Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

กระแสโลกรุกอีกขั้น ธุรกิจต้องมี CSR

สุวัฒน์ ทองธนากุล

เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ร่วมกับหน่วยงานขององค์การระดับโลกมาจัดการประชุมในเมืองไทย ในหัวข้อที่กระตุ้นให้ตระหนักในความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบ

ในการนี้ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ แห่งสถาบันไทยพัฒน์ฯ ได้นำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบในประเทศไทย” เท่ากับเป็นการต่อยอดจากผลการจัดสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับ CSR มาแล้วทุกภาคในปี 2552

ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นความตื่นตัวของกระแสโลกที่ต้องการสร้างกติกา หรือแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานจากที่เคยมุ่งเรื่องคุณภาพและประสิทธิภาพ ขยายสู่เรื่องความดี ความถูกต้อง ความซื่อตรง หรือ INTEGRITY

ทิศทางการบริหารกิจการที่ดีเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน จึงต้องมีพร้อมทั้งคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม ซึ่งผลงานและผลลัพธ์ที่มีความสมดุลทั้งผลทางเศรษฐกิจ (PROFIT) สังคม (PEOPLE) และสิ่งแวดล้อม (PLANET)

แนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนจึงต้องคำนึงถึงผลดีต่อทั้ง 3 องค์ประกอบข้างต้น

ดังนั้น แม้ว่า OECD จะเรียกว่าการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Business Conduct)หรือ RBC และให้คำนึงถึงการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ เช่น เรื่องสิทธิมนุษยชน การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม และการบริหารการเงินตามกฎระเบียบ

แต่นิยามของ CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (Corporate Social Responsibility) นั้น การปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบทางธุรกิจก็เป็นความรับผิดชอบพื้นฐานตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ความเป็นธรรมต่อประเด็นต่างๆ ที่ RBC ระบุและควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตและการค้าเพื่อการเป็นองค์กรที่ 'เก่งและดี'

นั่นคือ การคิดและทำดีโดยเริ่มจากภายในองค์กร เพราะธุรกิจมีนโยบายและแผนดำเนินกิจการที่ดีเพื่อสร้างสิ่งที่มีคุณค่าแต่ไม่สร้างความเสียหายต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือต่อผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า สังคม และสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันองค์กรที่มี CSR นอกจากทำธุรกิจด้วยความเก่งและดีแล้ว ยังมีจิตอาสา “สร้างกุศล” ด้วยเงิน สิ่งของและพนักงานเข้าทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเลือกประเด็นที่น่าสนใจ และอยู่ในลำดับปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือ

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นมุมมอง หรือการใช้คำเรียกขององค์กรระหว่างประเทศ หรือของไทย เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งมุ่งหมายให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีวิถีปฏิบัติที่ดีในประเด็นต่างๆ

ในการรายงานผลการวิจัยโดยผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ฯ ต่อที่ประชุมซึ่งนำโดย OECD ดังกล่าว ยังได้เสนอข้อแนะนำการขับเคลื่อน CSR ในประเทศไทย ซึ่งน่าสนใจ ผมจึงขอเสริมความเห็นดังนี้ครับ

1.การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ CSR ที่ถูกต้องทั่วถึง
เป็นความจริงที่มีบางองค์กรมักโฆษณา หรือ แถลงการณ์จัดรายการส่งเสริมการขาย เช่น ลดราคา หรือให้ของแถม ว่าเป็นการ “คืนกำไรแก่สังคม” หรือ “การตอบแทนคืนสังคม” ด้วยการบริจาค แล้วเหมารวมว่านี่คือการมี CSR แล้ว

ทั้งๆ ที่การเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือมี CSR นั้นเป็นจิตสำนึกและความมุ่งมั่นที่ต้องการดำเนินกิจการ ไม่ว่าเป็นภาครัฐ หรือภาคเอกชนที่ต้องการเป็นองค์กรที่เป็นพลเมืองดีของสังคม (Good Corporate Citizenship) คือไม่เพียงไม่ละเมิดกฎหมายแต่ยังทำดีเหนือมาตรฐานคุณภาพ รวมทั้งทำดีต่อทุกคนที่มาเกี่ยวข้องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ ว่า CSR เกี่ยวข้องกับทุกคนในองค์กรที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อน ไม่ใช่ปล่อยเดี่ยวเฉพาะฝ่ายงานที่ถูกมอบหมายให้ดูแลงาน CSR

2.การบูรณาการเรื่อง CSR ให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กร
ดังนั้น การปลูกจิตสำนึกและบรรจุหลักการ CSR เข้าไปในนโยบายและผลลัพธ์ของทุกแผนงานทุกขั้นตอนที่ต้องเอื้อต่อการบรรลุเป้าหมาย CSR หรือความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งในระดับใกล้ และระดับไกลเรียกว่าปลูกฝังให้ CSR เป็นค่านิยม และวัฒนธรรมองค์กรกันทีเดียว

3.การสื่อสารเรื่อง CSR ที่เหมาะสม
ต้องเข้าใจว่า การมี CSR ขององค์กร ต้องเริ่มจากการมีจิตสำนึกของคนทุกระดับชั้นในการใฝ่ดี และทำดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การมี CSR แม้แต่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมจึงไม่ควรคิดว่าเพื่อเป็นกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ หรือเพื่อให้มีภาพลักษณ์ที่ดี

แต่การจะขยายผลโดยใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ นำเอาบทบาทและผลลัพธ์การทำดีไปเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน หรือเผยแพร่ต่อชุมชนก็ควรทำด้วยความจริงใจให้ข้อมูลที่ไม่เกินจริง ภาพลักษณ์ที่ดีเป็นเพียงของแถม

4.การส่งเสริมความริเริ่มรายสาขา ในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
นี่เป็นคำแนะนำเชิงยุทธศาสตร์ที่เตรียมรับมือกับกติกาโลก ซึ่งมีแนวโน้มสร้างกฎกติกามากขึ้นในการเป็นเครื่องมือพิจารณาการเลือกลงทุน และคบค้ากับธุรกิจใดเพื่อให้เกิดความมั่นใจในความเติบโตที่ยั่งยืน

CSR ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่บ่งบอกถึงการมีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรม ซึ่งนำไปสู่ 'ความยั่งยืน'

ดังนั้น สาขาอุตสาหกรรมและการค้าที่ต้องติดต่อธุรกิจกับนานาชาติยังต้องเตรียมพร้อมในการปรับมาตรฐานการดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างความเชื่อถือดังกล่าว

แต่ไม่ว่าองค์กร หรือธุรกิจขนาดย่อม หรือขนาดใหญ่ ก็ล้วนจำเป็นต้องมีคุณลักษณะการมี CSR ในจิตสำนึกและแนวปฏิบัติ จึงจะน่าคบ-ค้า และทันยุคสมัย


[ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์]