ทิศทาง CSR ปี 2553

ในปีที่ผ่านมา ซีเอสอาร์ได้กลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมที่ขาดความเฉียบขาด อันเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลสะท้อนกลับมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตัวอย่างเช่น ปัญหามลพิษที่มาบตาพุด หรือการปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสารพิษในอ่าวไทย
เมื่อภาครัฐขาดการกำกับดูแลที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเปิดโอกาสให้ธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบสร้างผลกระทบทางลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง และภาระในการเยียวยาแก้ไขปัญหากลับถูกผลักให้ตกเป็นหน้าที่ของรัฐ โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน ดังกรณีของการจัดสรรงบเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนจำนวน 877 ล้านบาทในการเยียวยาประชาชนที่อาศัยบริเวณเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดระยอง เมื่อเร็วๆ นี้
การดำเนินงานซีเอสอาร์ของธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบ จึงหนีไม่พ้นเรื่องของการสร้างภาพลักษณ์ และใช้กิจกรรมซีเอสอาร์เป็นเครื่องมือในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือใช้โดยเจตนาเพื่อจะกลบเกลื่อนการดำเนินงานขององค์กรที่ส่งผลกระทบเชิงลบแก่สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะยังประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างแท้จริง แต่เป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง ผลที่ติดตามมาจากการดำเนินงานซีเอสอาร์ในลักษณะดังกล่าว จะสะท้อนกลับมาสร้างความเสียหายต่อความน่าเชื่อถือ (Credibility) ทั้งขององค์กรและของอุตสาหกรรมโดยรวม
แนวทางการขับเคลื่อนซีเอสอาร์ในปี 2553 ธุรกิจควรต้องสำรวจและทบทวนการวางตำแหน่ง (Repositioning) ซีเอสอาร์ขององค์กรเสียใหม่ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของการประกอบการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมให้กลับคืนมา และเพื่อมิให้เกิดการลดทอนคุณค่าของการดำเนินงานซีเอสอาร์ในระยะยาว
สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ดำเนินการศึกษาวิจัยเรื่องบรรษัทบริบาลในเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้ประเมินทิศทางซีเอสอาร์ของไทยเป็นประจำทุกปี จึงได้ทำการวิเคราะห์และประมวลแนวโน้มของซีเอสอาร์ในปี 2553 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า “6 ทิศทาง ซีเอสอาร์ ปี 2553: Repositioning your CSR” สำหรับใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางขับเคลื่อนซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจที่สนใจ เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าจากการดำเนินงานซีเอสอาร์อย่างแท้จริง
![]() | |
(พิพัฒน์ ยอดพฤติการ) ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ 28 มกราคม 2553 |