Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

สถาบันไทยพัฒน์กับงานด้านบรรษัทบริบาล


สถาบันไทยพัฒน์ เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 ทำงานด้านการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ด้วยการวิจัย (Research) การฝึกอบรม (Training) และการให้คำปรึกษา (Consulting) ด้านบรรษัทบริบาลหรือความรับผิดชอบต่อสังคมให้แก่ภาคเอกชน ภายใต้บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน สถาบันไทยพัฒน์ ได้ให้คำปรึกษาเรื่อง “การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน” (Sustainability Report) แก่องค์กรธุรกิจและหน่วยงานที่มีความประสงค์ในการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณะ โดยให้ความสำคัญกับสารัตถภาพ (Materiality) ของการรายงาน รวมทั้งการเน้นสร้างคุณค่าของกระบวนการจัดทำรายงานให้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงาน CSR ขององค์กร

ในปี 2555 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ได้ร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนิน “โครงการแนวร่วมการประกอบกิจการตามมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000” เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ในมาตรฐาน ISO 26000 และการนำไปประยุกต์ใช้อย่างเป็นระบบในกลุ่มบริษัทซึ่งอยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย และในกลุ่มสถานประกอบการที่สนใจทั่วไป

และจากการที่สถาบันไทยพัฒน์ได้ทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกับภาคธุรกิจเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดความเสี่ยงและการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ รวมทั้งการฟื้นฟูบูรณะหลังการเกิดภัยพิบัติที่ภาคเอกชนจะเข้าไปมีส่วนร่วม จึงได้พัฒนา “ข่ายงานทรัพยากรภัยพิบัติ” สำหรับภาคเอกชน ในชื่อ Thai DRN เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลและทรัพยากรสนับสนุนการทำงานของภาคเอกชนด้วยแนวทาง "Build Back Better"

นอกจากนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ยังได้พัฒนาโครงการศึกษาและจัดทำ “แผนแม่บท CSR” (CSR Master Plan) ซึ่งเป็นเสมือนพิมพ์เขียวด้านบรรษัทบริบาลของหน่วยงาน เพื่อตอบสนองต่อภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในวิธีการดำเนินธุรกิจ ที่จำต้องมีองค์ประกอบของ CSR ภายในองค์กร และเพื่อให้ส่วนงานต่างๆ ขององค์กรได้มีกรอบในการดำเนินงานด้านบรรษัทบริบาลให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันอย่างมีกลยุทธ์ และให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนการสร้างการรับรู้ในกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณชนอย่างเป็นเอกภาพ

สำหรับองค์กรที่เพิ่งขับเคลื่อนงาน CSR และไม่แน่ใจว่าสิ่งที่องค์กรดำเนินอยู่นั้น เหมาะสม และให้ผลลัพธ์จริงหรือไม่ สถาบันไทยพัฒน์ ได้พัฒนาโครงการวิจัยและให้คำปรึกษา “การพัฒนา CSR เชิงกลยุทธ์” (Strategic CSR Development) ซึ่งช่วยให้องค์กรสามารถตอบคำถามหลักสองประการ ประการแรก คือ มีกิจกรรมใดบ้างที่องค์กรกำลังดำเนินอยู่แล้วนั้นเป็นกิจกรรม CSR และกิจกรรมที่ว่านั้นจัดเป็น CSR ประเภทใด ประการที่สอง คือ จะมีเครื่องมือหรือวิธีในการวัดผลการดำเนินกิจกรรม CSR ที่มีอยู่ได้อย่างไร และจะปรับปรุงให้เสริมกับธุรกิจได้อย่างไร