Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

เปิดข้อมูล CSR ฉบับ ก.ล.ต.


เห็นข่าวชิ้นหนึ่งของ ก.ล.ต. ที่มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นรองรับนโยบายการกำกับดูแลการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ไปสู่แนวทางสากลที่มุ่งเน้นความเพียงพอและคุณภาพการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนผ่านช่องทางตลาดทุนได้คล่องตัวขึ้น โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป

หลักเกณฑ์ใหม่นี้ ก.ล.ต. จะยังคงกำหนดให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จะไม่กำหนดคุณสมบัติในเรื่องการดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติตามกฎหมายอื่น ได้แก่ การประกอบธุรกิจหลักเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม การไม่มีเหตุสงสัยว่าบริษัทจะไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และการประกอบธุรกิจไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเน้นให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาข้อมูลเพื่อตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง

เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต. ข้างต้น แต่บริษัทผู้ออกหุ้นสามารถใช้เป็นแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมร่วมกับการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลในการประกอบการพิจารณาลงทุนเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับความต้องการลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคม (Socially Responsible Investing: SRI) ภายใต้ความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้

แนวปฏิบัติด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR Guidelines ที่ ก.ล.ต. ได้ประกาศเผยแพร่ไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีหัวข้อที่แนะนำให้บริษัทจดทะเบียนจัดทำรายงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้

หลักการ ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นการปฏิบัติตามแนวทาง CSR ที่บริษัทฯได้ดำเนินการ โดยข้อมูลที่เปิดเผยนี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ยังช่วยในการสอบทานให้บริษัทฯทราบว่า ได้ดำเนินการในเรื่อง CSR ตรงกับเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ อย่างไร

แนวปฏิบัติ (1) จัดทำรายงานเปิดเผยการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR report) โดยอาจระบุไว้ในรายงานประจำปี (annual report) หรือจัดทำเป็นฉบับแยกต่างหากจากรายงานประจำปี ที่เรียกว่า รายงานความยั่งยืน (sustainability report) ตามรูปแบบที่สากลยอมรับและควรครอบคลุมเนื้อหาในหัวข้อดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย

การดำเนินงานด้านธุรกิจ กล่าวถึง
วิสัยทัศน์
กลยุทธ์ของธุรกิจที่สะท้อนหลักการและแนวทางปฏิบัติตามหลักการ CSR
โครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ผลการดำเนินงาน

การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย กล่าวถึง
นโยบายการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย
กระบวนการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟูธรรมชาติ
กระบวนการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิต
ลักษณะของผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานด้านสังคม กล่าวถึง
นโยบายการจัดการด้านแรงงานและพนักงาน
สวัสดิภาพในการทำงานของพนักงาน
การพัฒนาและฝึกอบรมพนักงาน
การส่งเสริมและพัฒนาชุมชนและสังคมโดยรอบพื้นที่ตั้งของธุรกิจ

(2) จัดทำข้อมูลในรายงานให้ชัดเจน กระชับ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย หลีกเลี่ยงข้อมูลที่ไม่จำเป็น โดยสรุปการดำเนินการทั้งด้านดีและด้านไม่ดีตามข้อเท็จจริง หากมีการอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากภายนอก ให้ระบุแหล่งที่มาของข้อมูล และกลั่นกรองความถูกต้องของข้อมูลก่อนนำมาเปิดเผยไว้ในรายงาน

(3) จัดให้มีช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก เช่น จัดทำรายงานทั้งในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ของธุรกิจ/บริษัท

การเปิดเผยข้อมูลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม แม้จะมิใช่ข้อกำหนดให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องปฏิบัติ แต่เป็นการสมัครใจเลือกที่จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวด้วยตนเอง ทั้งนี้ ผลการวิจัยทางตลาดทุนในต่างประเทศหลายชิ้นระบุในแนวทางเดียวกันว่า ส่งผลเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ภาพลักษณ์ของบริษัท และผลตอบแทนการลงทุน (ดู www.socialinvest.org/resources/factsheets_resources/)


[Original Link]