Social Enterprise vs. Social Business
คำว่า ‘วิสาหกิจ’ (enterprise) ตามพจนานุกรม หมายถึง การประกอบการที่ยากสลับซับซ้อนหรือเสี่ยงต่อการขาดทุนล้มละลาย ส่วนคำว่า ‘ธุรกิจ’ (business) หมายถึง การประกอบกิจการในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม หัตถกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอย่างอื่นเป็นการค้า หรือหมายถึง การงานประจำเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่นที่สำคัญและที่ไม่ใช่ราชการ
หากดูตามความหมายนี้ คำว่าวิสาหกิจมีความหมายกว้างกว่าธุรกิจ เพราะหมายรวมถึงการประกอบการที่มิใช่เพื่อการค้า (ที่หมายถึง การซื้อขายสินค้าหรือบริการ) หรือได้รวมถึงเรื่องที่เป็นราชการเข้าไว้ด้วย เมื่อมีการเติมคำขยายว่าเป็น วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) และ ธุรกิจเพื่อสังคม (social business) จึงทำให้การประกอบการเหล่านี้ ล้วนต้องมีวัตถุประสงค์ที่จะสนองตอบต่อเป้าหมายทางสังคม (และสิ่งแวดล้อม) เป็นหลัก
ด้วยการที่ธุรกิจซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหน่วยงานที่แสวงหากำไร แม้จะมีวัตถุประสงค์ทางสังคมมากำกับ ธุรกิจเพื่อสังคมก็มิได้ปฏิเสธการแสวงหากำไร (และยิ่งต้องไม่ทำให้ขาดทุนด้วย) เพียงแต่กำไรที่ได้จากการทำธุรกิจนั้น จะต้องถูกนำกลับมาทำประโยชน์เพื่อสังคมส่วนรวม ไม่สามารถนำมาปันกลับคืนให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นการส่วนตัวได้ (ยกเว้นก็แต่เงินลงทุนที่มีสิทธิ์ได้รับกลับคืน)
มูฮัมหมัด ยูนูส ผู้บุกเบิกธุรกิจเพื่อสังคมในบังกลาเทศ ได้ขยายความว่า ธุรกิจเพื่อสังคมตามนิยามของเขามี 2 ประเภทๆ แรก ยูนูสเรียกว่า Type I social business คือ non-loss, non-dividend company ที่ทำงานอุทิศให้กับการแก้ไขปัญหาทางสังคมและถือหุ้น โดยนักลงทุนที่/พร้อมจัดสรรกำไรจากการดำเนินงานทั้งหมดในการขยายและปรับปรุงธุรกิจเพื่อสังคมของตนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
ประเภทที่สองเรียกว่า Type II social business คือ profit-making company ที่มิได้ถือหุ้นโดยนักลงทุนหรือบุคคลทั่วไป แต่เป็นคนยากจนหรือผู้ด้อยโอกาสที่เข้าเป็นเจ้าของ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และได้รับโอกาสให้นำกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน ไปบรรเทาปัญหาความยากจนนั้น ได้ตามวัตถุประสงค์ของธุรกิจเพื่อสังคมนั้นๆ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ธุรกิจเพื่อสังคม ไม่ใช่องค์กรที่ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไร (non-profit organization) เช่น มูลนิธิที่มิได้มีรายได้จากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจเป็นหลัก แต่รายรับส่วนใหญ่มาจากการบริจาค เพื่อนำไปใช้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ และที่สำคัญไม่มีผู้เป็น ‘เจ้าของ’ เหมือนกับธุรกิจเพื่อสังคม
ด้วยเหตุที่ กฎหมายว่าด้วยมูลนิธิในหลายประเทศส่วนใหญ่ ถือว่าทรัพย์สินของมูลนิธิที่ได้รับจากการบริจาคหรือที่เป็นดอกผลเพิ่มเติมขึ้นภายหลังนั้น เป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐ (ในฐานะผู้ว่าการสังคม) แต่เนื่องจากรัฐไม่สามารถดูแลหรือจัดการได้อย่างทั่วถึง จึงมอบหมาย (ตามบทบัญญัติของกฎหมาย) ให้คณะกรรมการชุดหนึ่ง (ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ คณะผู้ก่อการมูลนิธินั้น) ทำหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์นั้นให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมแทนเจ้าหน้าที่รัฐ คณะกรรมการมูลนิธิจึงไม่ได้อยู่ในฐานะที่เป็น ‘เจ้าของ’ ทรัพย์สินที่เป็นของส่วนรวมนั้นแต่ต้น (รัฐจึงมีสิทธิ์เข้ามาจัดการได้ทุกเมื่อ โอ้จริงหรือนี่)
ครั้นเมื่อเทียบระหว่างวิสาหกิจเพื่อสังคมกับธุรกิจเพื่อสังคม ในแง่ของขอบเขต วิสาหกิจเพื่อสังคมนั้นกินความหมายกว้างกว่า เพราะรูปแบบขององค์กรเป็นได้ทั้งองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (non-profits) และที่แสวงหากำไร (for-profits) ซึ่งหากมีกำไร ก็จะนำกำไรส่วนใหญ่ไปขยายหรือลงทุนในกิจการหรือโครงการเพื่อสังคมต่อ และกำไรบางส่วนแบ่งปันกลับคืนให้เจ้าของได้
ขณะที่ธุรกิจเพื่อสังคม (ตามนิยามของยูนูส) รูปแบบขององค์กรนั้นเป็นแบบที่แสวงหากำไรอย่างเดียว และกำไรที่ได้ต้องใช้หมุนเวียนในธุรกิจเพื่อสังคมทั้งหมด ไม่ปันกลับไปให้ผู้ถือหุ้น (ในกรณีของ Type I) ดังนั้น ธุรกิจเพื่อสังคม จึงเป็น subset ของวิสาหกิจเพื่อสังคม
ไอเดียของยูนูสในเรื่องธุรกิจเพื่อสังคม ดูจะแข็งและเข้มงวดมากกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคม ในแง่ของการแบ่งปันผลกำไรที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการชั่งใจเลือกระหว่าง “ปันผลส่วนตัว” กับ “ประโยชน์ส่วนรวม” เพราะมีฐานคิดว่า ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้น ความโน้มเอียงจะไปในทางเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อน และประโยชน์ส่วนรวมค่อยมาทีหลัง
บรรดาองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs น่าจะชอบใจหรือถูกจริตกับรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมของยูนูส ในประเด็นที่ไม่ต้องการนำเรื่องธุรกิจมาหากินหรือค้ากำไรกับความยากจนของชาวบ้าน ขณะที่องค์กรธุรกิจทั่วไปน่าจะขานรับกับแนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคมมากกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นในแง่ของการปันผลกำไรที่ถูกกับจริตของนักธุรกิจอยู่บ้างไม่มากก็น้อย
ยังมีรูปแบบใหม่ๆ ของวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้ และดูจะเป็นเรื่องที่น่าศึกษาไม่น้อย อย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ Community Interest Company (CIC) ที่มีกฎหมายรองรับมาตั้งแต่ปี 2005 หรือในสหรัฐอเมริกา Low-profit Limited Liability Company (L3C) ที่รับรองในปี 2008 และเพิ่งเมื่อเดือนเมษายน ปี 2010 รัฐแมรี่แลนด์เป็นรัฐแรกที่ได้ให้การรับรอง Benefit Corporation (B-Corp) เป็นรูปแบบล่าสุด ตามมาด้วยอีกกว่า 10 รัฐที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การรับรอง เช่น แคลิฟอร์เนีย โอเรกอน วอชิงตัน โคโลราโด ซึ่งคงจะได้หาโอกาสมาขยายความในรายละเอียดกันต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง
• อย่าสับสน CSR กับ Social Enterprise
• รู้จัก Social Business
• วิสาหกิจเพื่อสังคม VS. ธุรกิจเพื่อสังคม
• Benefit Corp องค์กรธุรกิจยุคใหม่
• CSV กับ SE เหมือนหรือต่างกัน?
• ทำ SE ไม่ต้องรอกฎหมาย
[Original Link]