Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

“ทำดี มีอาชีพ” ต้นแบบ “พลังความร่วมมือ”

ฝ่าวิกฤติด้วย CSR

แม้แนวคิดความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่เรียกร้องให้ธุรกิจต้องคำนึงถึงผลกระทบในการดำเนินธุรกิจที่มีสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มุ่งหวังเพียงการสร้างกำไรสูงสุด จะได้รับความสนใจจากองค์กรธุรกิจไทยอย่างมากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

โดยแนวคิดนี้ไม่ได้มุ่งเพียงเรียกร้องให้ธุรกิจต้องมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น ในเวลาเดียวกันธุรกิจยังต้องมีบทบาทเข้ามาร่วมรับผิดชอบ ลดผลกระทบต่อสังคมและแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

หากแต่ในเวทีระหว่างประเทศวันนี้ ความรับผิดชอบต่อสังคม มิใช่จำกัดอยู่แค่เพียงภาคธุรกิจเท่านั้น ตามมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 ซึ่งจะเป็นมาตรฐานกลางที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศและจะประกาศใช้ในปี 2553 ยังมองถึงความรับผิดชอบว่าถือเป็นหน้าที่ของทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจ องค์กรภาครัฐ กระทั่งองค์กรพัฒนาเอกชน หรือที่เรียกว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility: SR)

การเกิดขึ้นของโครงการ “ทำดี มีอาชีพ” ซึ่งเป็นความร่วมมือของ 7 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก ซึ่งเป็นแม่งานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และกระทรวงมหาดไทย

ในการให้โอกาสทางการศึกษาวิชาชีพ และส่งเสริมการมีงานทำของเยาวชนใน 31 จังหวัดแนวตะเข็บชายแดน ให้มีความรู้ ทักษะอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัวเองและพร้อมที่จะพึ่งพาตนเองได้ ผ่านการฝึกอบรมด้านวิชาชีพทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติระยะสั้น 120 ชั่วโมง โดยสถาบันอาชีวศึกษา ก่อนส่งต่อไปยังสถานประกอบการเพื่อฝึกอบรมในการปฏิบัติจริง และบรรจุเข้ามาทำงานในตำแหน่งงานตามอัตราที่เตรียมไว้ในสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ

จึงถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเวลาเดียวกัน นี่ถือเป็นรูปแบบใหม่ของความรับผิดชอบ ที่ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ หน่วยงานที่ศึกษาและวิจัยด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นรูปแบบกิจกรรม CSR ที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติเช่นนี้

เพราะเป็นการนำเอาทรัพยากรที่แต่ละองค์กรมีอยู่อย่างจำกัด เข้ามาขับเคลื่อนโครงการทางสังคมขนาดใหญ่ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้สูงกว่าการทำงานโดยองค์กรใดเพียงองค์กรหนึ่ง

และยังเป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาทางสังคมที่หน่วยงานของรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียงลำพัง

“การขับเคลื่อนโครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชนในความพยายามที่จะตอบโจทย์สังคม โดยจะเห็นว่ามีภาคีที่เข้าร่วมโครงการเป็นทั้งภาคราชการ ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา ซึ่งเป็นการประสานภาคีอย่างกว้างขวางอย่างที่สุดโครงการหนึ่ง”

และมองว่า “การทำกิจกรรม CSR ในรูปแบบนี้เหมาะสมอย่างยิ่งกับภาวะวิกฤติที่ทรัพยากรในแต่ละองค์กรมีอยู่อย่างจำกัด ความร่วมมือยังทำให้โครงการนี้ มีโอกาสของความสำเร็จที่สูงมาก อีกทั้งยังสร้างผลลัพธ์ในทางตรงที่ทำให้เยาวชนนอกระบบที่ขาดโอกาส มีความรู้ มีงานทำ 100% ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์ประเด็นทางสังคมอื่น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางด้านความมั่นคง ที่หากเด็กไม่มีอาชีพ ก็มีโอกาสและความเสี่ยงสูงที่จะถูกชักจูงไปสู่ขบวนการก่อความไม่สงบ การดำเนินการเรื่องนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด และยังช่วยลดปัญหาทางสังคมอื่นๆ อาทิ ปัญหายาเสพติด และอาชญากรรมต่างๆ ที่จะติดตามมาเป็นลูกโซ่“

ดร.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่าสนใจในโครงการนี้ยังอยู่ที่ การทำ CSR เชิงกลยุทธ์ (Strategic CSR) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก คือการให้ ทักษะ (skill) ความรู้ (knowledge) และทัศนคติ (attitude) หรือ SKA โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนที่เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องมีทักษะและความรู้ในอาชีพ ขณะเดียวกันยังได้ฝึกอุปนิสัยในการเข้าสังคมและการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น ส่วนที่ 2 ในการหางาน โครงการนี้ไม่ได้ดำเนินการในเชิงรับ โดยหลังจากฝึกอบรมแล้วรอให้ธุรกิจเดินเข้ามาเพื่อการจ้างงานอย่างเดียว แต่กลับเริ่มที่วิธีคิดที่ว่า ทักษะ ความรู้ และทัศนคติแบบไหนที่ธุรกิจต้องการ จากนั้นจึงพัฒนาเยาวชนให้เหมาะสมในด้านนั้น ซึ่งนำมาสู่ส่วนที่ 3 คือ โอกาสการมีงานทำ ซึ่งหากมีจุดเริ่มทางความคิดเช่นนี้แล้วโอกาสการมีงานทำจึงมีสูงขึ้น

“โครงการนี้ยังสามารถขยายความร่วมมือกับภาคี ที่เป็นองค์กรธุรกิจเพิ่มเติม ในการต่อยอดกิจกรรม CSR ขององค์กรธุรกิจกับโครงการ “ทำดี มีอาชีพ” ซึ่งหากมีองค์กรธุรกิจเข้ามาให้ความร่วมมือเพิ่มมากขึ้น เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการนอกจากมีโอกาสได้งานทำแล้ว ยังจะสามารถเพิ่มโอกาสให้เยาวชนได้มีทางเลือกในการทำงานมากขึ้นไปอีก” ดร.พิพัฒน์กล่าว

นั่นเพราะการเปิดโอกาสให้กับเยาวชนกลุ่มนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบขององค์กรเช่นกัน และถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม ที่องค์กรธุรกิจสามารถเข้ามามีบทบาทในการเข้าร่วมรับผิดชอบดูแลและแก้ไขปัญหาสังคมได้ โดยใช้ CSR เป็นกลไกในการบรรเทาผลกระทบทางสังคม ที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน และนำพาสังคมให้ก้าวพ้นวิกฤติในครั้งนี้ได้!!

[ประชาชาติธุรกิจ]