Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

จับทิศ CSR 2010 ทบทวนองค์กร เพิ่มคุณค่าระยะยาว


แม้ว่าตลอดระยะปี 2552 ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจก็ตาม แต่ในภาพรวมของความเคลื่อนไหวเรื่อง CSR (Corporate Social Responsibility) โดยรวมในปีที่ผ่านมากลับไม่ได้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ตามที่เคยคาดการณ์กันไว้ ซึ่งสังเกตได้จากการที่องค์กรธุรกิจมีการสื่อสารและมีการทำกิจกรรมด้าน CSR ตลอดทั้งปี

สำหรับกิจกรรมด้าน CSR ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปีที่ผ่านมา ที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ โครงการ CSR DAY ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป้าหมายของโครงการ CSR DAY ก็เพื่อรณรงค์ให้องค์กรธุรกิจได้จัดกิจกรรม CSR ในองค์กรหรือในบริษัท โดยให้ทุกวันเป็นวันของ CSR โดยไม่จำเป็นต้องรอโอกาสพิเศษ จนถึงขณะนี้มีองค์กรธุรกิจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว 78 แห่ง มีพนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,500 คน

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่อง CSR บอกว่า การทำ CSR ขององค์กรธุรกิจในปีที่ผ่านมาได้แผ่ขยายครอบคลุมในทุกสาขาอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน ยานยนต์ โทรคมนาคม พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และสินค้าอุปโภคบริโภค โดยกิจกรรม CSR ที่ดำเนินการสามารถแบ่งออกเป็น 2 จำพวก ได้แก่

CSR ที่ไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-after-process) เช่น การบริจาคเพื่อการกุศลและการอาสาช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ กับ CSR ที่ผนวกอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-in-process) เช่น การใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลกิจการที่ดี การปฏิบัติต่อแรงงาน การจัดการของเสีย และการประหยัดพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เป็นต้น

"ปีที่ผ่านมาผลกระทบจากการเมืองและเศรษฐกิจก็มีผลบ้าง แต่เราสามารถแยกได้เป็นสองมิติคือ มิติเรื่องนโยบายสาธารณะที่มุ่งเน้นเรื่อง CSR ยังไม่ได้ถูกยกระดับให้เป็นวาระสำคัญของการบริหาร ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในแถบยุโรป (EU) แล้ว ส่วนใหญ่เขาได้มีการออกนโยบายเรื่อง CSR แห่งชาติไปแล้ว เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนในการขับเคลื่อน CSR ระดับมหภาค ส่วนมิติที่สอง เรื่องประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมยังขาดความเฉียบขาด อันเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เราเห็นตัวอย่างได้ชัดเจนจากปัญหามลพิษที่มาบตาพุด"

พิพัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อภาครัฐขาดการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น และภาระในการแก้ไขปัญหากลับเป็นหน้าที่ของรัฐ โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน เช่น กรณีของการเสนอจัดสรรงบหลายพันล้านบาทในการเยียวยาประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด

ทั้งนี้แม้ภาคอุตสาหกรรมจะลุกขึ้นมาประกาศว่า โรงงานของตนเองได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มีทั้งมาตรการและผลดำเนินงานด้านการจัดการมลพิษที่เป็นไปตามกฎหมาย หรือเหนือกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดต่างๆ นานา แต่ความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกัน คือ ผู้ที่อาศัยอยู่ในมาบตาพุดมีอัตราการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากมลพิษสูงขึ้นจริง

"ไม่ใช่ว่าธุรกิจไม่รู้ว่า CSR เป็นมากกว่าเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์ แต่หากไม่สามารถอดทนรอผลที่จะตอบสนองคืนให้แก่ธุรกิจในระยะยาวได้ จึงต้องหยิบฉวยสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามาปั้นให้เกิดผลอย่างทันตาเห็น หรือในหลายกรณีก็ใช้โดยเจตนาเพื่อจะกลบเกลื่อนการดำเนินงานขององค์กรที่ส่งผลกระทบเชิงลบแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เนื่องจากเพราะมีผลกระทบสูงต่อผลประกอบการของบริษัท ผลที่ตามมาจากการทำ CSR จะสะท้อนกลับมาสร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือ ทั้งขององค์กรและของอุตสาหกรรมโดยรวม"

ดังนั้น แนวทางการขับเคลื่อนCSR ในปี 2553 นี้ ธุรกิจจะต้องสำรวจและทบทวนการวางตำแหน่ง (Repositioning) CSR ขององค์กรใหม่ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้กลับคืนมา และเพื่อไม่ให้เกิดการลดคุณค่าของการทำ CSR ในระยะยาว


[Original Link]