เลือกกิจกรรม (ที่ใช่) เพื่อสังคม (ที่ชอบ)
การดำเนินกิจกรรม (Activities) ความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (CSR) ในหลายกรณี มิได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่องค์กรธุรกิจกำหนดไว้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจาก กิจกรรมเหล่านั้นมีมาก่อนที่องค์กรนั้นๆ จะได้ริเริ่มจัดทำนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ความรับผิดชอบต่อสังคม และอีกกรณีหนึ่ง เป็นการดำเนินกิจกรรม CSR ที่มีความซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงานในองค์กร ทำให้เกิดโอกาสที่กิจกรรม CSR จำนวนหลายกิจกรรม ถูกดำเนินไปเพียงเพื่อตอบสนองในวัตถุประสงค์ข้อเดียวกัน ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรม CSR ขององค์กรไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
เพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพในการดำเนินกิจกรรม CSR องค์กรควรเฟ้นหาหรือยกระดับกิจกรรมที่ดำเนินอยู่เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ได้ในหลายๆ ข้อ และพิจารณายุบหรือควบรวมกิจกรรม CSR ที่มีความซ้ำซ้อนกัน เพื่อมิให้จำนวนกิจกรรม CSR ที่ตอบสนองเพียงวัตถุประสงค์ในข้อใดข้อหนึ่งมีปริมาณมากเกิน จนกลายเป็นภาระหรือเป็นอุปสรรคต่อการบริหารดูแล และกลายเป็นว่า แทนที่จะใช้งบประมาณหรือทรัพยากรไปเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรม CSR แก่กลุ่มเป้าหมาย กลับต้องมาใช้เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือค่าบริหารจัดการสำหรับผู้ดำเนินงานเป็นหลัก
ในหลายกิจกรรมที่เป็นงานในกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-in-process องค์กรสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวผ่านทางสายงานที่รับผิดชอบ ภายใต้โครงสร้างหรือผังองค์กรที่เป็นปัจจุบันโดยปราศจากการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม หรือพูดอย่างง่ายคือ เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เงิน แต่เป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานที่สะท้อนให้เห็นการคำนึงถึงผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสังคมอย่างครบถ้วนรอบด้านยิ่งขึ้น
ขณะที่ในบางกิจกรรม ซึ่งอยู่นอกกระบวนการธุรกิจ หรือที่เข้าข่าย CSR-after-process องค์กรอาจต้องตั้งเป็นโครงการเฉพาะกิจ อาจต้องดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่น หรืออาจต้องมอบหมายให้หน่วยงานภายนอกดำเนินการให้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมในการดำเนินงาน การขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว องค์กรควรคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของพนักงาน และผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เริ่มดำเนินงาน เพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จในกิจกรรม
นอกจากนี้ องค์กรพึงตรวจสอบความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์กับกิจกรรม CSR ที่ดำเนินการอยู่ หรือที่กำลังจะดำเนินการ ว่ามีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ทรัพยากรในการดำเนินกิจกรรม CSR อย่างไม่คุ้มค่า และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมตรงตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้
ในทางปฏิบัติ องค์กรอาจมีการปรับปรุงวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์กรรวมถึงเป้าประสงค์และนโยบายการดำเนินงาน CSR ขององค์กร ตลอดจนกระทบสู่วัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ CSR ดังนั้นการปรับเปลี่ยนตัวชี้วัดการดำเนินงาน และการทบทวนกิจกรรม CSR จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องต้องกันและอย่างทันท่วงที
ประเด็นที่พบเห็นได้ส่วนใหญ่ ในกรณีที่องค์กรได้มีการปรับเปลี่ยนเป้าประสงค์ นโยบาย และวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ CSR ไประยะหนึ่งแล้ว แต่สายงานก็ยังคงดำเนินกิจกรรม CSR เดิม ตามวัตถุประสงค์เก่า ทำให้การขับเคลื่อน CSR ไม่ตอบโจทย์ขององค์กรตามที่ควรจะเป็น คำถามที่เกิดขึ้นตามมาสำหรับเจ้าของกิจการหรือผู้ประเมินก็คือ กิจกรรม CSR ที่ดำเนินการอยู่นี้ ใช่สิ่งที่องค์กรควรทำหรือไม่ หรือเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ หรือก่อให้เกิดคุณค่าจริงหรือไม่
เพียงเท่านี้ ท่านก็จะได้แนวการดำเนินกิจกรรม CSR ที่ตรงกับเจตนารมณ์ขององค์กร และสร้างคุณค่าให้แก่สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ
[Original Link]