5 ข้อเสนอแนะ วางกลยุทธ์ CSR ให้เข้มแข็ง - มีกำไร
• | ระดมสมองยอดฝีมือวงการ CSR สร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน |
• | แม่ไม้การสร้างผลกำไรด้วยสมการ 3 P |
• | เตรียมรับมือกระแส New Normal เมื่อเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม เปลี่ยนไป |
• | พลาดไม่ได้กับเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน - ข้อเสนอแนะการวางกลยุทธ์ |
อาทิตย์ที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ได้จัดงานสัมมนา “กลยุทธ์ CSR เข้มแข็ง - ธุรกิจมีกำไร” ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความแข็งแรงอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ผู้เข้าร่วมบรรยายครั้งนี้ประกอบด้วย วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์, อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอเซียพรีซิชั่น จำกัด, สุวรรณา จิวัฒนไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซองเดอร์ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด และ สุวัฒน์ ทองธนากุล บรรณาธิการบริหาร เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
สำหรับเนื้อหาจากนี้เป็นการสรุปการบรรยายของผู้อำนวยการสถถาบันไทยพัฒน์ ภายใต้หัวข้อ ปฏิรูปบริบทธุรกิจ SMEs ด้วยสมการ Product+Process+Profile เท่ากับ Profit และ CSR เพื่อการเพิ่มยอดขาย ลดรายจ่าย และขยายตลาด
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ทุกวันนี้เรื่อง CSR ได้แผ่ขยายเข้าไปยังธุรกิจในทุกวงการ จนทำให้ผู้บริหารองค์กรต่างต้องทำการศึกษารับมือเพื่อค้นหาแนวทางในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมที่เหมาะสำหรับองค์กรของตนเองอย่างขนานใหญ่ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การที่องค์กร หรือผู้บริหารเพิ่งศึกษาหรือรับทราบเรื่องราว CSR จากภายนอก ไม่ได้หมายความว่า ที่ผ่านมาองค์กรนั้นไม่ได้มีเรื่อง CSR อยู่ในองค์กร หากแต่สิ่งที่ผู้บริหาร หรือองค์กรทำอยู่นั้นยังไม่ได้เรียกหรือสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจในภาษา CSR เท่านั้น
แท้ที่จริงแล้วในทุกองค์กรธุรกิจล้วนแล้วแต่มีการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วทั้งสิ้น จะต่างกันก็ตรงความเข้มข้นของการดำเนินงานที่มีมากน้อยไม่เหมือนกัน องค์กรหนึ่งอาจมีความสำนึกรับผิดชอบสูงกว่า ขณะที่อีกองค์กรหนึ่งอาจมีการใช้ทรัพยากรในการดำเนิน CSR ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่า หรือองค์กรหนึ่งอาจสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางกว่า หรือองค์กรอีกแห่งหนึ่งสามารถส่งมอบผลลัพธ์จากการดำเนิน CSR ให้แก่สังคมได้ประสิทธิผลมากกว่า ทำให้การพิจารณาเรื่อง CSR ในองค์กรหนึ่งๆ จะต้องคำนึงถึงทั้ง “กระบวนการ - ผลลัพธ์” ควบคู่กันไป
“อย่าเข้าใจผิดว่าองค์กรของท่านยังไม่มี CSR หรือยังไม่ได้ทำ CSR เพราะการที่องค์กรของท่านเติบโตและยืนหยัดอยู่ถึงทุกวันนี้ได้ แสดงว่า กิจการของท่านต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมอยู่แล้วไม่มากก็น้อย มิเช่นนั้น สังคมคงไม่อนุญาตให้ท่านได้ทำธุรกิจอย่างที่เป็นอยู่ หรือไม่ยอมรับท่านให้เป็นสมาชิกหนึ่งของสังคมเช่นนี้” พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ อธิบาย
แน่นอนว่าการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการเอสเอ็มอี ย่อมต้องมีความแตกต่างจากธุรกิจขนาดใหญ่ นั่นเป็นเพราะขนาดของทรัพยากรที่มีในกิจการ ขีดความสามารถในการดำเนินงาน รวมทั้งผลกระทบที่ส่งต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นมีความแตกต่างกัน การดำเนินงาน CSR ของเอสเอ็มอี จึงควรคำนึงถึงปัจจัยในเรื่องการปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม เรียบง่ายไม่ซับซ้อน ใช้ต้นทุนที่ได้ประสิทธิภาพ และไม่มุ่งเน้นเรื่องงบประมาณ
ปฏิรูปบริบทธุรกิจเอสเอ็มอีด้วย CSR
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ในมาตรา 67 ได้ส่งผลต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยต้องมีกระบวนการในการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งองค์กรอิสระในการให้ความเห็นประกอบก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ได้
การระงับโครงการหรือกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉาง และใกล้เคียงไว้เป็นการชั่วคราว ตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ที่มีลักษณะเข้าข่ายมาตรา 67 วรรค 2 และก่อให้เกิดความชะงักงันในการดำเนินโครงการ เนื่องจากต้องรอให้มีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตราดังกล่าวให้ครบถ้วนก่อน
โดยศาลเห็นว่าเป็นกรณีที่มีปัญหาความน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิการ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน เพราะภายหลังที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 แล้วได้มีการออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว โดยยังไม่ได้มีการกำหนดว่าโครงการหรือกิจกรรมใดเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ รวมทั้งยังไม่ได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ
แม้ธุรกิจจะอ้างอิงถึงตัวเลขความเสียหายและผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจ แต่ปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษสูง ซึ่งรวมกันอยู่ในพื้นที่มาบตาพุดอันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศมีอยู่จริง และส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ของปัญหามลพิษมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่ามีเหตุจำเป็นและเป็นการยุติธรรมและสมควรตามหลักนิติธรรม หลักการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และหลักการบริหารงานของรัฐอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่ให้ระงับโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว
นอกจากผลกระทบกรณีของมาบตาพุด วิกฤตเศรษฐกิจในรอบที่ผ่านมา ยังได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลจาก PSB Survey on Sustainability in the 2009 Recession ระบุว่า นอกจากปัจจัยในเรื่องราคา คุณภาพ ความสะดวกสบาย และคุณธรรมในการประกอบการแล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือกระแสสีเขียวช่วงหลังวิกฤต เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 15 เป็นเหตุให้ธุรกิจแทบทุกสาขามีการปรับสายผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้งกระบวนการผลิตขององค์กรเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมในฝั่งอุปสงค์ที่คำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้นด้วย
ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในปี 2553 อีกเรื่องหนึ่ง เกิดจากข้อตกลงการเปิดเสรีสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งจะส่งผลให้สินค้านำเข้า 8,300 รายการ มีอัตราภาษีลดเหลือ 0% สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนเดิม 6 ประเทศ รวมทั้งผลของความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) และสาธารณรัฐเกาหลี (AKFTA) นับจากเดือนมกราคมนี้ ตลอดจนความตกลงการค้าระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (AANZFTA) นับตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป
เอสเอ็มอีจึงต้องศึกษาข้อมูลและปรับตัวรองรับทั้งโอกาสและผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรี เพราะจากนี้ไปมาตรการภาษีนำเข้า มาตรการโควตาภาษี และอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ที่ขัดต่อความตกลงดังกล่าวก็จะต้องถูกยกเลิก ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาใช้มาตรการชนิดอื่นๆ ที่ได้รับการยกเว้นเพื่อป้องกันผลกระทบจากการเปิดตลาดเสรีการค้า อาทิ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มาตรการอุปสรรคทางเทคนิคทางการค้า (TBT) กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (ROO) มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG) ซึ่งมาตรการต่างๆ เหล่านี้มีความเกี่ยวเนื่องกับแนวปฏิบัติทาง CSR แทบทั้งสิ้น
เอสเอ็มอีถูกขนาบด้วย CSR
ความรับผิดชอบของกิจการในสายอุปทาน หรือ CSR in Supply Chain เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากนับจากนี้ไป กรณีที่เกิดขึ้นในสายอุปทานไม่ว่าจะเป็นเรื่องความบกพร่องหรือการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือการปฏิบัติด้านแรงงานที่ไม่เป็นธรรม เช่น ปัญหาโรงงานของ Foxconn ในจีน เป็นตัวเร่งให้บรรดาบรรษัทข้ามชาติทั้งหลายต้องผลักดันให้ผู้ส่งมอบ ผู้ผลิตชิ้นส่วนในสายอุปทานแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่สากลยอมรับอย่างเข้มงวด ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เอสเอ็มอีไม่ว่าจะอยู่ซีกโลกไหนก็จะต้องรับเอาข้อกำหนดเหล่านี้มาปฏิบัติต่อกันเป็นทอดๆ ด้วยความจำยอม แม้ไม่มีกฎหมายในประเทศบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม
ในหลายประเทศผู้ส่งมอบ บรรดาเอสเอ็มอีต่างต้องปวดหัวและเสียเวลาไปกับภาระเกินจากการฝึกอบรม (Training) และการตรวจสอบ (Auditing) หลายซ้ำหลายซ้อนจากภายนอก เพียงเพื่อให้บรรดาคู่ค้ามีความเชื่อมั่นและวางใจในกระบวนการดำเนินธุรกิจของตนว่ามีความรับผิดชอบถึงขนาดที่ค้าขายกันได้ อุบัติการณ์นี้เป็นเงื่อนไขใหม่ที่องค์กรธุรกิจต่างต้องเผชิญในเวทีการค้าสากล
คำถามมีอยู่ว่าเอสเอ็มอีต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ สำหรับองค์กรธุรกิจกลุ่มหนึ่งอาจไม่ต้องปรับอะไร หากสินค้าและบริการยังเป็นที่ต้องการอยู่ หรือธุรกิจไม่เดือดร้อนเพราะไม่จำเป็นต้องพึ่งพายอดขายจากคู่ค้าเหล่านี้
เตรียมรับมือกับกระแส New Normal
คำว่า New Normal ได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นวาระในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมภายใต้บริบทปัจจุบันที่มีเงื่อนไขแตกต่างไปจากเดิม และไม่สามารถที่จะฟื้นคืนสภาพปัจจัยต่างๆ ให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป
ด้านเศรษฐกิจกระแสเรื่องจุดปกติใหม่ หรือ New Normal เกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่การเติบโตจากนี้จะมีอัตราที่เชื่องช้า การว่างงานยังคงมีอัตราสูง การก่อหนี้ของภาคประชาชนมีแนวโน้มลดลง ปรากฏการณ์นี้ส่อเค้าจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกให้เกิดอาการเซื่องซึมยาวนาน การกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับไปสู่จุดปกติเดิมก่อนวิกฤตแทบไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน บรรดาธุรกิจในทุกแขนงกำลังเรียนรู้พฤติกรรมและเงื่อนไขใหม่เพื่อวางกลยุทธ์ไว้รองรับการเคลื่อนตัวของเศรษฐกิจไปสู่จุดปกติใหม่นี้กันอย่างขะมักเขม้น
ด้านสังคมอิทธิพลจากความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติ ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศน์ ความตกต่ำทางวัฒนธรรม ภัยคุกคามที่เกิดกับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม ก่อให้เกิดเงื่อนไขใหม่ในการดำรงชีวิตท่ามกลางปัญหาเก่าที่หมดหนทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการจมปลักในความยากจนซ้ำซาก การสะสมความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น การฉวยประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมเสมอภาค จึงทำให้ประชาชนหมดความอดกลั้น และไม่ลังเลที่จะแสวงประโยชน์ส่วนตนเหนือประโยชน์ส่วนรวม การรวมตัวเพื่อเรียกร้องประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะพวก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบส่วนใหญ่กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของพลเมืองผู้ที่มีเสียงดังย่อมได้รับตามคำเรียกร้อง
แม้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของเศรษฐกิจโลกเนื่องด้วยพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ แต่ก็ไม่รุนแรงเท่ากับปัจจัยภายในประเทศที่ฉุดรั้งการพัฒนาและการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางสังคมที่รุนแรงขึ้นจากปัจจัยทางการเมือง คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพที่เสื่อมโทรมมากขึ้นอันเป็นผลจากการดำเนินธุรกิจที่ขาดความรับผิดชอบ และขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพของรัฐที่สะสมมายาวนานต่อเนื่อง
ประชาชนจึงลุกขึ้นมาทวงสิทธิของตนในทุกช่องทางทั้งการใช้กฎหมายและการกดดันทางสังคมโดยไม่อะลุ้มอล่วย ด้วยเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ การดำรงอยู่ของธุรกิจและสังคมจะไม่สามารถหวนกลับไปสู่จุดปกติเดิมได้อีกต่อไป
ในภาคธุรกิจการคำนึงแต่ผลกำไร (Profit) จะไม่ถือเป็นเรื่องปกติอีกต่อไป หากมิได้รวมเรื่องการคำนึงถึงผู้คน (People) ในสังคมและโลก (Planet) ที่เป็นผู้มอบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าประสงค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นที่ตั้ง
บนเส้นทางแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
หลักการของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งนิยามโดย Brundtland Commission เมื่อปี 2520 หมายถึง การพัฒนาที่สามารถสนองความต้องการที่จำเป็นของคนรุ่นปัจจุบัน โดยไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป
กลไกสำคัญซึ่งนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคธุรกิจได้แก่ เรื่อง CSR ที่ไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือเพียงเพื่อประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กร แต่ยังต้องผนวกความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในทุกกระบวนการดำเนินงานขององค์กรให้ได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน
เรื่อง CSR กับ SD ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน แต่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องของการพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมภายใต้ข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการสนองความต้องการที่จำเป็นของคนในรุ่นต่อไป ซึ่งหมายรวมถึง เรื่องวิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน (sustainable consumption) และเรื่องแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน (sustainable resource)
แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนจะคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือ Profit-People-Planet ในมุมมองของ Triple Bottom Line ที่มีความเชื่อมโยงกัน เช่น การขจัดความยากจนจำเป็นต้องคำนึงถึงการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมและความเป็นธรรมทางสังคมประกอบกัน โดยมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืน (state of sustainability) ของสังคมโลกโดยรวม ไม่ใช่เพื่อความยั่งยืน หรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง
ขณะที่ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการเป็นเรื่องระดับองค์กรที่คำนึงถึงการดำเนินงานออย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนสนับสนุนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถใช้เป็นเครื่องมือขององค์กร ทั้งในการสร้างความยั่งยืนให้องค์กร และการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือขีดความสามารถในการอยู่รอดขององค์กร อาจมีวิธีการที่แตกต่างหรือสวนทางกับการพัฒนาที่ยั่งยืนก็ได้
ข้อเสนอแนะต่อการวางกลยุทธ์ CSR
ด้วยความที่เป็นองค์กรขนาดเล็กเอสเอ็มอีจึงมีศักยภาพในการใช้ความคล่องตัว และความคิดแปลกใหม่ตอบสนองต่อโอกาส หรือประเด็นปัญหาทางสังคมได้ดี อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบในการทำ CSR เมื่อเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่ในแง่ของความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่นและการที่ผู้บริหารสามารถชี้นำกิจกรรมขององค์กรได้อย่างทันทีทันใด ข้อเสนอแนะและข้อควรพิจารณาที่เรียบเรียงจากมาตรฐานว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000:2010) สำหรับเอสเอ็มอีในเรื่อง CSR 5 ประการได้แก่
1. | เนื่องจากธรรมชาติในเรื่องการบริหารงานภายใน การรายงานต่อผู้มีส่วนได้เสีย และในกระบวนการอื่นๆ ของกิจการเอสเอ็มอี มักมีความยืดหยุ่นและลำลองกว่าองค์กรขนาดใหญ่ ความโปร่งใสในการดำเนินงานจึงควรได้รับความคาดหวังในระดับที่เหมาะสม และแตกต่างจากองค์กรขนาดใหญ่ |
2. | การกำหนดขอบเขตของการดำเนินงาน CSR รวมถึงการตอบสนองต่อเรื่องหลัก (core subjects) และการระบุประเด็น (issues) ปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องจะต้องคำนึงถึงบริบท เงื่อนไข และทรัพยากรขององค์กร ตลอดจนประโยขน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยไม่จำเป็นว่าเอสเอ็มอีจะต้องตอบสนองในทุกๆ ประเด็น เพียงแต่ให้ครอบคลุมในทุกเรื่องหลัก และเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องก็ถือว่าเพียงพอแล้ว |
3. | มุ่งเน้นในประเด็นที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ โดยเฉพาะประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอีควรมีแผนการดำเนินงานเพื่อสนองประเด็นอื่นๆ ที่ยังมิได้ดำเนินการ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม |
4. | แสวงหาความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐและองค์กรภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติด้าน CSR ที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ และตรงกับความต้องการของกิจการตลอดจนผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล |
5. | ดำเนินงานด้วยความร่วมมือกับองค์กรข้างเคียงและกับธุรกิจที่อยู่ในสาขาเดียวกัน แทนการดำเนินงานโดยลำพังเมื่อมีโอกาส ทั้งนี้ เพื่อประหยัดทรัพยากรและเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินงานด้าน CSR |
หากเริ่มผิดก็หลงทิศทั้งกระบวน
ที่ผ่านมาองค์กรส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่อง CSR มักมีมุมมองว่าการทำ CSR เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางสังคม และมักมีข้อสรุปตามมาว่า CSR เหล่านั้นถือเป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องจัดสรรคืนกลับสู่สังคมผ่านทางกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบกับกำไรที่ได้จากการดำเนินงานและผู้ถือหุ้นของกิจการไม่มากก็น้อย ทัศนคติที่ว่านี้ แสดงให้เห็นว่าเป้าหมายหรือเข็มทิศทางดำเนินงานระหว่างเรื่องธุรกิจและเรื่องสังคม มิได้ชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การพิจารณาการดำเนินงาน CSR จึงเป็นเรื่องที่แปลกแยกไปจากการดำเนินธุรกิจโดยอัตโนมัติ
ในหลายกรณีกิจการที่เข้าใจบริบทของ CSR อย่างรอบด้าน สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่า การทำ CSR เป็นการดำเนินงานที่ตอบสนองต่อมิติทางธุรกิจ และมิได้เป็นภาระหรือค่าใช้จ่ายขององค์กร แต่กลับเป็นปัจจัยที่เสริมหนุนขีดความสามารถทางการแข่งขัน และการเติบโตของกำไรที่มั่นคง
กิจการที่ก้าวมาสู่ขั้นนี้ได้ มักจะมีเข็มทิศทางการดำเนินงานในเรื่องธุรกิจและเรื่องสังคมชี้ไปในทิศทางเดียวกัน การพิจารณาดำเนินงาน CSR ขององค์กรเหล่านี้ จึงผสมผสานกลมกลืนกับการดำเนินธุรกิจธุรกิจได้อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมิได้ถูกปฏิเสธจากผู้ถือหุ้นด้วย
การปรับทิศหรือแนวการดำเนินงาน CSR ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจจะพิจารณาใน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (Product) กระบวนการ (Process) และโพรไฟล์ (Profile) ที่นำไปสู่สมการแห่งการสร้างกำไร (Profit) ให้แก่เอสเอ็มอี
เอสเอ็มอีสามารถปรับตัวผลิตภัณฑ์ โดยคำนึงถึงตั้งแต่เรื่องวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ เช่น การเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อลดการขนส่งและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ท้องถิ่นสถานประกอบการตั้งอยู่ การออกแบบผลิตภัณฑ์หรือการปรับบรรจุภัณฑ์ที่ลดมลภาวะหรือขยะมูลฝอย หรือการเพิ่มสายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เจาะตลาดสีเขียวสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่ห่วงใยเรื่องสิ่งแวดล้อมและสุขภาพซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และมีผลสำรวจยืนยันว่าเกือบครึ่งของผู้บริโภคกลุ่มนี้ ยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเล็กน้อยเพื่อแลกกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือดำรงอยู่ในวิถีชีวิตสีเขียว
การปรับตัวกระบวนการ โดยคำนึงถึงแนวโน้มทางการค้ายุคใหม่ต่างก็แสวงหาความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทำธุรกิจกันทั้งนั้น การริเริ่มทำ CSR โดยต้องรอให้มีกำไรก่อน หรือให้พร้อมก่อนนั้นอาจไม่ทันการณ์กับความต้องการทางธุรกิจ ซึ่งในกรณีนี้ไม่ใช่ทางเลือกที่เอสเอสอีจะเลือกว่าทำหรือไม่ทำ หรือรอก่อนได้ เปรียบเหมือนกับเรื่อง ISO 9000 ที่ในยุคสมัยปัจจุบันหากกิจการใดไม่ได้รับการรับรองก็อาจจะไม่สามารถค้าขายกับบรรดาคู่ค้าที่อยู่ในสายอุปทานได้อย่างสะดวกเช่นเดิม
การสร้างโปรไฟล์ทาง CSR ก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญต่อจากเรื่องผลิตภัณฑ์และกระบวนการ เพราะบรรดาคู่ค้าที่มี CSR จะพิจารณาค้าขายกับกิจการที่มี CSR ด้วยกันเองก่อน เพราะไม่ต้องการที่จะเสี่ยงต่อความไม่รับผิดชอบของคู่ค้าที่เป็นได้ทั้งผู้ส่งมอบ (Suppliers) ในฝั่งต้นน้ำ และผู้กระจายสินค้า (Distributors / Dealers) ในฝั่งปลายน้ำ แล้วทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องให้เสียทั้งชื่อเสียงและเงินทอง
[Original Link]