เปิดมิติสร้าง CSR ภูมิภาค เชิงอนุรักษ์-นิเวศน์-ท่องเที่ยว
• สถาบันไทยพัฒน์ฯ เผย ผลสำรวจการทำ CSR 4 ภาคทั่วไทย
• ระบุแนวโน้มเพิ่มขึ้น-มีพัฒนาการสูง-ใช้งบประมาณเพิ่ม
• “เหนือ-ใต้” เน้น อนุรักษ์ป่า น้ำ วัฒนธรรม คุณภาพชีวิต
• “กลาง-อีสาน” มุ่ง สิ่งแวดล้อม-สุขภาวะ สู่ เชิงนิเวศ
แม้ในสภาพการณ์ที่หลายองค์กรได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในปัจจุบัน แต่แนวโน้มการดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กร ในปีนี้ โดย สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บจ.โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ทำตอบแบบสอบถามของผู้ประกอบการ นักธุรกิจ พนักงานขององค์กรต่างๆ นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกันทั้งสิ้นราว 4,000 คน
รายงานระบุว่า ร้อยละ 47 ระบุว่าจะทำเพิ่มขึ้น ร้อยละ 42 ทำเท่าเดิม และร้อยละ 10 จะทำลดลง ขณะที่ งบประมาณในการใช้ดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กร ในปีนี้ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 46 ระบุว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 32 จะใช้เพิ่มขึ้น และร้อยละ 21 จะใช้ลดลง
สำหรับความคิดเห็นที่มีต่อพัฒนาการของ CSR ในประเทศไทย ผู้ประกอบการในส่วนกลาง ระบุว่า ร้อยละ 27 เพิ่งเรียนรู้และทำความเข้าใจ ร้อยละ 53 ปฏิบัติได้ดีระดับหนึ่ง และร้อยละ 16 มีความก้าวหน้าดีมาก ขณะที่ ผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค ระบุว่า ร้อยละ 45 เพิ่งเรียนรู้และทำความเข้าใจ ร้อยละ 40 ปฏิบัติได้ดีระดับหนึ่ง และร้อยละ 12 มีความก้าวหน้าดีมาก
ส่วนคำถามเรื่องการจัดทำรายงาน CSR (หรือ Sustainability Report) ขององค์กร พบว่า องค์กรธุรกิจที่ยังไม่มีแนวคิดในการจัดทำรายงาน CSR มีอยู่ร้อยละ 54 สำหรับองค์กรที่กำลังจะทำในปีนี้ มีอยู่ร้อยละ 26 และที่ได้จัดทำแล้ว มีอยู่ร้อยละ 20 ตามลำดับ ขณะที่ผลการสำรวจความตื่นตัวในการทำ CSR ของภาคธุรกิจในแต่ละภูมิภาค พบว่า ร้อยละ 45 มีความตื่นตัวน้อย ร้อยละ 42 มีความตื่นตัวในระดับปานกลาง และร้อยละ 12 มีความตื่นตัวมาก ส่วนผลการสำรวจเรื่องเนื้อหา CSR ที่ต้องการในเวทีภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 61 ต้องการเรียนรู้วิธีการทำ CSR อย่างเป็นระบบมากสุด ร้อยละ 20 ต้องการวิธีการวัดและประเมินผลกิจกรรม CSR และร้อยละ 11 ต้องการความรู้ CSR เบื้องต้น
สำหรับภาพรวมการทำ CSR ทั้ง 4 ภาค ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บอกว่า แนวทางส่วนใหญ่มีลักษณะเด่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป ตามสภาพแวดล้อมของแต่ละภาค ทั้งนี้ เริ่มจาก หนึ่ง-ภาคกลาง ประเด็น CSR สรุปได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ความเป็นอยู่และความปลอดภัยในการบริโภค การฟื้นฟูธรรมชาติการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้ง ประเด็นเชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์และชุมชน
แนวทางพัฒนา CSR ของกลุ่มจังหวัดภาคกลางทั้ง 25 จังหวัด มุ่งเน้นไปที่การลดผลกระทบต่อสังคม และสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม จากความไม่สมดุลและยั่งยืนของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่พึ่งพิงกับภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างสูง ทำให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินกว่าความสามารถในการฟื้นคืนสภาพเดิม อีกทั้ง ก่อให้เกิดของเสียตามมา ทำให้ระบบนิเวศขาดความสมดุล เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ปัญหาขยะ ที่ส่งผลต่ออาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่
เริ่มจากกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 1 เน้นหนักในประเด็นทางด้าน “สิ่งแวดล้อม-สุขภาวะ” โดยจังหวัดนนทบุรี เสนอให้มีการจัดทำโครงการรักษ์รักสิ่งแวดล้อม ส่วน ปทุมธานี ต้องการคืนน้ำใสให้ปทุม ขณะที่ พระนครศรีอยุธยา ให้ความสำคัญกับกิจกรรม 5 ส. (สะดวก สะอาด สะสาง สุขลักษณะ สร้างนิสัย) และ สระบุรี ต้องการสร้างความเข้มแข็งและเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ในกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 2 เน้นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการบริโภค เริ่มที่ ชัยนาท เสนอให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ( โครงการเผามัน ) ลพบุรี เน้นเรื่อง อาหารปลอดภัย จ.สิงห์บุรี มุ่งเน้นการให้ความรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและภูมิปัญญาชาวบ้านในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่อ่างทอง เสนอเรื่องเกษตรปลอดสารพิษ
สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนกลาง ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูธรรมชาติ การเกษตร และแหล่งท่องเที่ยว โดย จ.สมุทรปราการ ได้เสนอกิจกรรมลดโลกร้อนสัญจร มอบความรู้สู่ชุมชน จ. ฉะเชิงเทรา ต้องการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวลุ่มน้ำบางปะกงแบบบูรณาการ จ.ปราจีนบุรี เน้นรณรงค์เรื่องการเกษตรดีมีมาตรฐาน จ. สระแก้ว ต้องการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชิงวัฒนธรรม และเชิงนิเวศ
ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 เน้น ประเด็นเชิงนิเวศน์ ประวัติศาสตร์ โดยที่ จ.นครปฐม มุ่งพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สายน้ำและปลูกป่า จ.ราชบุรี ต้องการเป็นเมืองสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน จ.กาญจนบุรี ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และ จ.สุพรรณบุรี เสนอให้มีการจัดการศึกษาเพื่อชุมชน
ภาคเหนือ-เชียงใหม่-ลำพูน
CSR เชิงท่องเที่ยว-สิ่งแวดล้อม
สอง -ภาคเหนือ CSR แบ่งเป็น 4 กลุ่มหัวข้อ ที่เป็นผลจากการระดมความคิด เพื่อค้นหาแนวทางการพัฒนา CSR ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด โดยในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เริ่มจากจังหวัดเชียงใหม่นำเสนอ 3 โครงการ เพื่อสาธารณประโยชน์ ได้แก่ “โครงการดูแลภูมิทัศน์เมือง” จัดระเบียบป้ายโฆษณาไม่ให้บดบังทัศนียภาพของวัดวาอาราม สถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า และให้มีรูปแบบที่แสดงออกถึง ความเป็นล้านนา รณรงค์ให้ความรู้เรื่อง การคัดแยกและกำจัดขยะอย่างถูกวิธีรวมถึงลดการใช้ถุงพลาสติก เพื่อให้เมืองเชียงใหม่สะอาดน่าอยู่
“โครงการอิ่มบุญ อิ่มใจ ไร้มลพิษ” ที่ต้องการรณรงค์ด้านการท่องเที่ยวให้ร่วมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยกิจกรรมสักการะพระยากาวิละ ผู้เป็นพ่อเมืองเชียงใหม่ ปั่นจักรยายไหว้พระ 9 วัด ไหว้อนุเสาวรีย์สามกษัตริย์ ไหว้ศาลหลักเมือง และทัวร์ถนนคนเดิน และสุดท้าย “โครงการเชียงใหม่ Green Fest” ที่ต้องการสร้างอาชีพเกษตรกรระดับฐานรากให้ผลิตผลที่สะอาดและปลอดภัย ส่งเสริมให้ปลูกผัก ผลไม้ และสมุนไพร ส่งเสริมความรู้เรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพและยากำจัดแมลง ทำให้ประชาชนได้บริโภคผัก ผลไม้ที่สะอาดปลอดสารพิษ
จังหวัดลำพูนกับการ “รวมน้ำใจ นำน้ำใสสู่หริภุญชัย” ซึ่งเป็นโครงการสร้างฝ่ายน้ำล้นตามแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของจังหวัด มีกิจกรรมปลูกป่าในแหล่งต้นน้ำ เพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำตามธรรมชาติป้องกันปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลากและปัญหาภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลให้มีน้ำสะอาดเพียงพอต่อการกินและการใช้ตลอดทั้งปี
ส่วนโครงการ CSR ของจังหวัดลำปาง ถือว่า เป็นโครงการที่มีรูปธรรมชัดเจน สำหรับต้องการย้ายถังบรรจุแก๊ส LPG ออกจากใจกลางเมือง เพื่อให้คนในชุมชนในรัศมี 30 กิโลเมตร มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและไม่เกิดความวิตกกังวล จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องการอนุรักษ์วิถีชีวิต อำเภอ ปลายให้น่าอยู่ด้วยการอนุรักษ์วิถีชีวิตดั้งเดิมคงสภาพแวดล้อมและรักษาเสน่ห์ทางธรรมชาติของชาวแม่ฮ่องกงรวมทั้งการยับยั้งปัญหามลพิษจากธุรกิจท่องเที่ยว ฟื้นฟูชุมชนดั้งเดิมให้มีความเข้มแข็งและมีภูมิคุ้มกันตามเศรษฐกิจพอเพียงและสำนึกรักบ้านเกิด
เชียงราย-พะเยา-น่าน-สุโขทัย
CSR อนุรักษ์ป่า-น้ำ-วัฒนธรรม
สำหรับกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เริ่มจาก จังหวัดเชียงราย ที่เน้น 2 กิจกรรม คือ การอนุรักษ์วิถีชีวิตและวัฒนธรรมล้านนาด้ายการแต่งกายล้านนาในวันศุกร์ รณรงค์ให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่พูดจาภาษาถิ่น จัดให้มีถนนคนเมืองทุกเดือน และจัดให้มีการแสดงจากชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อสร้างให้เกิดความสำนึกรักถิ่นฐานและสืบสานวัฒนธรรมให้คงอยู่คู่เมือง และกิจกรรมเชียงราย Green City ที่ต้องการส่งเสริมเกษตรกรรมในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ มีการลด-คัดแยกขยะการนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อผลิต เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ และผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นการลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีสุขภาพแข็งแรง และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
จังหวัดพะเยา ต้องการเห็นคุณภาพน้ำของกว๊านพะเยาดีขึ้นชุมชนจะได้ใช้น้ำที่มีคุณภาพ และสามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะพันธ์สัตว์น้ำต่างๆ ขณะที่โครงการจังหวัดแพร่ ก็มีความเป็นรูปธรรม เพราะต้องการปลูกป่าไม้สักในพื้นที่ของจังหวัด เพื่อป้องกันน้ำท่วม ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและช่วยลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังเป็นไม้เศรษฐกิจที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต จังหวัดน่าน มุ่งรณรงค์ให้มีการใช้จักรยานไปทำงาน ไปโรงเรียน โดยให้หน่วยราชการ เป็นผู้นำให้เกิดการลดค่าใช้จ่าย ด้านพลังงาน ลดมลพิษทางอากาศ และส่งเสริมการออกกำลังกาย
ขณะที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 จังหวัดสุโขทัย ต้องการพัฒนาลุ่มแม่น้ำยมอย่างยั่งยืน โดยจะดำเนินการขุดลอกแม่น้ำยมตลอดสายจากอำเภอศรีสัชนาลัยถึงอำเภอกงไกรลาศ และทำเขื่อนกั้นน้ำหรือประตูน้ำ เพื่อรักษาระดับน้ำในฤดูในฤดูแล้ง ป้องกันการเกิดอุทกภัย และมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการเกษตร
ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 มีจังหวัดกำแพงเพชร ต้องการณรงค์ “เรื่อง เกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมี”ด้วยการจัดทำโครงการให้ความรู้ด้านเพาะปลูก การลดต้นทุน การเพิ่มผลผลิต และการลดการใช้สารเคมีแก่เกษตรกร รวมทั้งการให้การรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานราชการ ตลอดจนรับซื้อผลผลิตที่ได้มาตรฐานโดยองค์กรธุรกิจประชาชนจะได้รับบริโภคอาหารที่ปลอดภัย คนปลูกก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
CSR ภาคใต้
มุ่งจัดการขยะ-น้ำเสีย-คุณภาพชีวิต
สาม-กลุ่มภาคใต้ 14 จังหวัด พบว่า ส่วนใหญ่มีความต้องการนำ CSR มาใช้จัดการกับปัญหามลภาวะจากขยะ น้ำเสีย และการปรับปรุงคุณภาพชีวิต ซึ่งกำลังเข้ามามีผลกระทบให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างมาก ในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จ.ชุมพร เสนอให้มีการแบ่งกลุ่มพื้นที่รับผิดชอบปลูกป่าชายเลน โดยการสำรวจข้อมูลพื้นที่ปลูกป่า มีการแบ่งพื้นที่เพาะปลูกป่าให้บริษัทเข้าร่วมเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการจัดอบรมปลูกจิตสำนึกการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สร้างความสามัคคีในชุมชน พัฒนาให้เป็นจังหวัดน่าอยู่
จ.สุราษฎร์ธานี มุ่งเน้นการส่งเสริมในเรื่องเกษตรอินทรีย์และสิ่งแวดล้อมรณรงค์ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากการใช้เศษวัสดุเหลือใช้ ลดต้นทุน ลดมลพิษ และได้บริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ จ.นครศรีธรรมราช มุ่งฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองของจังหวัดที่ตื้นเขิน สกปรก ใช้งานไม่ได้ ดำเนินการขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางริมคลองให้เป็นลำคลองใสสะอาด และ จ.พัทลุง เสนอให้มีการร่วมบำบัดน้ำทิ้งจากครัวเรือนและร่วมกันพัฒนาต่อยอดให้พื้นที่ทะเลน้อยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ประชาชนจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น สำหรับ
กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จ.ระนอง มุ่งปลูกจิตสำนึกให้คนในสังคมรู้จักการทิ้งขยะ ประเภทขยะ (เปียก แห้ง รีไซเคิล อันตราย) และมีแหล่งกำจัดขยะที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้เป็นจังหวัดที่สะอาด งามตาไร้มลพิษ จ.พังงา ต้องการปลูกผังให้ทุกคนสำนึกในการทำหน้าที่ของตนเองในองค์กรต่อการมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม มีจิตสำนึกและคำนึงถึงส่วนรวมมากขึ้น เพื่อให้เมืองพังงา สะอาด สวยงาม น่าอยู่ จ.ภูเก็ต ต้องการให้ชุมชนรู้จักการคัดแยกขยะ การนำขยะที่ยังใช้ได้นำกลับมาใช้ใหม่ และการทิ้งขยะให้ถูกที่ถูกวิธี
จ. กระบี่ สนับสนุนเชื่อมโยงเครือข่ายการทำประมงชายฝั่ง เน้นการทำประมงแบบพื้นบ้าน ด้วยการใช้อุปกรณ์จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งร่วมกันรักษาและเพิ่มพื้นที่ของป่าชายเลนให้คงอยู่ และ จ.ตรัง ซึ่งเสนอกิจกรรมที่จะปลูกจิตสำนึก ตั้งแต่ในระดับครอบครัว สถานศึกษา องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ในการช่วยเหลือดูแลรักษาความสะอาดของ จ.ตรัง
ส่วนกลุ่มจังหวัดภาคใต้ชายแดน จ.สงขลา เน้นการสร้างความสะอาดของชายหาดทะเลสาบสงขลา ด้วยการลดปริมาณขยะตามหน้าหาด จัดให้มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ป้อมยาม และแสงส่องสว่างอย่างเพียงพอ เพื่อสร้างให้แหล่งท่องเที่ยวในระดับจังหวัดที่มีความสะอาดและปลอดภัยในการเดินทางมาพักผ่อนท่องเที่ยว
CSR อีสานเน้น 5 กลุ่ม
เกษตรอินทรีย์ สู่ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
สำหรับภาพรวมการระดมความคิดเห็น เพื่อค้นหาแนวทางพัฒนา CSR ของกลุ่มสี่-ภาคอีสาน มี 19 จังหวัด นั้น มีประเด็นหลัก 5 กลุ่ม ได้แก่ เรื่องข้าวและเกษตรอินทรีย์ การฟื้นฟูแหล่งผลิตและอารยะธรรมดั้งเดิม การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น การพัฒนาเมืองและชุมชนน่าอยู่และการแก้ไขภาวะโลกร้อน
กลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนบน-ตอนกลาง-ตอนล่าง เริ่มจาก จังหวัดอุดรธานี ที่ต้องการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของชุมชนและเสริมสร้างจริยธรรมแก่เยาวชน ด้วยโครงการรวมพลังวัยใสล้างภัยสิ่งแวดล้อม จังหวัดหนองคายที่ต้องการพัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับหนึ่งของภาคอีสาน ด้วยการฟื้นฟูและสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น พัฒนาสภาพแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ พัฒนาการคมนาคมขนส่ง และพัฒนาประชาชนให้ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอนตามหลักพระพุทธศาสนา
จังหวัดขอนแข่น เสนอให้มีรถร่วม (Car Pool) หรือรถสาธารณะในการเดินทาง มีการให้ความรู้เรื่องวินัยการจราจร จัดให้มีรายการวิทยุรายงานสภาพการจราจร เพื่อหลีกเลี่ยงจุดที่มีรถติดหรือรถหนาแน่น เพื่อการประหยัดเวลาและค่าเชื้อเพลิง เป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัด จังหวัดนครราชสีมา คาดหวังให้มีลานกิจกรรม สำหรับการแสดงออกอย่างอิสระและด้านจริยธรรม ตามโครงการพัฒนาคนชุมชนเข้มแข็ง
จังหวัดชัยภูมิ ต้องการทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยการจัดตั้งกลุ่ม เพื่อขยายเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ มีการฝึกอบรมให้ความรู้ในการทำปุ๋ยชีวภาพ สนับสนุนงบประมาณหรือช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในและนอกพื้นที่ รวมถึงการส่งเสริมให้เป็นอาชีพ และพัฒนากลุ่มให้เป็นสหกรณ์ในอนาคต
[Original Link]