Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สมอ. ร่วมกับ สถาบันไทยพัฒน์

สนับสนุนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคม

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำข้อตกลง (MoU) แนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000) กับ สถาบันไทยพัฒน์ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมจากเจตนาที่ดี (good intentions) ไปสู่การกระทำที่ดี (good actions) ในวันที่ 27 กันยายน 2554 ณ โรงแรม ดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ


นายชัยยง กฤตผลชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิก ISO ได้เล็งเห็นความสำคัญในการเผยแพร่แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมตามมาตรฐาน ISO 26000 ให้แก่ผู้ประกอบการ นักอุตสาหกรรม และองค์กรธุรกิจในการพัฒนากิจการให้เจริญเติบโตควบคู่กับการเป็นที่ยอมรับจากสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน Sustainable Development (SD) ภายใต้ภารกิจดังกล่าว สมอ. ได้ตั้งคณะกรรมการวิชาการคณะที่ 1004 มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ข้อคิดเห็นต่อ ISO/WG SR รวมทั้งกำหนดแนวทางและวิธีการในการส่งเสริม ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยประกอบด้วย 6 ภาคส่วนได้แก่ ภาครัฐหรือราชการ ภาคอุตสาหกรรม แรงงาน ผู้บริโภค หน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ (NGOs) และหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ หน่วยงานบริการ หน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยและอื่นๆ

ดังนั้นเพื่อให้การขับเคลื่อนความรับผิดชอบต่อสังคมในภาคส่วนต่างๆ มีจุดเริ่มจากเจตนาที่ถูกต้อง (right intentions) ไปสู่การกระทำที่ถูกต้อง (right actions) สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมาตรฐาน ISO 26000 อย่างแท้จริง สมอ. ได้ร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานส่งเสริมเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมมาอย่างต่อเนื่องและมีพื้นที่การดำเนินงานครอบคลุมทั่วประเทศ จัดทำโครงการแนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 สำหรับผู้ประกอบการ นักอุตสาหกรรม และองค์กรธุรกิจที่อยู่ในภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ให้ได้รับความรู้ความเข้าใจในมาตรฐาน ISO 26000 อย่างทั่วถึง และสามารถนำไปปฏิบัติใช้ในองค์กรได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรองรับการดำเนินธุรกิจที่จะต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามแนวทางที่สากลยอมรับและการเปิดตลาดเสรีในระดับภูมิภาคอาเซียนที่ซึ่งมาตรฐาน ISO 26000 ถูกระบุให้เป็นแนวในการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ-สังคมที่ยั่งยืนในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียน

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า สถาบันไทยพัฒน์ ตระหนักถึงความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องต่อมาตรฐาน ISO 26000 ที่มุ่งเน้นให้เกิดแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการปฏิบัติ (Practices) ตามข้อแนะนำ มิใช่ด้วยการการจัดทำและแสดงเอกสาร (Papers) ให้ได้ตามข้อกำหนด จึงได้ร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จัดทำโครงการแนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000 ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจต่อมาตรฐาน ISO 26000 สำหรับนำไปปฏิบัติใช้ในองค์กรได้อย่างถูกต้อง และเพื่อสร้างเครือข่ายแนวร่วมปฏิบัติระหว่างสถานประกอบการในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มีการประกอบการตามมาตรฐาน ISO 26000 รองรับการเปิดตลาดเสรีในระดับภูมิภาคอาเซียน และการค้าที่ให้ความสำคัญกับ SR ในระดับสากล สำหรับองค์กรธุรกิจหรือหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าได้จากสถาบันไทยพัฒน์ (www.thaipat.org) และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (www.tisi.go.th)


[Original Link]