ ขณะที่บางแห่งมีแผนที่จะเปิดเป็นหลักสูตร CSR ทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท พร้อมทำการเรียนการสอนได้ในปีการศึกษา 2552 นี้

“การเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น บุคลากรมีส่วนสำคัญที่ต้องเข้าใจและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ ดังนั้นการรับคนเข้าทำงานในองค์กรต่างๆ จะมีความเข้มข้นขึ้น ผมเชื่อว่าสถาบันการศึกษาก็จะเข้มการสอนในภาควิชาต่างๆ ด้วยการนำ CSR เข้าไปผนวกในการเรียน แม้จะไม่ได้ถึงขั้นบรรจุเป็นหลักสูตรก็ตาม”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาในสถาบันต่างๆ ก็คือ ความคิดที่ว่า เมื่อเรียนจบออกไปแล้วจะสามารถยึดเป็นวิชาชีพได้อย่างไร ซึ่งแตกต่างจากวิชาเรียนสาขาอื่นๆ อย่าง บริหาร การตลาด และสื่อสารมวลชนเป็นต้น

ดร.พิพัฒน์ อธิบายว่า เป็นเรื่องจริงที่ยังมีนักศึกษาจำนวนมากที่ไม่ลงเรียนวิชา CSR เพราะมีแนวคิดว่าไม่สามารถนำไปประกอบวิชาชีพได้ แต่เรื่องนี้ต้องมีการสร้างความเข้าใจให้ถูกต้อง โดยสถาบันการศึกษาต้องมีส่วนร่วม และที่สำคัญหลังจากที่ตนได้สอนในหลักสูตร MBA ปริญญาโท ไปแล้ว มั่นใจว่าเด็กนักศึกษาที่เรียนมีความรู้ความเข้าใจ CSR มากขึ้น และพร้อมถ่ายทอดไปสู่ภายนอกต่อไปในทุกระดับ ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง และในระดับองค์กรที่เขาทำงานอยู่

“สิ่งสำคัญที่เราคาดหวังคือ เมื่อเขาอยู่ในพื้นที่นั้น เมื่อมีบริษัทใดเข้ามาทำ CSR เขาจะสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการทำ CSR ในรูปแบบไหน สิ่งที่ผมสอนอยู่นอกจากทฤษฎี ยังมีการสอนในส่วนของเครื่องมือ การประเมิน ผลลัพธ์ และพัฒนาการของ CSR รวมทั้งให้นักศึกษาทำเคสเรื่อง CSR ด้วย”

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนวิชา "ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ" ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มีการเปิดสอน มีนักศึกษาปริญญาโทเรียนทั้งหมด 20 คน

ชลพินทุ์ ศรีบุญ นักศึกษาที่ลงเรียนวิชานี้บอกว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยเข้าใจคำว่า CSR แต่พอศึกษาได้รู้ว่ามีความสำคัญต่อทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงาน และทำให้รู้ว่าองค์กรที่ตนทำงานอยู่นั้นก็ทำ CSR เช่นกัน อีกทั้งยังเข้าใจดีว่าแท้จริงของ CSR นั้นสามารถทำได้ทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่การบริจาค แต่เป็นการทำความดีและเพื่อผู้อื่นด้วย

"การสอนของอาจารย์จะค่อยๆ เล่าและเรียนเป็นส่วนๆ เพื่อให้เราเข้าใจอย่างถ่องแท้ ตอนแรกไม่เข้าใจ แต่พอเรียนไปก็ไม่ยากเลยเพราะเราสามารถปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน และจะนำสิ่งที่เรียนนี้ไปเผยแพร่ให้กับคนอื่นในองค์กรต่อไป"


[Original Link]