คันฉ่องส่อง CSR ไทย
สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง CSR ในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง ได้นำเสนอรายงานการศึกษาวิจัยเบื้องต้นในหัวข้อ "การดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบในประเทศไทย" (Responsible Business Conduct in Thailand)บนเวทีการประชุมระดับภูมิภาคเรื่องความรับผิดชอบของกิจการ (Corporate Responsibility) ในหัวข้อ "Why Responsible Business Conduct Matters" ในโอกาสที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (UN ESCAP) ร่วมกับ ILO, UN Global Compact และ GRI ได้เข้ามาจัดงานสัปดาห์การค้าและการลงทุนภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งมีสาระสำคัญๆ ที่สรุปได้ดังนี้
ในผลการศึกษาส่วนแรกได้ชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนของวิสาหกิจขนาดใหญ่ (LEs) เทียบกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นปัจจัยเบื้องต้นในการวางทิศทางการขับเคลื่อน RBC ในประเทศไทย เนื่องจากในทางปฏิบัติระดับของการทำ CSR ระหว่าง LEs และ SMEs จะมีความแตกต่างกันตัวเลขของวิสาหกิจทั้งหมดในประเทศไทยในปี 2551 มีจำนวน 2,836,377 แห่ง เป็น LEs 4,586 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.2 และ SMEs 2,827,633 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 99.7 (ที่เหลือร้อยละ 0.1 ไม่ได้ระบุ)
การกระจายตัวของวิสาหกิจตามภูมิศาสตร์ พบว่าร้อยละ 70 ของ LEs อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ที่เหลือร้อยละ 30 อยู่ในภูมิภาค ขณะที่ร้อยละ 30 ของ SMEs อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ที่เหลือร้อยละ 70 อยู่ในภูมิภาค
หากพิจารณาบทบาทของวิสาหกิจตามขนาดกิจการที่มีต่อมูลค่า GDP ในปี 2551 พบว่า LEs มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 46.3 หรือ 4.21 ล้านล้านบาท ขณะที่ SMEs มีสัดส่วนอยู่ร้อยละ 37.9 หรือ 3.45 ล้านล้านบาท
เมื่อพิจารณาในส่วนของการจ้างงาน ในปี 2550 มีการจ้างงานในกิจการทุกขนาดรวมทั้งสิ้น 11.71 ล้านคน โดยเป็นการจ้างงานใน LEs จำนวน 2.81 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 24 และเป็นการจ้างงานในSMEs จำนวน 8.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 76 ของการจ้างงานรวมทั้งหมด
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถิติในเชิงภูมิศาสตร์ มูลค่า GDP และสัดส่วนการจ้างงานของวิสาหกิจขนาดใหญ่ เทียบกับ SMEs เพื่อใช้ในการขับเคลื่อน CSR พบว่า
• | ทั้ง LEs และ SMEs มีบทบาทสำคัญในมูลค่า GDP ของประเทศ |
• | SMEs ก่อให้เกิดการสร้างงานและนำไปสู่การกระจายรายได้ในสัดส่วนที่มากกว่า LEs 3 เท่า |
• | ทิศทางการขับเคลื่อน CSR ใน LEs ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) จะเกิดขึ้นในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ขณะที่สำหรับ SMEs ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 70) จะเกิดขึ้นในภูมิภาค |
ในการสำรวจการรับรู้ในเรื่อง CSR ขององค์กรธุรกิจใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล รู้จัก CSR ในสัดส่วนร้อยละ 69.54 และไม่รู้จัก CSR มาก่อน ร้อยละ 30.46 ขณะที่ในส่วนภูมิภาค รู้จัก CSR ในสัดส่วนร้อยละ 38.32 และไม่รู้จัก CSR มาก่อน ร้อยละ 61.68 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 4,350 คน
การที่ผู้ประกอบการตอบว่าไม่รู้จัก CSR มาก่อนนั้น มิได้หมายความว่า ในองค์กรมิได้มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม เพียงแต่ไม่ทราบว่าสิ่งที่ตนเองหรือหน่วยงานดำเนินอยู่นั้นเรียกว่า CSR ซึ่งคำเรียกที่องค์กรเหล่านี้คุ้นเคยกว่า ได้แก่ ธรรมาภิบาล, จริยธรรมทางธุรกิจ, การดำเนินงานที่เป็นธรรม, ความรับผิดชอบในตัวผลิตภัณฑ์, การช่วยเหลือสังคม, การบริจาค, การอาสาสมัคร ซึ่งกิจกรรมหรือการดำเนินงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของ CSR ทั้งสิ้น
คำกล่าวนี้ยืนยันได้ด้วยข้อพิสูจน์ จากการสำรวจความเข้าใจของผู้ประกอบการ หลังจากที่ได้อธิบายชี้แจงว่า สิ่งที่องค์กรได้ปฏิบัติอยู่นั้น จัดเป็นเรื่องของ CSR โดยผลสำรวจปรากฏว่า ร้อยละ 96 ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 3,853 คนจากทั่วประเทศ มีความเข้าใจเพิ่มขึ้น
ข้อพิจารณาในการขับเคลื่อน CSR ของแต่ละภูมิภาคและในรายจังหวัด ควรจะมีจุดเน้นและกิจกรรมที่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากระดับของการรับรู้และการพัฒนา CSR ที่ไม่เท่ากัน รวมทั้งการคำนึงถึงบริบทสังคมและวิถีของท้องถิ่นเป็นองค์ประกอบหลัก
ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ความเกี่ยวเนื่องกับลักษณะและประเภทของธุรกิจในแต่ละถิ่นที่ตั้ง รวมทั้งความเกี่ยวโยงกับสายอุปทาน (Supply Chain) ของกิจการนั้นๆ เพราะ CSR สำหรับกิจการที่ประกอบธุรกิจต่างสาขาหรือต่างอุตสาหกรรม จะส่งผลกระทบต่อสังคมหรือเกิดเป็นประเด็นทางสังคมที่แตกต่างกัน
สำหรับข้อแนะนำในการขับเคลื่อน CSR ประเทศไทย จะเสนอในโอกาสต่อไปทางหน้าต่าง CSR บานนี้ที่จะเริ่มเปิดให้บริการพยับแดดและสายลมแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมจากนี้ไปครับ!
[Original Link]