แม้ในแวดวงความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (corporate social responsibility : CSR) ทั่วโลกจะมีทั้งฝั่งที่ "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" ในการมอบรางวัลให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ในฐานะเป็น "องค์กรที่ดี" หรือ "องค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมยอดเยี่ยม"
โดยฝั่งที่ "เห็นด้วย" มองว่า การให้รางวัลเสมือนเป็นหนึ่งในการให้กำลังใจ องค์กรที่มีความพยายามในการดำเนินธุรกิจที่ดี โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียและใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ในทางกลับกัน ฝั่งที่ "ไม่เห็นด้วย" มองว่าคงไม่มีบริษัทใดที่ดีและสมบูรณ์แบบ และ ในหมู่บริษัทที่ได้รางวัลบางบริษัทยังมีพฤติกรรมที่ทำให้สังคมต้องกังขา หรือบางความคิดเห็นก็มองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของจิตสำนึก เป็นเรื่องของการอาสา ที่ไม่ควรมีอะไรมาเป็นเครื่องวัดให้เกิดการแข่งขัน
แต่ไม่ว่าใครจะมองว่าอย่างไร ดูเหมือนว่ารางวัลดีเด่นด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ก็เป็นที่ต้องการขององค์กรธุรกิจไทย โดยเฉพาะรางวัล CSR Awards บนเวที SET Awards ซึ่งปัจจุบันถือเป็นรางวัลด้าน CSR ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดขึ้นเพื่อยกย่องบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่โดดเด่นในด้านการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร
เพราะหากดูจากจำนวนผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดเพื่อเสนอชื่อชิงรางวัล CSR Awards 2009 ซึ่งมีการประกาศผลไปเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 จะเห็นว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา
อย่างที่ "ศิริชัย สาครรัตนกุล" หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณารางวัลบริษัทจดทะเบียนดีเด่นด้าน CSR สะท้อนว่า "ถ้าเทียบกับปีที่ผ่านมาในปีนี้มีองค์กรธุรกิจผู้เสนอตัวเข้าประกวดในโครงการ CSR Awards จำนวนมาก โดยมีบริษัทที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดมากถึง 232 บริษัท"
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปัจจุบันมีการดำเนินงานด้าน CSR อย่างเป็นระบบ และมีการกำหนดนโยบายด้าน CSR ที่ชัดเจนมากขึ้น เพราะหากดูเกณฑ์การพิจารณาของคณะกรรมการแล้ว รางวัลนี้ใช้การตัดสินที่ไม่ได้ดูเพียงกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ยังครอบคลุมถึงแนวปฏิบัติหลักใน 8 ด้านตาม "เข็มทิศธุรกิจเพื่อสังคม" แนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้กำหนดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.การกำกับดูแลกิจการที่ดี 2.การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม 3.การเคารพสิทธิและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม 4.ความรับผิดชอบต่อ ผู้บริโภค 5.การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน และสังคม 6.การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม 7.การเผยแพร่นวัตกรรมจากการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม และ 8.การจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งในมุมของ "ศิริชัย" แล้วเขามองว่า "บริษัทมีความตื่นตัวเรื่อง CSR และเข้าใจอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่คิดว่า CSR คือการประชาสัมพันธ์ บริจาค ปลูกป่า สร้างฝายแล้วมาโฆษณา ซึ่งเป็นเพียงกระผีกเดียว แต่ CSR ที่ถูกต้องต้องมองในมิติที่ครอบคลุมกว่านั้น"
ก้าวที่ล้ำหน้าของนวัตกรรม CSR ในไทย
มิเพียงความตื่นตัวและความเข้าใจ CSR ที่เพิ่มมากขึ้น แต่ภาพความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งของพัฒนาการด้าน CSR ในไทยที่ปรากฏผ่านเวทีประกวดครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นการเกิดขึ้นของ "นวัตกรรม CSR" ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าที่มากกว่าเดิม
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ หนึ่งในคณะกรรมการพิจารณารางวัลบริษัทจดทะเบียนดีเด่นด้าน CSR ในฐานะที่มีส่วนร่วมกับรางวัลนี้มาตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นการมอบรางวัลครั้งแรก มองพัฒนาการที่เกิดขึ้นว่า องค์กรมีความเข้าใจ CSR และกำลังก้าวข้ามจากกิจกรรมเพื่อสังคมมาสู่การมุ่งเน้นการดำเนินการด้านความรับผิดชอบภายในกระบวนการธุรกิจ (CSR in process) ที่กำลังก้าวไปสู่ความรับผิดชอบในระดับการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคม
เขายกตัวอย่างบริษัทที่ได้รับรางวัลใน ปีนี้ทั้ง "เอสซีจี" บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) "ดีแทค" บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัล CSR Awards 2009 ของปีนี้ในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดมากกว่า 10,000 ล้านบาท รวมไปถึง "บางจาก" บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลในกลุ่มที่ 1 สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าตลาดไม่เกิน 10,000 ล้านบาท และ "ซีเอ็ด" บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลในประเภทบริษัทจดทะเบียนที่มีมูลค่าไม่เกิน 10,000 ล้านบาท กลุ่มที่ 2 ล้วนแล้วแต่มีความโดดเด่นเป็นพิเศษในเรื่องของนวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะ "เอสซีจี" และ "บางจาก" ที่ครองแชมป์ 3 สมัยบนเวทีนี้
โดย "เอสซีจี" ได้มีการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ชื่อ "SCG Eco Value" ซึ่งเป็นนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่เป็นการผสานความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในตัวผลิตภัณฑ์
"บางจาก" ยังมีความชัดเจนในการเลือกการพัฒนาธุรกิจในระดับนวัตกรรม ที่มุ่งเน้นกระบวนการผลิตพลังงานทางเลือก รวมไปถึงนวัตกรรมการให้บริการในการรับซื้อน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมาผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
สำหรับ "ดีแทค" แม้จะเป็นครั้งแรกที่ได้รับรางวัลนี้แซงหน้าองค์กรชั้นนำด้าน CSR หลายแห่งก็เพราะการดำเนินการในเรื่องนวัตกรรมเช่นเดียวกัน โดยมีการนำเทคโนโลยีสื่อสารซึ่งเป็นขีดความสามารถหลักของบริษัทเข้ามาช่วยเหลือสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร โดยการเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลความรู้และแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรกับเกษตรกรผ่านโทรศัพท์มือถือผ่านโครงการ *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตร ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ทำให้ช่องว่างของข้อมูลข่าวสารลดลง
ก้าวสู่ CSR สากลสัญญาณบวกธุรกิจไทย
ขณะที่ "ซีเอ็ด" นั้นมีความโดดเด่นแซงหน้าบริษัทในกลุ่มเดียวกัน โดยไม่เพียงแต่มีการดำเนินงานที่ครอบคลุมแนวปฏิบัติทั้ง 8 ด้าน แต่ยังมีความโดดเด่นในเรื่องผลิตภัณฑ์ วิสัยทัศน์ในการดำเนินธุรกิจนั้นสอดคล้องกับความรับผิดชอบ โดยนำโจทย์ในการพัฒนาประเทศด้านการศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ โดยมีเป้าหมายในการทำให้คนไทยมีความรู้มากขึ้น โดยพยายาม คัดกรองผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายที่มีคุณค่า รวมไปถึงการพัฒนาคนในองค์กร
อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจครั้งนี้ยังอยู่ที่จุดเปลี่ยนของพัฒนาการ CSR ในภาพรวม โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เข้ารอบสุดท้ายจากทั้งหมด 6 กลุ่ม จำนวน 17 องค์กร (ดูตารางประกอบ)
ที่ ดร.พิพัฒน์มองเห็นว่า "แม้ผู้ได้รางวัลส่วนใหญ่เป็นบริษัทหัวขบวนที่มีการทำ CSR ที่ก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม และมีโอกาสเห็นบริษัทใหม่ ๆ ได้รับรางวัลมากขึ้น ยังมีหลายบริษัทที่มีนวัตกรรมในเรื่อง CSR ที่แม้จะไม่ได้รับรางวัล แต่สะท้อนว่า CSR สำหรับบริษัทจดทะเบียนนั้นก้าวหน้าไปมาก เช่น บริษัทรถไฟฟ้าใต้ดิน ที่มีการพัฒนาองค์กรไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และเข้าไปร่วมทำงานในระดับสากลและได้รับใบรับรองกลับมา ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าบริษัทจำนวนมากกำลังยกระดับ CSR ไปสู่มาตรฐานสากล"
กรณีศึกษาของบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ที่เดิมมีนโยบายการช่วยเหลือสังคมผ่านกิจกรรมการบริจาคเป็นหลัก แต่เมื่อเข้ามาร่วมส่งโครงการ เขาก็เข้าใจว่า CSR ขององค์กรน่าจะมุ่งเน้นที่พนักงานและผู้บริโภค เพราะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลิตภัณฑ์ของบริษัท
"เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่ดีในการขับเคลื่อน CSR ที่นอกเหนือจากการ ช่วยเหลือสังคมในเชิงภาพลักษณ์แล้ว ยังพยายามมุ่งลดผลกระทบที่มีต่อผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) อื่น ๆ ด้วย" ดร.พิพัฒน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเภทรางวัลขององค์กรในกลุ่มที่ 3-4 และเอ็มเอไอนั้นยังไม่มีผู้ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้นั้น หากดูในระดับของกิจกรรมเพื่อสังคม หลายองค์กรดำเนินการดีมาก เพียงแต่บริษัทขนาดเล็กส่วนใหญ่ยังดำเนินการด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ครอบคลุมทั้งองค์กรเพียงพอ
แม้ในด้านหนึ่งจะมีความก้าวหน้า แต่ในอีกด้านหนึ่งนี่ย่อมเป็นบทสะท้อนให้เห็นว่า ในโลกของการขับเคลื่อน CSR ของไทยวันนี้ยังคงมีช่องว่างที่ยังห่างระหว่างองค์กร หัวขบวนที่ดำเนินการมานาน และองค์กรท้ายขบวนที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่ต้องการ เติมเต็ม !
[Original Link]
No comments:
Post a Comment