สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เผยแนวโน้มการทำ CSR ปี 2553 องค์กรธุรกิจขานรับกระแส Green สนองพฤติกรรมของผู้บริโภคในทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการทบทวนบทบาท CSR ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมยิ่งขึ้น พร้อมเร่งปรับกลยุทธ์ CSR ในธุรกิจให้รองรับทั้งโอกาส และผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีที่เข้มข้นขึ้นในปีนี้
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม กล่าวในงานแถลงทิศทางและแนวโน้ม CSR ปี 2553 “Repositioning your CSR” ในวันนี้ ( 28 ม.ค. 2553 ) ว่า จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ส่งผลให้หลายภาคส่วนต้องปรับตัว รับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันจากภายใน และการดำเนินงานที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการของธุรกิจที่มีผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนาและดำเนินธุรกิจที่ยึดหลักธรรมาภิบาล จริยธรรมและคุณธรรม เพื่อสร้างรากฐานความเข้มแข็งของธุรกิจ ให้สามารถประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนมั่นคง
“ในปีที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรม CSR ในองค์กร โดยร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ ผ่านโครงการ CSR Day ที่ช่วยสร้างความเข้าใจของการทำ CSR ที่ถูกต้อง ให้แก่พนักงาน โดยชี้ให้เห็นว่า CSR เป็นเรื่องของทุกกลุ่มคน และเป็นเรื่องที่ทำได้ทุกวัน ซึ่งในปี 2553 นี้ จะมีการต่อยอดจาก CSR ที่เข้มแข็งในองค์กรด้วยการเชื่อมโยงให้เกิดการขับเคลื่อนการทำ CSR ร่วมกันในระดับองค์กรผ่าน CSR Club ภายใต้สมาคมบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายพลังจากภาคธุรกิจ ในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมร่วมกับองค์กรพันธมิตรในภาคส่วนต่างๆ อย่างบูรณาการ และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งทิศทางที่เป็นแนวโน้มในการปรับกระบวนทัศน์ของภาคธุรกิจ ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายในองค์กร ด้วยความร่วมมือร่วมใจ ประสานพลังในการทำความดี เชื่อมโยงจากหนึ่งเป็นสอง และขยายเป็นวงกว้างในสังคมไทย”
ด้านนายชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ รองกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน ศูนย์พัฒนาธุรกิจตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ และกรรมการผู้อำนวยการ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ได้กล่าวถึงทิศทางการขับเคลื่อนงาน CSR ของสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ในปี 2553 ว่า “ในฐานะที่สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแกนกลางประสานความเข้มแข็งจากภาคธุรกิจเชื่อมโยงการดำเนินงานควบคู่กับ ภาครัฐ และภาคสังคมอย่างบูรณาการ สถาบันฯ จะยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการภายในของธุรกิจ โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างครบถ้วน ทั้งพนักงาน ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลักดันการสร้างจิตสำนึกด้าน CSR และส่งเสริมองค์ความรู้ในหลากหลายบริบททางสังคม เพื่อให้องค์กรธุรกิจเกิดความตระหนักเข้าใจในการทำ CSR ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับองค์กร และสามารถเป็นผู้ดำเนินการได้เอง”
ด้าน ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เผยผลการศึกษาทิศทางและแนวโน้มของ CSR ในปีนี้ว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 67 (Constitution) เรื่องกระแสสีเขียวอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate) และเรื่องความตกลงการเปิดเสรีทางการค้า (Commerce) ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรธุรกิจต้องพิจารณาทบทวนแนวการดำเนินงาน หรือการ Repositioning CSR ขององค์กร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทั้งโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในปีนี้
ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาหลังวิกฤตมีแนวโน้มการเติบโตในอัตราที่เชื่องช้า การว่างงานยังคงมีอัตราสูง การก่อหนี้ของภาคประชาชนมีแนวโน้มลดลง และมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น การกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับไปสู่จุดปกติเดิมก่อนวิกฤต แทบไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน
กระแสเรื่องจุดปกติใหม่ หรือ New Normal จึงเกิดขึ้นท่ามกลางวิถีของการปรับตัวทางเศรษฐกิจในยุคข้างหน้า ปรากฏการณ์นี้ส่อเค้าว่าจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้เกิดอาการเซื่องซึมยาวนาน ทำให้บรรดาธุรกิจในทุกแขนงกำลังเรียนรู้พฤติกรรมและเงื่อนไขใหม่สำหรับวางกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อรองรับการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจไปสู่จุดปกติใหม่นี้กันอย่างขะมักเขม้น
การปรับจุดยืนในเรื่อง CSR เพื่อรับกับจุดปกติใหม่ (New Normal) จะต้องคำนึงถึงทุกองค์ประกอบสำคัญอย่างควบคู่กัน ทั้งในเรื่องขอบเขต (Scope) แนวนโยบาย (Platform) โครงสร้าง (Structure) กลยุทธ์ (Strategy) การดำเนินงาน (Performance) ตัวชี้วัด (Measure) และการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) เพื่อสร้างสมให้เกิดเป็นคุณค่า CSR ขององค์กรที่สังคมตระหนักในระยะยาว
“ในปีนี้ กระแสเรื่องมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะ ISO 26000 ซึ่งมีกำหนดจะประกาศเป็นมาตรฐานนานาชาติฉบับสมบูรณ์ในปลายปี 2553 หลังจากการประชุมที่โคเปนเฮเก้น ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเป็นตัวเร่งให้องค์กรธุรกิจโดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ปรับกระบวนการทำงานให้เข้ากับมาตรฐานที่เกิดขึ้น”
อย่างไรก็ดี มาตรฐาน ISO 26000 นี้เป็นเพียงมาตรฐานข้อแนะนำ มิใช่มาตรฐานระบบการจัดการเพื่อใช้สำหรับการรับรอง (Certification) การเสนอให้มีการรับรอง หรือกล่าวอ้างว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 26000 จึงผิดไปจากเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของมาตรฐาน
สำหรับรายละเอียดการประมวลทิศทางและแนวโน้ม CSR ปี 2553 สามารถศึกษาได้จากรายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2553: Repositioning your CSR” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ สอบถามเพิ่มเติม 0 2930 5227 info@thaipat.org หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaipat.org
[Original Link]
No comments:
Post a Comment