การปลูกฝัง CSR ในองค์กร
ในวันนี้เรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ หรือ Corporate Social Responsibility - CSR ได้แผ่ขยายเข้าไปในหลายธุรกิจ จนทำให้ผู้บริหารองค์กรต่างต้องทำการศึกษารับมือ เพื่อค้นหาแนวทางในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม ที่เหมาะสมสำหรับองค์กรของตนเองกันอย่างขนานใหญ่
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การที่ท่านเพิ่งศึกษาหรือรับทราบเรื่องราว CSR จากภายนอก มิได้หมายความว่า ที่ผ่านมาองค์กรของท่านมิได้มีเรื่อง CSR อยู่ในองค์กร หากแต่สิ่งที่ท่านทำอยู่ ยังไม่ได้เรียกหรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจในภาษา CSR เท่านั้นเอง
แท้ที่จริงแล้ว ในทุกองค์กรธุรกิจ ล้วนแล้วแต่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงความเข้มข้นของการดำเนินงานที่มีมากน้อยไม่เหมือนกัน องค์กรหนึ่งอาจมีความสำนึกรับผิดชอบสูงกว่า ขณะที่อีกองค์กรหนึ่งอาจมีการใช้ทรัพยากรในการดำเนิน CSR ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า หรือองค์กรหนึ่งอาจสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางกว่า หรือองค์กรอีกแห่งหนึ่งอาจส่งมอบผลลัพธ์จากการดำเนิน CSR ให้แก่สังคมได้ประสิทธิผลมากกว่า ฉะนั้น การพิจารณาเรื่อง CSR ในองค์กรหนึ่งๆ จึงต้องคำนึงถึงทั้ง ‘กระบวนการ-ผลลัพธ์’ ควบคู่กันไป
เป็นเรื่องจริงที่องค์กรธุรกิจหนึ่งๆ แม้จะดำเนินกิจกรรม CSR สู่ภายนอกจนได้รับรางวัลต่างๆ นานา แต่กลับพบว่า พนักงานในองค์กรมิได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจหรือมีส่วนในความสำเร็จร่วมกับองค์กรนั้นๆ ด้วยเลย แสดงว่าองค์กรธุรกิจนี้ อาจต้องไปปรับปรุง “กระบวนการ” ดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมภายในองค์กรเอง
การส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของพนักงาน เป็นเงื่อนไขสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรม CSR ขององค์กร ยังมีหลายองค์กรที่เข้าใจผิดคิดว่า การให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรม CSR จะทำให้เสียเวลางานหรือมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงใช้วิธีว่าจ้างหน่วยงานภายนอกดำเนินงานให้ โดยมีการตั้งผู้รับผิดชอบหรือมอบหมายให้ฝ่ายงานใดฝ่ายงานหนึ่งมาคอยกำกับดูแลกิจกรรม CSR ดังกล่าว
การให้บริการลูกค้าอย่างซื่อสัตย์และเต็มใจ การปฏิบัติต่อคู่ค้าอย่างซื่อตรงและเป็นธรรม การดูแลสวัสดิภาพ ความปลอดภัย อาชีวอนามัยในการทำงาน หรือการไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการแสวงหาผลประโยชน์ในทางที่มิชอบ กิจกรรมที่ยกมาเป็นตัวอย่างเหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งสิ้น และไม่สามารถมอบหมายให้บุคคลภายนอกมาดำเนินการแทนได้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังให้แก่พนักงานในองค์กรโดยตรง
เหตุนี้ “CSR จึงเป็นเรื่องของทุกคน มิใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง” ดังนั้น สำหรับองค์กรที่พนักงานส่วนใหญ่ยังมิได้มีการปรับฐานความเข้าใจให้ตรงกัน การด่วนสรุปตั้งฝ่าย CSR ขึ้นในองค์กรอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า “CSR เป็นเรื่องของฝ่าย CSR มิใช่เรื่องของฉันอีกต่อไป” ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่ทั้งองค์กรและสังคมคาดหวัง
ความคาดหวังของสังคมต่อบทบาท CSR ขององค์กรหนึ่งๆ มิได้อยู่ที่การมอบต้นไม้ เสื้อผ้า ทุนการศึกษา ห้องสมุด อาคารเรียน ถังน้ำ ผ้าห่ม ฯลฯ ซึ่งเป็นเพียงเรื่องของการบริจาค (Philanthropy) เท่านั้น แต่สังคมยังคาดหวังให้องค์กรนั้นๆ ดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ หรือทำธุรกิจที่หากำไรอย่างมีความรับผิดชอบด้วย เช่น การไม่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค การป้องกันหรือกำจัดมลพิษในกระบวนการผลิตเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน การผลิตสินค้าและบริการที่ปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะ ซึ่งถือเป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่อยู่ในกระบวนการทำงานหลักของกิจการ (CSR-in-process) และเป็นหัวข้อสำคัญที่ปรากฏอยู่ในแนวปฏิบัติ CSR สากล
การดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทำงานดังกล่าวนี้ ไม่ต้องใช้งบประมาณหรือไม่ต้องสร้างกิจกรรมพิเศษใดๆ เพิ่มเติม อีกทั้งไม่จำเป็นต้องวัดผลสำเร็จด้วยยอดเงินบริจาค หรือด้วยจำนวนกิจกรรมที่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาด การประชาสัมพันธ์ หรือการสร้างภาพลักษณ์องค์กรโดยเจตนา
การขับเคลื่อนเรื่อง CSR ให้ประสบความสำเร็จ ควรเริ่มต้นที่การปลูกฝัง “คน” ในองค์กร ซึ่งรวมทั้งผู้บริหารและพนักงานในทุกระดับ ให้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมที่ถูกต้อง ผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อขจัดช่องว่างหรือความลักลั่นของการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่เกิดขึ้นภายในองค์กร และยังเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการพัฒนาศักยภาพขององค์กรในการดำเนินกิจกรรม CSR อย่างยั่งยืน
[Original Link]