เมื่อธุรกิจตื่นทำ แผนแม่บท CSR
(บางส่วน)
ถ้าย้อนดูพัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ในไทย จะเห็นถึงก้าวย่างของการพัฒนาที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่การให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้ ซึ่งนำมาสู่การปรับเปลี่ยนในองค์กรตั้งแต่การปรับโครงสร้างองค์กร การตั้งหน่วยงานเฉพาะสำหรับการขับเคลื่อน CSR การวางกลยุทธ์กิจกรรม CSR กระทั่งล่าสุดจากการสำรวจของ "ประชาชาติธุรกิจ" พบว่า ปัจจุบันมีองค์กรธุรกิจจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ กำลังหันมาให้ความสำคัญกับการจัดทำ แผนแม่บท CSR สำหรับองค์กร
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดทำยุทธศาสตร์ CSR กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีองค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจจำนวนมากกำลังหันมาให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนแม่บทด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร หรือแผนแม่บท CSR เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา มีองค์กรที่สนใจจัดทำแผนแม่บท CSR เพิ่มขึ้นราว 20-30%
สาเหตุประการแรก มาจากการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ของหน่วยงานที่วัดผลและ ประเมินผลองค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ อาทิ บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด หรือทริส (TRIS) สถาบันจัดอันดับเครดิตของบริษัท สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ฯลฯ ที่ปัจจุบันได้เพิ่มเกณฑ์การให้คะแนนองค์กร โดยให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนแม่บท CSR อย่างเป็นรูปธรรม รวมไปถึงการตั้งคณะกรรมการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม จากเดิมที่หน่วยงานเหล่านี้ไม่เคยกำหนดเรื่อง CSR อยู่ในการประเมินผลเลย
ประการที่ 2 มาจากการพัฒนาการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในแต่ละองค์กรเอง ที่มองว่าแผนแม่บท CSR จะเป็นการแก้ไขปัญหาหรือเป็นทางออก สำหรับการดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีทิศทางที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ประการที่ 3 เกิดจากแรงบีบของคู่ค้าในต่างประเทศที่ทำให้องค์กรธุรกิจที่มีคู่ค้าในต่างประเทศจำเป็นต้องกำหนดแผนแม่บท CSR ในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในองค์กร
"หากเรามองข้ามแรงบีบต่างๆ ที่ทำให้องค์กรธุรกิจและรัฐวิสาหกิจหลายแห่งต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องแผนแม่บท CSR เราจะเห็นว่าการจัดทำแผนแม่บทมีประโยชน์อย่างยิ่งกับการขับเคลื่อน CSR ในองค์กร เพราะเป็นการจัดหมวดหมู่กิจกรรม CSR ที่องค์กรดำเนินการทั้งภายในกระบวนการและภายนอกกระบวนการ ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นตัวตนขององค์กร สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจ ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อน CSR ในองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันแผนแม่บทยังมีประโยชน์ในแง่ของการเป็นเครื่องมือสื่อสาร ทั้งการสื่อสารภายในองค์กรเพื่อที่จะดำเนินการเรื่องนี้ไปในทิศทางเดียวกัน" ดร.พิพัฒน์กล่าว
[Original Link]