Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

4 บทบาท CSR ภาครัฐ


เป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่า การพิทักษ์ประโยชน์ของส่วนรวมถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของภาครัฐ แต่ในห้วงเวลาที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางสังคม รวมถึงกิจกรรมขององค์การภาคเอกชน และกลุ่มที่ผลักดันนโยบายสาธารณะต่างๆ ได้เรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมแสดงจุดยืนในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกอบการ
เป็นเหตุให้หน่วยงานของรัฐ ได้มีการออกกฎหมาย ระเบียบ และมาตรการทางภาษี ทั้งในเชิงบังคับและจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม ในอันที่จะปกป้องประโยชน์ของส่วนรวมและเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม

อย่างไรก็ดี บทบาทของหน่วยงานของรัฐในการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในปัจจุบัน มิได้จำกัดอยู่เพียงการใช้กฎหมายแบบบังคับและควบคุม การวางระเบียบและตรวจสอบ หรือการใช้มาตรการทางภาษี ในลักษณะที่ทำให้เป็นไปตามอาณัติ (mandating) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบทบาทของการอำนวยการ (facilitating) การเป็นหุ้นส่วน (partnering) และการสนับสนุน (endorsing) ภาคอุตสาหกรรมให้สามารถดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคมนั้นๆ ได้อีกด้วย

ธนาคารโลกได้ระบุถึงบทบาทของหน่วยงานของรัฐในการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ไว้ 4 ลักษณะ ดังนี้

บทบาทของรัฐ
การใช้อำนาจ (mandating)การใช้กฎหมายแบบบังคับและควบคุมการเป็นผู้วางกฎระเบียบและจัดตั้งหน่วยงานตรวจตราเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบการใช้รางวัลจูงใจและบทลงโทษทางการเงินและทางกฎหมาย
การอำนวยการ (facilitating)การใช้บทกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ

การจัดหาเงินทุนสนับสนุน
การสร้างสิ่งจูงใจ

การเพิ่มความตระหนัก
การสร้างเสริมสมรรถภาพ

การสร้างเหตุกระตุ้นทางการตลาด
การเป็นหุ้นส่วน (partnering)การควบรวมทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมการสร้างพันธภาพกับผู้มีส่วนได้เสียการสานเสวนา
การสนับสนุน (endorsing)การสนับสนุนทางการเมือง การประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณชน
ที่มา: Fox, Ward, Howard (2002), World Bank

ในลักษณะของการใช้อำนาจ จะประกอบด้วย การใช้กฎหมายแบบบังคับและควบคุม (command and control legislation) การเป็นผู้วางกฎระเบียบและมีหน่วยงานคอยตรวจตราให้เป็นไปตามระเบียบนั้น (regulators and inspectorates) การใช้รางวัลจูงใจและบทลงโทษทางการเงินและทางกฎหมาย (legal and fiscal penalties and rewards)

ในลักษณะของการอำนวยการ จะประกอบด้วย การใช้บทกฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษ (enabling legislation) การสร้างสิ่งจูงใจ (creating incentives) การสร้างเสริมสมรรถภาพ (capacity building) การจัดหาเงินทุนสนับสนุน (funding support) การเพิ่มความตระหนัก (raising awareness) และการสร้างเหตุกระตุ้นทางการตลาด (stimulating markets)

ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วน จะประกอบด้วย การควบรวมทรัพยากรที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรม (combining resources) การสร้างสัมพันธภาพกับผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder engagement) และการสานเสวนา (dialogue)

ในลักษณะของการสนับสนุน จะประกอบด้วย การสนับสนุนทางการเมือง (political support) และการประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณชน (publicity and praise)

ฉะนั้น หน่วยงานของรัฐที่กำลังสนใจหรือเกี่ยวข้องกับเรื่องการจัดทำนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมของหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายของหน่วยงานที่ต้องดำเนินการเองก็ดี หรือเป็นนโยบายที่ต้องไปส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนดำเนินการก็ดี พึงระลึกว่า จะต้องใช้องค์ประกอบใน 4 ลักษณะข้างต้นเพื่อการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ในฐานะผู้กำกับที่ต้องมีทั้งพระเดช-พระคุณ และอย่างเสมอภาคเป็นธรรมต่อผู้เล่นในภาคอุตสาหกรรมทั้งพระเอก-พระรอง ไม่อย่างนั้น ก็จะมีแต่ผู้ร้ายทีเผลอกันหมดทั้งวงการ


[Original Link]