• กระตุ้นการปรับตัวซีเอสอาร์ขององค์กรธุรกิจ
• เผย 3 C ตัวเร่งสำคัญที่จำเป็นต้องรู้
• พร้อมแนว Repositioning CSRอย่างมีคุณค่า
หลังจากถูกท้าท้ายอย่างหนักในปีที่ผ่านมา สำหรับการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์ (CSR Corporate Social Responsibility) ขององค์กรธุรกิจภาคพลังงาน กรณีมาบตาพุด จนกลายเป็นกรณีศึกษาที่แวดวงซีเอสอาร์ยกให้เป็น Big Case ที่ถูกจับตามากที่สุด
ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า ซีเอสอาร์ไม่ใช่กระแสนอกกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-after-process) ที่เห็นแต่ภาพ การบริจาคเพื่อการกุศล หรืออาสาช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ แต่ได้ตอกย้ำเด่นชัดว่า ซีเอสอาร์ ยังเป็นการผนวกกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-in-process) อีกด้วย ที่จำเป็นต้องคำนึงถึง การใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลกิจการที่ดี การปฏิบัติต่อแรงงาน ชุมชน ผู้มีส่วนได้เสีย การจัดการของเสีย การประหยัดพลังงาน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย
ล่าสุด ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ในฐานะหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยเรื่องบรรษัทบริบาลในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และประเมินทิศทางซีเอสอาร์ของไทยเป็นประจำทุกปี จึงได้ทำการวิเคราะห์และประมวลแนวโน้มของซีเอสอาร์ในปี 2553 ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า 6 ทิศทางซีเอสอาร์ปี 2553 Repositioning your CSR เพื่อเป็นข้อมูลขับเคลื่อนซีเอสอาร์องค์กรธุรกิจ
3 C ตัวแปรขับดัน Repositioning CSR
สาระสำคัญของรายงานฉบับนี้ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ 'พิพัฒน์ ยอดพฤติการ' ให้ข้อสรุปและความเห็นว่า เป็นประจำทุกปีที่จะมีปัจจัยบางอย่าง กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจและการดำเนินงานด้านการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือซีเอสอาร์ นอกเหนือจากผลจากวิกฤติเศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา ที่มีผลโดยตรงต่อธุรกิจ ทำให้ต้องต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานให้สอดคล้องกันอย่างขนานใหญ่
ยังมีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ส่งผลให้องค์กรธุรกิจทบทวนการดำเนินงานหรือปรับตำแหน่งการดำเนินงานซีเอสอาร์องค์กร (Repositioning Your CSR) อันได้แก่ การปฎิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitution) กระแสสีเขียวอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate) และความตกลงการเปิดเสรีทางการค้า (Commerce)
ต่อการปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น เขาบอกว่า กรณีมาตรา 67 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ และกรณีมาบตาพุด ทำให้ธุรกิจต้องหันทบทวนบทบาทด้านซีเอสอาร์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำเพิ่มขึ้นใหม่ แต่เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญในปี 2550 มีความไม่ชัดเจนหลายประการ ทำให้องค์กรธุรกิจไม่สามารถดำเนินการได้ตามนั้น จึงเป็นที่มาของเครือข่ายภาคประชาชนฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง และมีคำตัดสินให้ระงับ 76 โครงการ
'กรณีดังกล่าว ทำให้องค์กรธุรกิจแทบทุกแห่งมีความเสี่ยงทั้งในด้านการดำเนินงานหรือกิจกรรม เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุว่า โครงการขนาดใหญ่จำเป็นต้องทำตามมาตรา 67 วรรค เท่านั้น กิจการขนาดเล็กบางครั้งก็อาจเข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนดก็ได้'
อีกทั้งยังเป็นบททดสอบซีเอสอาร์ของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ต่อข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาชน สะท้อนให้เห็นว่า ชาวบ้านไม่ได้ต่อต้านอุตสาหกรรม แต่โรงงานต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย และทัศนะของประธานคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ระบุว่า โรงงานต้องไม่ปิดบังชาวบ้าน ต้องทำสิ่งที่มากกว่ากฎหมายสั่งให้ทำ'
ไม่เพียงเท่านี้ ธุรกิจได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนในเรื่องของการปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ในปี 2550 มาตรา 67 ในส่วนของการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง จึงต้องศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน อีกทั้ง ยังจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งองค์กรอิสระในการให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินการ จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองและมีผลให้ระงับโครงการหรือกิจกรรม
กระแส Green Business ฟีเวอร์
ปรากฎการณ์ด้านซีเอสอาร์ในปีนี้ ดร.พิพัฒน์ มองว่า ธุรกิจจะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานรวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เน้น Green Concept มากขึ้น เนื่องจากกระแสโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ยังเป็นประเด็นคู่กับสังคมโลกไปอีกนาน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้ส่งผลให้องค์กรธุรกิจต้องปรับปรุงและพัฒนากระบวนการดำเนินงานสายผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆอิงกับกรีน คอนเซ็ปต์มากขึ้น
ข้อมูลจาก PBS Survey On Sustainability in the 2009 Recession ระบุว่า นอกจากปัจจัยในเรื่องราคา คุณภาพ ความสะดวกสบาย และคุณธรรม ในการประกอบการมาแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคใน ได้แก่ สิ่งแวดล้อมหรือกระแสสีเขียว โดยช่วงหลังวิกฤตมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 22
ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนวิกฤต เปอร์เซ็นต์การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 15 ส่งผลให้ธุรกิจต้องปรับสายผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งกระบวนการผลิตขององค์กร เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับประเทศไทย ก็เช่นเดียวกัน โดย ดร.พิพัฒน์ ระบุว่า กระแสสีเขียว ยังคงเป็นทิศทางหลักของซีเอสอาร์ในปีนี้อีกด้วย โดยองค์กรหลายแห่งได้พยายามผนวกความเป็นสีเขียวให้ได้ตลอดทั้งสาย เพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์สีเขียว นอกจากการติดฉลากสีเขียวบนผลิตภัณฑ์จะเป็นที่ต้องการให้ตลาดมากขึ้นแล้ว ในปีนี้ ผู้ประกอบการหลายแห่งจะให้ความสนใจกับการใช้ฉลากคาร์บอนกับผลิตภัณฑ์ของตนมากขึ้นเช่นกัน
เพื่อแสดงเจตนาในการรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรควบคู่ไปกับประโยชน์ที่ได้จากการลดต้นทุนการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หน่วยงานหลายแห่งจะทำงานร่วมกันในการรณรงค์ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่า แนวคิดสีเขียวที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนงานต่างๆ อาทิ Green Design, Green Purchaaing, Green Marketing, Green Meeting, Green Logistics และ Green Service
รวมถึง การนำขยะหรือของเสียจากระบวนการบริโภคกลับมาใช้ใหม่ด้วยการแปรรูปหรือแปรสภาพให้กลายเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของภาคธุรกิจภายใต้หลักการ Greening Waste ตลอดจนการปรับตัววัดทางเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกรอบ Green GDP ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจที่จะเติบโตมากในอนาคต คือ Green Business หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
CSR ยุคเขตการค้าเสรี
นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวสำคัญ อันเกิดจากข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้านำเข้า 8300 รายการ มีอัตราภาษีลดเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ รวมทั้งผลการตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) และเกาหลี(AKFTA)นับจากเดือนมกราคมนี้ ตลอดจนความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์(AANZFTA) ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป
'จากนี้ไป ประเด็นทางซีเอสอาร์จะถูกหยิบยกเป็นมาตรการทางการค้าเพิ่มขึ้น ด้วยอัตราเร่งจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ เนื่องจาก มาตรการภาษีนำเข้า มาตรการโควตาภาษี และอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีที่ขัดต่อความตกลงการเปิดเสรีทางการค้าจะต้องถูกยกเลิก ทำให้ประเทศต่างๆหันมาใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) อื่นๆ มากขึ้น'
ดังนั้นภาคธุรกิจจึงต้องศึกษาข้อมูลและปรับตัวรองรับทั้งโอกาสและผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี เนื่องจากนี้ไป มาตรการภาษีนำเข้า มาตรการโควตาภาษี และอุปสรรคการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่ขัดต่อความตกลงดังกล่าวจะต้องถูกยกเลิก ทำให้ประเทศต่างๆจะหันมาใช้มาตรการชนิดอื่นๆที่ได้รับการยกเว้น เพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีทางการค้า อาทิ
'มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคทางการค้า (TBT) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) ซึ่งมาตรการต่างๆดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับแนวทางปฏิบัติของซีเอสอาร์แทบทั้งสิ้น'
ISO26000-SR ซีเอสอาร์ขั้นเทพ
ขณะเดียวกัน เรื่องมาตรฐาน ISO 26000 ซึ่งเป็นกระแสมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมที่ได้ก่อตัวขึ้นในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก แต่ในปีนี้คาดว่าจะมีการประกาศมาตรฐานนานาชาติฉบับสมบูรณ์ขึ้น หลังจากได้มีการยกร่างมาตรฐาน โดยกำหนดหัวข้อบ่งชี้ถึงความรับผิดชอบต่อสังคมไว้ 7 เรื่อง ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร (Organizational Governance) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practices) สิ่งแวดล้อม (The Environment)การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (Fair Operation Practices) ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer Issue) การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (Community Involvement and Development) เป็นต้น
ISO 26000 นี้ จะส่งผลให้เริ่มมีการลงหลักปักฐานในองค์กรธุรกิจ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมก็สามารถใช้มาตรฐานข้อแนะนำดังกล่าวเป็นแนวทางในการดำเนินงาน อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงมาตรฐานแนะนำ (Guidance Standard )ไม่ใช่มาตรฐานระบบการจัดการ เพื่อใช้สำหรับการรับรองหรือไปใช้เป็นข้อบังคับหรือใช้เป็นข้อตกลง
ส่งไม้ต่อสู่สถานศึกษา
ในรายงานทิศทางฉบับนี้ ยังระบุอีกว่า ในปีนี้ การส่งไม้ต่อเรื่องซีเอสอาร์ภาคการศึกษา จะขยายไปสู่กลุ่มโรงเรียนเป็นครั้งแรก เห็นได้จากโครงการที่ให้นักเรียนศึกษา ทำความเข้าใจ ซีเอสอาร์แบบบูรณาการ ความคิดเชิงธุรกิจ และได้ลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
'ที่สะท้อนถึงจิตอาสารับผิดชอบสังคม ภายใต้การดำเนินโครงการสร้างเสริมคุณธรรมในสถานการศึกษา ซึ่งมีเป้าหมายยังโรงเรียนในสังกัดงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐานจำนวน 31,821 โรง ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 พ.ศ.2553-2555 ของรัฐบาลอีกด้วย'
จุดเปลี่ยน New Normal Repositioning CSR อย่างมีคุณค่า
สำหรับธุรกิจที่ไม่ต้องการลดทอนคุณค่า CSR ขององค์กรในระยะยาว ดร.พิพัฒน์ จากสถาบัไทยพัฒน์ คนเดิม แนะว่า ควรปรับจุดยืนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมสู่จุดปกติใหม่ เนื่องจากมีการวิเคราะห์กันว่า เศรษฐกิจอเมริกาหลังวิกฤตมีแนวโน้มเติบโตช้าลง มีอัตราว่างงานสูง การก่อหนี้ภาคประชาชนลดลง และมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อันกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับไปสู่จุดปกติก่อนวิกฤต โดยไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน
ดังนั้นกระแสจุดปกติใหม่ หรือ New Normal ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่จะต้องทำได้เกิดขึ้น ท่ามกลางวิถีการปรับตัวทางเศรษฐกิจในยุคข้างหน้า ปรากฏการณ์นี้ส่อเค้าว่า จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้เกิดอาการเซื่องซึมยาวนาน ทำให้บรรดาธุรกิจในทุกแขนงกำลังเรียนรู้พฤติกรรมและเงื่อนไขใหม่ สำหรับวางกลยุทธ์การดำเนินงาน เพื่อรองรับการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจไปสู่จุดปกติใหม่นี้อย่างจริงจัง
'สำหรับประเทศไทย เงื่อนไขที่เปลี่ยนไปทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาการแบ่งฝ่ายของสังคมจากปัจจัยการเมือง คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพเสื่อมโทรมมากขึ้น จากการดำเนินธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบและขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพของรัฐ ทำให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบลุกขึ้นมาทวงสิทธิโดยใช้ช่องทางกฎหมายและการกดดันทางสังคม ดังนั้น ธุรกิจและชุมชนจึงไม่สามารถหวนกลับไปสู่จุดปกติเดิมได้อีกต่อไป'
ดังนั้นภาคธุรกิจจึงต้องสำรวจและทบทวนบทบาทในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดการยอมรับของชุมชนและอยู่ร่วมกันในสังคมบนจุดปกติใหม่นับจากนี้ไป โดยการปรับตำแหน่งหรือ Repositioning การดำเนินความรับผิดชอบต่อองค์กร เพื่อเข้าสู่จุดปกติใหม่ จึงต้องคำนึงถึงทุกองค์ประกอบสำคัญอย่างควบคู่กันไป ทั้งในเรื่องขอบเขต (Scope) แนวนโยบาย (Platform)โครงสร้าง (Structure) กลยุทธ์ (Strategy) การดำเนินงาน (Performance) ตัวชี้วัด (Measure)และการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) เพื่อสร้างสมให้เกิดเป็นคุณค่า CSR ที่สังคมตระหนักในระยะยาว
[Original Link]
No comments:
Post a Comment