CSR ที่แลกไม่ได้
เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์นับจากเหตุระเบิดและเพลิงไหม้จากสารโทลูอีนของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ ในเครือบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ (BST) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการรั่วไหลของก๊าซคลอรีนของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลส์ (ประเทศไทย) ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก
เหตุการณ์ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นอุบัติเหตุในโรงงานอุตสาหกรรมที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวถึง 12 คน และมีผู้บาดเจ็บถึง 137 คน
แม้สาเหตุการระเบิดจะยังไม่สามารถสรุปได้ แต่เชื่อว่าน่าจะมาจากความผิดพลาดหรือความบกพร่องในการสื่อสารระหว่างทีมงานของโรงงานกับทีมผู้รับเหมาในช่วงของการหยุดเดินเครื่องเพื่อซ่อมบำรุงและมีการฉีดสารโทลูอีนเพื่อล้างสำหรับการเตรียมความพร้อมการเดินเครื่องผลิตใหม่โดยกระบวนการดังกล่าว บริษัทได้ว่าจ้างผู้รับเหมาเข้ามาร่วมดำเนินการ
วิศวกรผู้ปฏิบัติอยู่หน้างานจะทราบกันดีว่าช่วงหยุดซ่อมบำรุงและเดินเครื่องใหม่ จะเป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่สุด ขณะที่แผนรองรับอุบัติสาธารณภัยทั่วไปจะครอบคลุมในช่วงของการเดินเครื่องผลิตปกติ ซึ่งเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ หากเกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติงาน
หากข้อสันนิษฐานเป็นจริง แสดงว่าเหตุการณ์ที่น่าสลดใจครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่โรงงานใช้ผู้รับเหมาที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือขาดความเข้มงวดในขั้นตอนการทำงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) จนทำให้เกิดความสูญเสียขึ้น แม้ไม่ได้เกิดจากความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ประจำบริษัทโดยตรง แต่ก็อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัทอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บทเรียนนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการที่บริษัทต้องให้ความสำคัญในมาตรการความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการผลิตของบริษัท ที่ไม่จำกัดอยู่เพียงพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัท แต่ยังต้องสามารถถ่ายทอดความเข้มข้นในมาตรการ CSR ดังกล่าว ไปยังคู่ค้าทางธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในกรณีนี้คือ ผู้รับเหมางานซ่อมบำรุงที่บริษัทจ้างวานให้เข้ามาดำเนินการร่วม
เพราะจากเหตุการณ์ดังกล่าว แม้โรงงานจะมีหลักประกันคุ้มครองความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของบริษัท แต่ก็เทียบไม่ได้กับความสูญเสียในชีวิตและผลกระทบกับชุมชนที่อยู่รายรอบ ยังไม่นับรวมความสูญเสียทางธุรกิจจากการถูกระงับการดำเนินงาน และเครดิตของบริษัทที่สั่งสมมาด้วยความอุตสาหะที่ต้องมานับหนึ่งใหม่ และก็ใช่ว่าจะกลับมาได้ดังเดิม
ตอกย้ำถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการ (CSR-in-process) ที่ไม่สามารถแลก (Trade-off) มาด้วยการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR-after-process) ด้วยการให้สิ่งโน่น นี่ นั่นกับชุมชน
ผลพวงจากเหตุการณ์นี้ จะนำไปสู่ความเคลื่อนไหวในหลายประเด็นทั้งจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคชุมชน ที่จะต้องติดตามว่าจะป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจังและยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร
กิจกรรมสำเร็จรูปที่จะได้เห็นจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ แก้ไข ติดตาม เตือนภัย ฯ ในพื้นที่ พร้อมกับการปรับปรุง ยกเครื่อง ยกร่าง ฯ กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และคงจะมีการตั้งกองทุน เยียวยา ฟื้นฟู ดูแล ฯ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในชุมชนรอบนิคมติดตามมา
ภาคประชาสังคมจะมีข้อเรียกร้องและมาตรการเชิงรุกที่เบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น บนพื้นฐานของปัญหาที่ฝังรากลึก ความไม่ไว้วางใจผู้ประกอบการที่สร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไม่มีสำนึก และการปลุกเร้ากระแส ‘ไม่เอาโรงงาน’ ที่มีอันตรายในพื้นที่
ขณะที่ภาคชุมชนหรือประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมักเป็นผู้ถูกกระทำหรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงงานอุตสาหกรรม จะยิ่งมีความหวาดระแวงต่อการดำเนินงานของเอกชนและต่อความจริงใจของหน่วยงานรัฐในการแก้ไขปัญหาและดูแลสวัสดิภาพของชาวบ้าน ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับมลพิษ วัตถุอันตราย หรือรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) รวมถึงการมีส่วนร่วมในแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในกรณีฉุกเฉินมากนัก
สิ่งที่เอกชนควรดำเนินการโดยไม่ต้องรอการเรียกร้องจากภาคีใดๆ ก็คือ การทบทวนบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดสายกระบวนการผลิต กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่ม ทั้งพนักงาน ผู้ปฏิบัติงาน ผู้ตรวจสอบ ผู้รับเหมา ที่ปรึกษาจากภายนอก ฯ ให้มีมาตรฐานการปฏิบัติงานที่คำนึงถึงความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในระดับปฏิบัติจริงๆ
การมีเพียงแผนปฏิบัติการโดยมิได้ลงมือทำหรือซักซ้อมกันอย่างจริงจัง พิสูจน์แล้วว่า ไม่ได้ช่วยป้องกันชีวิตและทรัพย์สินใดๆ ได้ แม้แต่น้อย
[Original Link]