Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เปิดพิมพ์เขียว CSR ฉบับประเทศไทย


ประสบความสำเร็จและก้าวหน้าไปอีกหนึ่งขั้น สำหรับความมุ่งมั่นของ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ที่ร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ริเริ่มโครงการ CSR Campus หรือการเดินทาง เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการในแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ เรื่อง Corporate Social Responsibility (การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ)หรือ บรรษัทภิบาล นับตั้งแต่ เมษายน พ.ศ. 2551 นาน 5 เดือน ซึ่งมีผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักวิชาการ พนักงานองค์กรและเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าร่วมกิจกรรม รวมกว่า 4,000 คน

จากการได้ทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหมู่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม และระดมสมองในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งค้นหาโมเดลซีเอสอาร์ที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมแต่ละท้องถิ่นแล้ว ยังได้นำมาจัดทำเป็นหนังสือ " CSR 4 ภาค" เพื่อใช้ประโยชน์ในการวางกิจกรรมซีเอสอาร์ในแต่ละพื้นที่ให้เข้าใจสภาพแวดล้อม รวมไปถึงการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจด้วย

"สิ่งที่น่าจะเกิดประโยชน์โดยตรงต่อจากนี้ คือการขยายผลที่องค์กรในท้องถิ่นเองจะขับเคลื่อนกิจกรรมซีเอสอาร์ให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งที่ผ่านมามีกลุ่มผู้ที่มาร่วมกิจกรรม ซีเอสอาร์ แคมปัส ได้รวมตัวกันสร้างเป็นเครือข่าย ซีเอสอาร์โคราช เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเราค่อนข้างพอใจที่ได้เข้าไปช่วยจุดประกายให้เกิดการเริ่มต้นขึ้น"

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ กล่าวและเสริมถึงตัวหนังสือ CSR 4 ภาคว่า ในปี พ.ศ. 2552 มีแผนที่จะขยายผลต่อโดยจะใช้กิจกรรมแต่ละจังหวัดขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมไปถึงด้านเนื้อหาที่จะมีการเข้าไปให้องค์ความรู้เพิ่มเติมและยกระดับสู่การทำซีเอสอาร์ที่เป็นระบบมากขึ้น

"มีแนวโน้มที่น่าจะมีการขับเคลื่อนเป็น CSR Campus ปี 2 ซึ่งถ้าสรุปผลแน่นอน รูปแบบจะลงลึกในเรื่องของ How to และนำผลของการทำกิจกรรมระดมสมองไปทำให้เกิดเป็น CSR in Action เพื่อให้กิจกรรมเกิดกับสังคม และชุมชนอย่างแท้จริง"

สำหรับ CSR Campus ปีที่สอง ดร.พิพัฒน์ คาดว่าถ้าสรุปผลได้จะเริ่มลงพื้นที่ประมาณ พฤษภาคมนี้ โดยจะหาองค์กรอื่นเข้ามาร่วมด้วย" เราพยายามเอาโครงการนี้เป็นตัวอย่างเพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การทำซีเอสอาร์อย่าไปคิดเรื่องแข่งขัน เพราะประเด็นสังคมยิ่งร่วมกันแก้ยิ่งได้ประโยชน์

พร้อมกันนี้ ดร.พิพัฒน์ ยังขยายความอีกว่าเป้าหมายของการทำ CSR Campus อีกส่วนหนึ่งต้องการขับเคลื่อนให้สอดรับกับแผนงานระดับประเทศที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องการให้ทำข้อเสนอเพื่อให้ภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริม สนับสนุนในเชิงนโยบาย ที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในแต่ละท้องถิ่นให้เป็นรูปธรรม โดยการจัดทำออกมาเป็น "นโยบายซีเอสอาร์แห่งชาติ" เพื่อนำเสนอให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ซึ่งในเนื้อหาโดยสรุปจะประกอบด้วย 4 ส่วนหลักๆ คือ หนึ่งส่งเสริมให้มีการวางกฎระเบียบและ ออกข้อบังคับต่างๆ ด้านซีเอสอาร์ สองส่งเสริมการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในลักษณะความร่วมมือภาครัฐและเอกชน( Public and Private Partnership:PPP) สาม การกำหนดบทบาทในการอำนวยความสะดวก(facilitator) เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐ และ สี่ การให้การรับรอง( endorsement) เช่น สนับสนุนการให้สิทธิลดหย่อนทางภาษี หรือการให้แรงจูงใจต่างๆ

ขณะที่ข้อมูลองค์ความรู้อีกส่วนหนึ่งที่รวบรวมจาก CSR Campus ครั้งนี้ได้นำมาประมวลและนำไปเผยแพร่เป็นกรณีศึกษา และจัดทำเป็นกิจกรรมต้นแบบให้สถาบันการศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนำไปสอนในชั้นเรียน โดยเฉพาะวิชาซีเอสอาร์ ที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้บรรจุไว้ในหลักสูตรปริญญาโท หรือ เอ็มบีเอหลายแห่งแล้ว อาทิ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยหัวเฉียว และมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ที่นำเรื่องซีเอสอาร์เข้าไปบรรจุไว้ในการสอน วิชาจริยธรรมทางธุรกิจ(Business Ethics)

พร้อมกันนี้ ดร.พิพัฒน์ ยังพบสิ่งที่ทุกจังหวัดมีความคิดเห็นเหมือนกัน คือ ต้องการให้นำ วิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และจริยธรรมต่างๆ เข้ามาเพิ่มเติมในหลักสูตรการสอน สอดคล้องกับไม่นานก่อนหน้านี้นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการได้ออกมากล่าวว่าจะพิจารณาวิชาสังคมศึกษา เข้าไปไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนใหม่ และในอดีตพบว่าเคยมีความพยายามผลักดันวิชาหน้าที่พลเมืองเข้าไปสู่โรงเรียนครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่สำเร็จด้วยปัจจัยทางการเมือง

"การที่จะไปผลักดันให้รัฐดำเนินการเรื่องใดเรื่องหนึ่งขึ้นอยู่กับจังหวะและความพร้อมด้วย อะไรที่ทำได้เราเองก็จะขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เพราะเห็นแล้วว่าทุกจังหวัดให้ความสำคัญกับการศึกษามาเป็นอันดับหนึ่ง"

การทำโครงการครั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้ทำการการสำรวจแนวโน้มการดำเนินกิจกรรมซีเอสอาร์ในปี พ.ศ.2552 ซึ่งจากผลการตอบแบบสอบถามของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผยให้เห็นว่า แม้ในสภาพการณ์ที่หลายองค์กรได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ทิศทางการใช้งบประมาณในการใช้ดำเนินกิจกรรม ขององค์กรในส่วนกลางปีนี้ 46% ระบุว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง 32% จะใช้เพิ่มขึ้นมี 21% ที่จะใช้งบลดลง ขณะที่นโยบายซีเอสอาร์นั้นส่วนใหญ่จะเน้นด้านสังคม 37% ด้านสิ่งแวดล้อม 36% ด้านการศึกษา 19% ด้านเศรษฐกิจ 5% และอื่นๆ 3%


สำหรับผลการสำรวจความตื่นตัวในการทำซีเอสอาร์ของภาคธุรกิจในแต่ละภูมิภาค พบว่า 45% ยังมีความตื่นตัวน้อย 42% ตื่นตัวระดับปานกลาง และ 12% ตื่นตัวมาก ส่วนผลการสำรวจนโยบายซีเอสอาร์ประเทศไทยใน 3 ปีข้างหน้า ว่าควรเน้นให้ความสำคัญด้านใดมากที่สุดนั้น พบว่า 35% มุ่งไปที่การศึกษา 29% ด้านสิ่งแวดล้อม 23% ด้านสังคม และอีก 13% ด้านเศรษฐกิจ

การดำเนินงานครั้งนี้จึงกล่าวได้ว่า เป็นการทำงานที่นอกจากได้แนวทางการพัฒนากิจกรรมซีเอสอาร์ของแต่ละองค์กรแล้ว ยังได้เรียนรู้ความต้องการและประเด็นซีเอสอาร์ของแต่ละพื้นที่ ซึ่งการขับเคลื่อน "ซีเอสอาร์ ประเทศไทย" ลักษณะนี้ ย่อมก่อให้เกิดการพัฒนาซีเอสอาร์ที่เหมาะสมและสอดรับกับวิถีท้องถิ่นและสังคม เป็นซีเอสอาร์ระดับประเทศที่เกิดขึ้นครั้งแรกและจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนเพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


[Original Link]