Thaipat Institute

GRI Certified Training Partner นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2556

รู้จัก    CG   ¦   ESG   ¦   CSR   ¦   CSV   ¦   SD   ¦   SE   ¦   SB

หลัก 7 มี ดี 7 เรื่อง (จบ)


บทความตอนที่แล้ว ได้กล่าวถึงหลักการ (Principles) ในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 ที่มีอยู่ 7 ประการ หรือ “หลัก 7 มี” ซึ่งประกอบไปด้วย หลักความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้ หลักความโปร่งใส หลักการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม หลักการเคารพถึงผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย หลักการเคารพต่อหลักนิติธรรม หลักการเคารพต่อหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล และหลักการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน

สำหรับบทความตอนนี้ จะได้กล่าวถึงเรื่องหลัก (Core Subjects) ในมาตรฐาน ISO26000 ฉบับดังกล่าว ซึ่งก็มีอยู่ 7 ประการเช่นเดียวกัน หรือเรียกว่า “ดี 7 เรื่อง” ที่กิจการจะต้องเดินทางผ่านเส้นทางสถานีแห่งความรับผิดชอบต่อสังคมเหล่านี้ ก่อนที่จะมุ่งสู่สถานีปลายทางแห่งความยั่งยืนในที่สุด

เรื่องหลักหรือหัวข้อหลัก 7 ประการ ที่ถูกกล่าวถึงในมาตรฐานแนวทางความรับผิดชอบต่อสังคม ISO26000 ประกอบด้วย

1) การกำกับดูแลองค์กร (Organizational Governance) เป็นระบบที่องค์กรใช้วินิจฉัยและดำเนินการตามข้อวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายขององค์กร ซึ่งประกอบด้วยกลไกการกำกับดูแลทั้งที่เป็นทางการ (มีการกำหนดโครงสร้างและกระบวนการชัดเจน) และไม่เป็นทางการ (เกิดขึ้นโดยเกี่ยวโยงกับค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรซึ่งมักได้รับอิทธิพลจากผู้นำองค์กร)

การกำกับดูแลองค์กรในบริบทของความรับผิดชอบต่อสังคมมีลักษณะพิเศษที่เป็นทั้งเรื่องหลัก (Core Subject) ซึ่งองค์กรควรดำเนินการ และเป็นวิธีที่ใช้เพิ่มขีดความสามารถองค์กรในการดำรงพฤติกรรมอย่างรับผิดชอบต่อสังคมที่มีต่อเรื่องหลักด้านอื่นๆ เนื่องจากการมุ่งเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม กิจการควรมีระบบที่เปิดทางให้องค์กรสามารถใช้ควบคุมดูแลและนำ “หลัก 7 มี” ข้างต้นไปปฏิบัติได้จริง

2) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สามารถจำแนกเป็นสองหมวดใหญ่ คือ หมวดสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งหมายรวมถึง สิทธิในชีวิตและเสรีภาพ ความเสมอภาคในกฏหมาย เสรีภาพในการแสดงออก และหมวดสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งหมายรวมถึง สิทธิในการทำงาน สิทธิที่พึงได้รับอาหาร สิทธิในสุขภาพตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้ สิทธิในการศึกษา และสิทธิด้านสวัสดิการสังคม ซึ่งสิทธิมนุษยชนทั้งสองหมวดนี้ กิจการพึงให้การเคารพภายใต้เขตอิทธิพล (Sphere of Influence) ขององค์กร

3) การปฏิบัติด้านแรงงาน (Labour Practices) เป็นเรื่องของนโยบายและการดำเนินงานทั้งหมดที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานทั้งภายในองค์กร โดยองค์กร หรือในนามขององค์กร ซึ่งรวมถึงงานรับเหมาช่วง โดยส่วนสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสังคมของกิจการ ก็คือ การสร้างงาน การจ่ายค่าจ้าง และการให้ผลตอบแทนอื่นๆ จากการทำงาน ทั้งนี้ การสร้างงานที่มีคุณค่าและได้มูลค่า ถือเป็นส่วนประกอบที่จำเป็นในการพัฒนามนุษย์ ขณะที่มาตรฐานการครองชีพจะถูกยกระดับได้ด้วยการจ้างงานแบบเต็มเวลาและมีหลักประกัน

4) สิ่งแวดล้อม (The Environment) เป็นการคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการตัดสินใจและการดำเนินงานขององค์กรทั้งในแง่ของการใช้ทรัพยากร ถิ่นที่ตั้งของสถานประกอบการ มลภาวะและของเสีย รวมถึงผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กรต่อแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของพืชและสิ่งมีชีวิตต่างๆ

5) การปฏิบัติดำเนินงานอย่างเป็นธรรม (Fair Operating Practices) เป็นการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมขององค์กรที่มีต่อองค์กรอื่น ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หุ้นส่วนทางธุรกิจ คู่ค้า ผู้ส่งมอบ ผู้รับเหมา ลูกค้า คู่แข่งขัน และบรรดาสมาคมที่ตนสังกัดอยู่ เพื่อส่งเสริมให้เกิดผลในทางที่ดีหรือในทางบวก โดยใช้ภาวะผู้นำผลักดันให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมให้แผ่กว้างไปทั่วทั้งเขตอิทธิพลขององค์กร

6) ประเด็นด้านผู้บริโภค (Consumer Issues) เป็นความรับผิดชอบในตัวผลิตภัณฑ์และบริการที่มีต่อผู้บริโภค (Consumers) รวมทั้งลูกค้า (Customers) ที่องค์กรผลิตจำหน่ายและให้บริการ สำหรับการปฏิบัติต่อลูกค้าที่ซื้อเพื่อการพาณิชย์จะใช้แนวปฏิบัติในข้อ 5) เป็นหลัก ส่วนการปฏิบัติต่อผู้บริโภคที่ซื้อเพื่อการบริโภคจะใช้แนวปฏิบัติในข้อนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติบางส่วนในทั้งสองข้อนี้ สามารถใช้ได้กับทั้งผู้บริโภคหรือลูกค้าด้วย

7) การมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน (Community involvement and development) เป็นเรื่องที่ถูกผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน และอยู่นอกเหนือการระบุและสานสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร แต่การมีส่วนร่วมกับชุมชนในที่นี้ เนื่องเพราะองค์กรถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียหนึ่งในชุมชน และมีผลประโยชน์ร่วมกับชุมชน ทั้งนี้ การพัฒนาชุมชนในข้อนี้ มิได้จำกัดในแง่ของการบริจาคเพื่อการกุศล (Philanthropy) เท่านั้น เพราะลำพังกิจกรรมการบริจาคมิได้นำไปสู่จุดหมายแห่งการบูรณาการความรับผิดชอบต่อสังคมในองค์กร

ย้ำว่าเรื่องหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ “ดี 7 เรื่อง” เป็นสถานีระหว่างทางที่กิจการซึ่งมุ่งเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมจะต้องเดินทางผ่านในทุกสถานี ไม่มีเส้นทางลัดสำหรับการเข้าสู่สถานีปลายทางแห่งความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่เก่งกาจ มีทรัพยากรหนา หรือมีเส้นสายใหญ่เพียงใดก็ตาม


[Original Link]