Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

ทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2555


ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในแวดวง CSR ในรอบปีที่ผ่านมา มีอยู่ 3 เหตุการณ์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำและเผยแพร่ Guidelines for Social Responsibility และ Guidelines for CSR Report ในรูปแบบ Multi-Stakeholder Forum ประกอบด้วยผู้มีส่วนได้เสียจากหลายภาคส่วน อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งผู้แทนจากภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำและเผยแพร่ชุดคู่มือ Guidelines for Social Responsibility และ Guidelines for CSR Report ให้แก่บริษัทจดทะเบียน องค์กรธุรกิจ และหน่วยงานที่สนใจ ไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้าน CSR ขององค์กร และเป็นแนวทางในการจัดทำรายงานการดำเนินงานด้าน CSR ขององค์กร ซึ่งคู่มือทั้งสองชุดมีกำหนดที่จะเผยแพร่ในปี 2555 นี้

ในเดือนกันยายน ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุม Regional Workshop on ASEAN Action Plan on CSR เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการความรับผิดชอบต่อสังคมโดยองค์กรภาคธุรกิจในอาเซียน ตามแผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ค.ศ. 2009-2015 (ASCC Blueprint) ซึ่งผลจากการประชุมจะผลักดันให้เกิดความริเริ่มใน 3 เรื่องสำคัญในแต่ละชาติสมาชิก 10 ประเทศ คือ การส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานสากลด้าน CSR (ISO 26000, UN Global Compact และ GRI) มาใช้ในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ การจัดตั้งและขยายเครือข่าย CSR ระดับชาติ (National CSR Networks) ให้ครอบคลุมในทุกประเทศสมาชิก และการผลักดันการดำเนินงาน CSR ให้เคลื่อนจาก Charity-based มาสู่ Rights-based นั่นก็หมายความว่า สิทธิและการคุ้มครองทางกฎหมายจะกลายเป็นประเด็นสำคัญต่อการดำเนินงาน CSR ของภาคธุรกิจในอาเซียนในอนาคต

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่สำคัญ ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนเสียหายให้แก่ทุกภาคส่วนในปีที่แล้ว คือ สถานการณ์อุทกภัยใน 65 จังหวัดทั่วประเทศ และทำให้ภาคธุรกิจได้ตระหนักว่า ผลกระทบไม่ได้จำกัดวงแค่ในประเทศไทย แต่กระทบกับธุรกรรมการค้าทั่วโลกที่อิงไทยเป็นฐานการผลิต ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดดิสก์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ฯลฯ กระเทือนถึงซัพพลายเชนทั่วโลก ผลพวงจากภัยพิบัติครั้งนี้ ได้ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำต้องปรับแผนงานและกิจกรรมด้าน CSR ที่เคยใช้อยู่ในสถานการณ์ปกติ ให้สามารถรองรับกับภาวะฉุกเฉินที่ไม่เป็นปกติ โดยในปี 2555 นี้ ประเด็นการฟื้นฟู การบริหารความเสี่ยง และการเตรียมความพร้อม จะเป็นวาระสำคัญในการดำเนินงานด้าน CSR ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกับองค์กรที่ต้องการบรรลุเป้าประสงค์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ในปีนี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้ทำการประเมินทิศทางความรับผิดชอบต่อสังคมและแนวโน้มด้านความยั่งยืน ภายใต้รายงานที่มีชื่อว่า “6 ทิศทาง CSR & Sustainability ปี 2555: Reinforcing your CSR” สำหรับใช้เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางกลยุทธ์ CSR และ Sustainability ขององค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากความเสี่ยง วิกฤต และภัยพิบัติในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2555 นี้


 
 (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ)
ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์
1 กุมภาพันธ์ 2555