(บางส่วน)
ในงาน "Repositioning your CSR" จัดโดยสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ใน พระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรรมการผู้อำนวยการ สถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (CSRI) "ชัยยุทธ์ ชำนาญเลิศกิจ" กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนการทำงานด้าน ซีเอสอาร์ขึ้นอยู่กับว่า เรามองงานที่ทำ ซีเอสอาร์นั้นคืออะไร ถ้ามองว่าเป็นปัญหา ก็จัดการด้วย risk management ถ้ามองว่าเป็นโอกาส ก็ต้องคิดถึงการสร้างกลยุทธ์ในองค์กร แต่ถ้ามองว่าเป็นมากกว่าโอกาสและเป็นปัญหาขององค์กร ก็จำเป็นต้องหาทางเปลี่ยนรูปแบบกิจการหรือ business transformation
7 แนวทาง Repositioning
การทบทวนถึงงานซีเอสอาร์ที่ทำกันอยู่ เพื่อหาแนวทางสร้างงานเหล่านี้ให้มีคุณค่าและขยายผลออกไปได้มากยิ่งขึ้น อาจต้องพิจารณาถึงแนวทางในการปฏิบัติ ซึ่ง "ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ" ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ได้เสนอแนวทางปรับเปลี่ยนการทำซีเอสอาร์ขององค์กรไว้ 7 แนวทาง กล่าวคือ
1) การพิจารณาถึงขอบเขตของการทำงาน ซึ่งจากเดิมอาจให้ความสำคัญแก่ผู้ถือหุ้น ผ่านการรายงานผลรายได้ของบริษัท ต่อไปนี้ก็ต้องเปลี่ยนความคิดเพิ่มความสำคัญแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้า พนักงาน สังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนได้รับผลกระทบจากทุกกระบวนการทำงานของบริษัท
2) การปรับนโยบาย จากที่เคยคิดเคยทำตามลำพัง ก็มาสู่การทำให้ได้ตามมาตรฐานที่มีการยอมรับในทางสากล และคิดถึงความยั่งยืน คิดถึงการร่วมกลุ่มองค์กร เช่น CSR club
3) การปรับในเรื่องโครงสร้าง จากที่ทำกันเฉพาะแผนกหรือบางส่วนขององค์กร ก็น่าจะหันมาช่วยกันทำร่วมกันทำและดึงพนักงานระดับล่างเข้ามามีส่วนร่วม
4) การวางกลยุทธ์ จากการทำเพื่อตอบสนองหรือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ลองเปลี่ยนมาใช้วิธีเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพ เช่น ในกรณีมาบตาพุด ดร.พิพัฒน์ลองเสนอไอเดียว่า หากจะเอาเงิน 0.5% ของผู้ประกอบการมาตั้งกองทุนให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากมาบตาพุด ลองเปลี่ยนมาเป็นนำเงินนี้มารวมกัน แล้วตั้งหน่วยเฝ้าระวังการปล่อยก๊าซหรืองานด้านการป้องกัน ลดการสร้างมลพิษให้กับชุมชน จะดีกว่าหรือไม่
5) เปลี่ยนการดำเนินงาน จากที่ทำแต่ปาก ยกป้ายถ่ายรูป มาเป็นมาลงมือ ทำอย่างจริงจัง
6) เปลี่ยนตัวชี้วัด จากเดิมวัดผลที่ผลผลิตที่ออกมา ลองเปลี่ยนการวัดผลจากผลลัพธ์ในการทำธุรกิจ ที่เป็นผลทางคุณค่า อันนี้จะช่วยลดช่องว่างความคาดหวังในการทำซีเอสอาร์กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้
และข้อสุดท้าย การเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจากเดิมเราอาจจะทำแต่เรื่องการประชาสัมพันธ์บอกแต่เรื่องดี ๆ ของบริษัท แต่ถ้าเปลี่ยนมาเป็นการรายงานตามข้อเท็จจริง กล้าบอกเรื่องที่ไม่ดีบ้าง กลับจะทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อถือ เหมือนกับที่หลายบริษัทในต่างประเทศกล้าบอกว่าผลิตภัณฑ์มีข้อ บกพร่องและเรียกคืน เป็นต้น
[Original Link]
No comments:
Post a Comment