Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ธุรกิจดี...ด้วยการทำดี บนฐานการพัฒนา


เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2553 บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)หรือ เอสซีจี นำโดยหัวเรือใหญ่ กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่เอสซีจี ซิเมนต์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน ร่วมใจกันจัดงานระดับชาติภายใต้หัวข้อใหญ่ Thailand Sustainable Development Symposium2010 จัดขึ้นที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อมุ่งหวังที่จะแชร์ความรู้ให้กับองค์กรอื่นๆ เพราะเชื่อว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นจะทำให้ชุมชนอยู่ร่วมกันได้ในระยะยาว ขณะที่ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน หลังจากที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้วในหลายมิติ ทั้งจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติยังมีอยู่เท่าเดิม ดังนั้นองค์กรธุรกิจไม่ควรมุ่งเน้นแต่กำไรเพียงอย่างเดียว

โดยบรรยากาศในงานดังกล่าวเต็มไปด้วยผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานจากภาคเอกชนไทย-ต่างชาติ หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา สื่อมวลชนร่วม 750 คน เพื่อมารับฟังปาฐกถาพิเศษโดย ฯพณฯกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และยังได้รับเกียรติจากฯพณฯ เลียนโป ดร.คินซัง ดอร์จิ อดีตนายกรัฐมนตรีภูฏาน มาเป็นผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีภูฏาน ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "Sustainable Development through Gross National Happiness" ในช่วงเช้า

เปิดโต๊ะแชร์ประสบการณ์
ก่อนที่ช่วงบ่าย จะมีการแบ่งห้องสัมมนาย่อยออกเป็น 3 ห้อง กระจายไปตามหัวข้อต่างๆ ในลักษณะแลกเปลี่ยน และเรียนรู้กับองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำคัญ โดยหนึ่งในหัวข้อสัมมานาย่อยที่เรียกความสนใจสูงสุดเนื่องจากมีผู้เข้ารวมสัมมนามากที่สุดคือหัวข้อ"Doing Well by Doing Good" หรือ"ธุรกิจไปได้สวยด้วยการทำดี" โดย"ฐานเศรษฐกิจ" ถอดความเห็นในการทำธุรกิจของผู้ร่วมเสวนาแต่ละท่านที่ประสบผลสำเร็จมาเป็นตัวอย่างการสะท้อนถึงแนวคิด-มุมมองในการทำความดีควบคู่กับธุรกิจในธีมความยั่งยืนในการทำธุรกิจและการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่ไปด้วย

เริ่มจากดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิด้านCSR พูดภายใต้หัวข้อ"การดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน" ที่ยอมรับว่า เมื่อพูดถึงองค์กรธุรกิจต้องหนีไม่พ้นเรื่องการแสวงหากำไร จึงต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักพื้นฐาน 3P คือ ต้องมีกำไร(profit) และต้องให้ความสำคัญของคนหรือสังคมภายในและภายนอกองค์กร (people) รวมถึงการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีทั้งภายในและภายนอกองค์กร(planet)ทั้ง3 เรื่องนี้เป็นหัวใจหลักของนักธุรกิจที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้เป็นที่ยอมรับได้ ส่วนกรณีที่มีการตั้งคำถามว่าทำไมต้องมีCSR และทำไมไม่ทำแต่กำไร กรณีนี้ไม่ได้หมายความว่าต้องลดกำไรแต่การทำCSRเพราะเราต้องมีส่วนร่วมในสังคม เมื่อสังคมไว้วางใจเราก็ทำธุรกิจได้ และนับจากนี้ไปเมื่อเรามีตลาดประชาคมโลกมีอาเซียน ก็จะมีCSR มาเป็นมาตรการด้วยเพราะCSRกำลังจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขายของในตลาดโลกด้วย

ต้องสมดุลทั้งมูลค่าและคุณค่า
ด้านนายวัฒนา โอภานนท์อมตะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และประธานCSR CLUB พูดในหัวข้อ"มิติของธุรกิจกับเรื่องสิ่งแวดล้อม"ที่มองว่าความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีความสมดุลทั้งด้านมูลค่าและด้านคุณค่า ซึ่งด้านคุณค่านั้นคือการทำธุรกิจจะต้องมีกำไรมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่การจัดการของแต่ละบริษัท ขณะที่องค์กรก็จะต้องมีคุณค่าด้วย ซึ่งบางจาก พยายามทำให้ทุกมิติเกิดความสมดุลขึ้น เช่นการมีแนวคิดเรื่องพลังงานทดแทน ที่เกิดขึ้นเพราะเราเอาตัวธุรกิจที่เรามีอยู่เป็นตัวตั้ง โดยมองว่าจะทำให้สิ่งแวดล้อมและสังคมดีขึ้นได้อย่างไร เมื่อเรามีพลังงานทดแทน เช่น มี แก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล โซลาร์เซลส์ ล้วนเป็นพลังงานสะอาด มันก็จะไปโยงเรื่องเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมได้ โดยที่ต้นทุนเราไม่ได้สูงขึ้น แต่เราได้พื้นที่สีเขียวมากขึ้น

ใส่ใจชุมชนเห็นผลทางจิตใจ
ด้านนายวีระเดช สมบูรณ์เวชชการ ประธานบริหาร บริษัท วีพีพี โปรเกรสซิฟ จำกัด ผู้ผลิตเมล็ดกาแฟ และผู้บริหารร้านกาแฟ "ดิโอโร่"กล่าวภายใต้หัวข้อ"องค์กรธุรกิจกับการดูแลใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม" โดยเขามองว่า การทำธุรกิจจะต้องให้ความใส่ใจในการดูแลชุมชนและสังคมให้ดีอย่างที่บริษัทให้การส่งเสริมเกษตรกรการปลูกเมล็ดกาแฟทำเป็นคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง โดยให้ความสำคัญกับชาวเขาอย่างยั่งยืน โดยเกษตรกรชาวเขาจะมีรายได้ที่แน่นอนปีละ 40,000-50,000 บาท โดยที่บริษัทเข้าไปให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพของเมล็ดกาแฟให้ชุมชนที่อยู่บนดอย พร้อมทั้งขยายโครงการไปยังโรงเรียนสนับสนุนให้เด็กนักเรียนปลูกกาแฟ เสริมสร้างจิตสำนึกด้านธรรมาภิบาล เมื่อเด็กนักเรียนมีรายได้ ก็นำไปพัฒนาโรงเรียน ทั้งหมดนี้ถึงแม้จะหนีไม่พ้นในการเสียเวลา เสียกำลัง และอาจจะมองไม่เห็นผลตอบแทนด้านกำไร แต่เราจะเห็นผลด้านจิตใจในองค์กรของเรา และจิตใจของสังคมผู้ด้อยโอกาส

ทำเพื่อสังคมหนุนเพิ่มรายได้
ขณะที่นายชาญ จิตร์ภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน เอสซีจี เปเปอร์ พูดถึงหัวข้อ"ธุรกิจไปได้สวยด้วยการทำดี" ว่าเศรษฐกิจจะไม่ได้ดีถ้าไม่มี 3 องค์ประกอบคือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องสมดุลกัน และเหตุที่ต้องให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ก็เพราะเอสซีจีเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หากต้องอยู่ในสังคมอย่างยั่งยืนก็ต้องเกื้อกูลกัน ตอบแทนและช่วยเหลือสังคม ซึ่งเมื่อเราทำประโยชน์ให้กับสังคมแล้ว กลับเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เพราะผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเพิ่ม ถ้าสินค้าหรือบริการนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เหมือนบริษัท อินโฟเซฟ จำกัด(บริษัทในกลุ่มเอสซีจี เปเปอร์) ที่ให้บริการย่อยทำลายข้อมูลสำคัญแบบครบวงจร เป็นการทำลายข้อมูลลับให้กับลูกค้า โดยมีโครงการ"เปลี่ยนความลับเป็นความรัก" ที่ทุก 1 ตันของกระดาษที่รับมาทำลายข้อมูล เราจ่ายให้ 2,000 บาท/ตัน เป็นเงินที่อินโฟเซฟร่วมกับลูกค้า เข้ากองกลางเพื่อนำไปทำงานด้านCRS ทำให้ภายในปี 2553 นี้ จะมีปริมาณกระดาษที่ส่งเข้ามาทำลายสูงถึง 3,000 ตัน โดยทั้งหมดนี้เกิดจากที่เรามีแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน(Sustainable Development) หรือ SD

บทพิสูจน์เอสซีจี กับ SD
วันนี้เอสซีจีถือเป็นองค์กรนำร่องของไทยที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนทำให้เอสซีจียืนหยัดอยู่ได้นานถึง 96 ปี เหลือเวลาอีกไม่กี่ปีก็จะฉลองใหญ่ในโอกาสครบ 100 ปี นี่คือผลตอบรับประการหนึ่งที่เกิดจากที่มีความต่อเนื่องในการพัฒนาองค์กรอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับที่ล่าสุดเอสซีจีได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนอันดับ 1 ของโลก หรือSupersector Leader ในกลุ่มก่อสร้างและวัสดุประจำปี 2553 โดยDow Jones Sustainability Indexesหรือ DJSI ซึ่งเป็นดัชนีหลักทรัพย์ที่ประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก โดยมีเกณฑ์การประเมิน 3 ประเด็นหลักด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม


[Original Link]