Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทำ CSR แบบ SMEs


ที่ผ่านมา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (Corporate Social Responsibility - CSR) ไล่มาตั้งแต่ตัวเจ้าของกิจการ หรือเถ้าแก่ ลงมาถึงตัวพนักงาน หรือลูกจ้าง อีกหลายแห่งก็ยังไม่รู้และไม่เข้าใจว่า CSR คืออะไร ทำไมต้องทำ CSR ทำ หรือ CSR แล้วได้ประโยชน์อะไรบ้าง

เอสเอ็มอีส่วนใหญ่ คิดว่า CSR เป็นเรื่องของการทำกิจกรรมเพื่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมในรูปของการบริจาคหรือคืนกำไรให้สังคม ฉะนั้น เมื่อกิจการตนเองยังไม่ค่อยมีกำไร ไม่ค่อยมีเวลา จึงไม่สนใจทำ CSR และคิดไปว่า CSR เป็นเรื่องของบริษัทใหญ่ที่มีกำไรเยอะๆ แล้ว

ทว่า CSR คือ การบริจาคหรือการอาสาตอบแทนสังคมในเรื่องต่างๆ นั้น ก็ถูกต้อง แต่ถูกเพียงเสี้ยวเดียว อันที่จริงแล้ว นิยามที่เข้าใจได้ง่ายๆ สำหรับเอสเอ็มอี ก็คือ การทำมาค้าขายหรือทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบ เช่น ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ไม่เอาเปรียบลูกจ้าง ตรงไปตรงมากับคู่ค้า ไม่ปล่อยน้ำเสียของเสียกระทบเพื่อนบ้าน ฯลฯ CSR แบบนี้ หลายเรื่องไม่เกี่ยวกับการใช้เงินแม้แต่บาทเดียว

การดูแลลูกค้าให้ได้รับบริการที่ดี รับผิดชอบต่อพันธสัญญาที่ให้ไว้ คอยแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ หรือกรณีที่มีปัญหาหรือข้อบกพร่องก็รีบขวนขวายเป็นธุระจัดการแก้ไขให้ เหล่านี้คือ CSR ที่กิจการสามารถทำกับกลุ่มลูกค้า (คิดเสียว่าเป็นลูก....ที่เราค้าขายด้วย) ในเมื่อกิจการทำแล้ว ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ ผลดีที่สะท้อนกลับมายังองค์กร คือ ลูกค้าก็ยินดีที่จะควักเงินในกระเป๋าอุดหนุนกิจการของเราเรื่อยไป

ส่วนการดูแลลูกจ้าง (ให้คิดเสมือนว่าเป็นลูก...ที่เราจ้างมาทำงาน) อาทิ การจ่ายเงินเดือนให้ตรงเวลา การดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน การหมั่นไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบของผู้ใต้บังคับบัญชา การพัฒนาและฝึกอบรมให้มีทักษะความก้าวหน้าในงานที่ทำ เหล่านี้คือ ตัวอย่าง CSR กับกลุ่มพนักงานหรือลูกจ้าง เมื่อเขาเหล่านั้นมีความสุขในงานที่ทำ ผลิตภาพ (Productivity) หรือเนื้องานก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยไม่ต้องเคี่ยวเข็ญ หรือเอาเงินเป็นสิ่งจูงใจอยู่ตลอดเวลา

สำหรับการค้าๆ ขายๆ กับคู่ค้า (หรือมองว่าเป็นคู่...ซึ่งเราค้าขายด้วย ที่แม้ยิ่งคบกันนาน ก็คงไม่เบือนหน้าหนียิ่งไปกว่าเดิม) ที่พอจะหยิบยกมาเป็นประเด็นทาง CSR ก็ได้แก่ การหลีกเลี่ยงไม่ข้องเกี่ยวกับสินบนหรือการทุจริตคอร์รัปชัน การไม่ซูเอี๋ยเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเครือญาติ การเคารพต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้อื่น (เช่น ลิขสิทธิ์ ทรัพย์สินทางปัญญา) หรือการที่กิจการของเราทำ CSR ให้เป็นแบบอย่างกับองค์กรอื่นๆ

ส่วนในเรื่องสิ่งแวดล้อม แม้เอสเอ็มอีของเรา จะไม่จำเป็นต้องไปทำกิจกรรมปลูกป่า สร้างฝายเหมือนกับองค์กรขนาดใหญ่ แต่วิกฤตน้ำท่วมในปีนี้ สะท้อนให้เห็นถึงภัยธรรมชาติซึ่งถูกซ้ำเติมด้วยน้ำมือมนุษย์ที่ละเลยเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องผังเมือง เรื่องการบริหารจัดการน้ำ กิจการเอสเอ็มอีสามารถทำ CSR ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างง่ายๆ โดยเริ่มจากสิ่งใกล้ตัว เช่น การประหยัดพลังงาน การใช้ทรัพยากรอย่างรู้ค่าและอย่างยั่งยืน การป้องกันและบำบัดมลพิษก่อนปล่อยออกจากสถานประกอบการ รวมทั้งการร่วมรณรงค์ในมาตรการที่เกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหมู่เอสเอ็มอีด้วยกันหรือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

CSR ในมิติของเอสเอ็มอีนี้ มุ่งหมายถึง การดำเนินธุรกิจแสวงหากำไรอย่างรับผิดชอบ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณหรือเงินเป็นตัวตั้ง การพิจารณา CSR ในมิตินี้ จึงเกี่ยวข้องกับการปลูกฝังให้ทุกคนในทุกส่วนงาน ทุกแผนก ทุกฝ่ายขององค์กร ตั้งแต่ระดับเถ้าแก่ ผู้บริหาร จนถึงพนักงาน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และได้มีส่วนร่วมในการทำ CSR ทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน การเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเคารพในสิทธิส่วนบุคคล และทำงานในหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มความสามารถ รวมไปถึงการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ผลที่ได้จากการทำ CSR ที่นอกจากการเป็นองค์กรที่ประสบผลสำเร็จในด้านการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือ ความไว้วางใจ และเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วย ด้วยเหตุที่ว่ามานี้ การทำ CSR จึงมิได้ทำให้กิจการต้องเสียกำไร ตรงกันข้ามกลับจะไปเสริมสร้างผลกำไรให้มีความเข้มแข็ง จากการที่ไม่ไปสร้างปัญหาหรือความขัดแย้งกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ซึ่งผมจะนิยามธุรกิจที่ทำ CSR ว่าเป็นองค์กรที่สามารถทั้ง Maximize Profit และ Minimize Conflict ไปพร้อมๆ กันในตัว


[Original Link]